ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์เศร้าสลดเมื่อวันจันทร์ที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา จากกรณีที่มีชายคนหนึ่งเสียชีวิตจากโรคประจำตัวโดยมีลูกสาวนั่งเฝ้าศพของพ่อในรถโดยบอกว่าพ่อนอนพักผ่อนซึ่งเด็กทั้งสองไม่ทราบว่าพ่อได้เสียชีวิตไปแล้วนั้น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) ได้ถอดบทเรียนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางและวิธีปฏิบัติให้กับหลายครอบครัวหากต้องเจอเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว
นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความเศร้าสลดให้กับประชาชนที่ได้รับฟังข่าวสารเป็นจำนวนมาก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสียด้วย สำหรับประชาชนทั่วไปจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้วิธีในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการเอาตัวรอดหากเราหรือคนในครอบครัวต้องประสบกับอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ในเบื้องต้นนั้นเราต้องสำรวจตัวของเราเองและหมั่นพบแพทย์อยู่เสมอหากพบความผิดปรกติของร่างกาย และเมื่อพบว่าตนเองมีโรคประจำตัวและต้องทานยาอย่างสม่ำเสมอควรแจ้งสมาชิกในบ้านให้ทราบ และควรบอกเล่ารายละเอียดถึงตัวยาที่เราจะต้องใช้ในการรักษาโรคประจำตัวให้สมาชิกในบ้านได้รับทราบอย่างชัดเจนพร้อมทั้งวางยาให้อยู่ในตำแหน่งที่หยิบใช้ได้ง่าย และสมาชิกในบ้านทราบถึงตำแหน่งของการเก็บยาดังกล่าวด้วย นอกจากนี้สิ่งที่จำเป็นที่สุดหากบ้านไหนมีลูกที่เป็นเด็กเล็กควรสอนลูกให้จดจำหมายเลขสายด่วนในการช่วยชีวิตโดยเฉพาะหมายเลขสายด่วน 1669 อาจจะสอดแทรกกับเด็กระหว่างเล่านิทานให้เด็กฟัง หรือสอดแทรกระหว่างทำกิจกรรมในครอบครัว โดยต้องบอกเด็กให้ชัดเจนว่าหากมีคนในบ้านเจ็บป่วยฉุกเฉินควรโทรสายด่วน 1669 ในทันที
นพ.ภูมินทร์ ได้ยกถึงกรณีการสอนเด็กเล็กให้จดจำหมายเลขสายด่วนในการช่วยชีวิตว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ปกครองของเด็กจะสอนให้เด็กจดจำหมายเลข 911 ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ โดยสอนวิธีการกดโทรศัพท์ และการปลดล็อคโทรศัพท์เพื่อโทรหาสายด่วนในการช่วยชีวิต โดยได้มีกรณีเด็กผู้หญิง 3 ขวบที่สามารถช่วยชีวิตพ่อได้จากการโดนมีดฟันแขนและตัดเส้นเลือดใหญ่ ดังนั้นครอบครัวในประเทศไทยเองควรจะนำวิธีนี้มาปรับใช้ เพื่อลดความสูญเสียจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตามหากทราบว่ามีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงก็ควรต้องยิ่งระมัดระวัง เมื่อเห็นอาการผิดปกติ เช่น แขนขาชา ปากเบี้ยวฉับพลัน หายใจติดขัด ควรรีบบอกคนใกล้ชิดโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ทันที นอกจากนี้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ยังมีโครงการอาสาฉุกเฉินชุมชน ที่จะสอนเด็กในโรงเรียน ให้รู้หลักการจดจำสายด่วน 1669 ขั้นตอนการแจ้งเหตุ และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อเป็นการกระตุ้นและลดอัตราเสี่ยงในการเสียชีวิตจากเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินได้อีกด้วย