Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

เดอะการ์เดียนสัมภาษณ์ 'สโนว์เดน'ล่าสุด: ว่าด้วยข้ออ้างเรื่อง 'ความมั่นคง'

$
0
0

ผ่านมาหนึ่งปีกว่าหลังจากที่มีการเปิดโปงโครงการสอดแนมครั้งใหญ่ "เดอะ การ์เดียน"ได้สัมภาษณ์เจาะลึกกับสโนว์เดนอีกครั้งซึ่งมีทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องอื่นๆ ในที่นี้ขอคัดเฉพาะส่วนที่เป็นข้อมูล แง่มุม และแนวคิด โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องความมั่นคงจากชายที่มองว่าโลกเราตอนนี้มันแย่ยิ่งกว่านิยาย 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์เสียอีก

เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ผู้เปิดโปงโครงการสอดแนม "NSA" (แฟ้มภาพ/วิกิพีเดีย)

19 ก.ค. 2557 - หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียนของอังกฤษเปิดเผยบทสัมภาษณ์รอบล่าสุดของ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตคนทำงานด้านข่าวกรองของสหรัฐอเมริกา ซึ่งหันมาเริ่มเปิดโปงโครงการสอดแนมของหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว

เนื้อหาส่วนใหญ่ในบทสัมภาษณ์ล่าสุดจะระบุถึงสภาพความเป็นอยู่ของสโนว์เดนซึ่งหลบหนีการตามตัวสหรัฐฯ อยู่ในประเทศรัสเซีย ซึ่งดูเหมือนเดอะ การ์เดียนจะพยายามเกทับคำทำนายของอดีตหัวหน้าองค์กรด้านความมั่นคงและข่าวกรองของสหรัฐฯ คือ ไมเคิล เฮย์เดน ที่เคยทำนายไว้ว่าสโนว์เดนจะกลายเป็นคนซืมเศร้า โดดเดี่ยวและติดเหล้า แต่สภาพของสโนว์เดนในรัสเซียล่าสุดก็ยังดูปกติดีและมีลักษณะเปิดเผยตัวเองมากขึ้น

อย่างไรก็ตามสโนว์เดนเคยกล่าวไว้ในการสัมภาษณ์เมื่อปีที่แล้วว่าตัวเขาไม่อยากให้เน้นรายงานข่าวถึงเรื่องส่วนตัวหรือเชิดชูเขาเป็นวีรบุรุษมากนัก ในการเรียบเรียงชุดนี้จึงขอเน้นนำเสนอสิ่งที่เป็นข้อมูล แนวคิดและแง่มุมอื่นๆ จากตัวเขา

มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ทางการสหรัฐฯ พยายามตามตัวสโนว์เดนอย่างหนัก จนถึงขั้นต้องบังคับให้เครื่องบินโดยสารของประธานาธิบดีอีโว โมราเลส ของโบลีเวียที่กำลังเดินทางกลับประเทศจากกรุงมอสโควลงจอดที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เพื่อค้นหาสโนว์เดน สโนว์เดนให้สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นถึงเหตุการณ์นี้ว่า มันทำให้เขารู้สึกถึงความย่ำแย่ในด้านการข่าวกรองที่มาจากการพยายามดักฟังทุกสิ่งทุกอย่าง ในขณะเดียวกันก็รู้สึกแย่ที่โมราเลสถูกละเมิดสิทธิ์ในการนี้

นอกจากนี้ยังมีข่าวลือเรื่องว่าที่สโนว์เดนเป็นสายสืบที่ทำงานให้กับทางการรัสเซีย แต่เขาก็ปฏิเสธเรื่องนี้มาตลอดและปฏิเสธจะแสดงความคิดเห็นเชิงการเมืองเพราะกลัวว่าจะเป็นการ 'ผลัก'ผู้คนบางส่วนออกไป เขาบอกว่าไม่เคยส่งเอกสารทางการสหรัฐฯ ให้กับรัสเซีย และการที่เขาได้อยู่ในรัสเซียเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยที่เขาควบคุมไม่ได้ นอกจากนี้เขายังเคยวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการลิดรอนเสรีภาพสื่อของทางการรัสเซียด้วย

ในบทสัมภาษณ์ล่าสุดเปิดเผยว่าเขาเองต้องระมัดระวังตัวอยู่พอสมควรกับการใช้ชีวิตในรัสเซียเนื่องจากน่าจะถูกสอดแนมจากทั้งฝ่ายสหรัฐฯ และรัสเซีย รวมถึงเสี่ยงต่อการถูกคุกคามได้ ขณะเดียวกันดูเหมือนว่าตอนนี้สโนว์เดนกำลังพยายามก่อตั้งมูลนิธิเพื่อส่งเสริมเสรีภาพสื่อและสร้างเครื่องมือให้นักข่าวสามารถสื่อสารได้อย่างปลอดภัย

"ถ้าหากรัฐบาลสหรัฐฯ มีหลักฐานใดๆ ก็ตามที่บ่งบอกว่าผมเป็นสายลับของรัสเซียหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลรัสเซียแม้แต่เพียงนิดเดียวก็ตาม หลักฐานนั้นจะปรากฎบนหน้าแรกของหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทม์ภายในไม่เกินเวลามื้อเที่ยง"สโนว์เดนกล่าว

ในข้อหาที่ว่า การเปิดโปงของเขาสร้างความเสียหายต่ออำนาจข่าวสารของชาติตะวันตกนั้น สโนว์เดนบอกว่าการเปิดโปงเรื่องที่มีคนสอดแนมการสื่อสารก็ไม่ทำให้คนหยุดสื่อสารกันได้ในเชิงดิจิตอลเพราะพวกเขามีทางเลือกเดียวคือยอมรับความเสี่ยงหรือไม่ก็ไม่สามารถสื่อสารได้เลย และในอีกแง่หนึ่งถ้าพวกผู้ก่อการร้ายทราบเรื่องนี้พวกเขาก็ไม่ใช้การสื่อสารในช่องทางแบบสมัยใหม่ พวกเขาไม่ได้สูญเสียในเรื่องนี้ และดูเหมือนว่าหลังจากมีการเปิดโปงแล้วก็ยังมีข้อความของกลุ่มก่อการร้ายถูกดักเอาไว้ได้ ปฏิบัติการด้านข่าวกรองยังคงสามารถดำเนินต่อไปจนประสบความสำเร็จ

 

เรื่องของ 'ความมั่นคง'และ 'ความเป็นส่วนตัว'

สโนว์เดนคิดว่าข้อมูลส่วนตัวของทุกคนมีความสำคัญและไม่ชอบที่สื่อหรือนักการเมืองเรียกข้อมูลที่ถูกเก็บทีละจำนวนมากของหน่วยงานความมั่นคงว่าเป็น "กองฟาง"

"เป็นไปได้ว่าพวกเราอาจค้นเจอแผนการของผู้ก่อการร้ายหรือค้นเจออาชญากรรมจากการเฝ้ามองทุกที่ๆ พวกเราไป เฝ้ามองทุกสิ่งที่เราทำ วิเคราะห์ทุกคำที่เราพูด เฝ้าคอยตัดสินพวกเราจากคนที่เราเลือกคบหาสมาคมและจากคนที่เรารัก แต่ว่าเราอยากจะอยู่ในสังคมแบบนี้หรือ นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า 'รัฐความมั่นคง'"สโนว์เดนกล่าว

ในแง่ที่มีคนเปรียบเทียบรัฐที่มีการสอดส่องเพื่อควบคุมประชาชนอย่างมากกับนิยายเรื่อง 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ สโนว์เดนกล่าวว่าโลกปัจจุบันอยู่ในสภาพที่แย่กว่านั้น เนื่องจากความสามารถในการติดตามเทคโนโลยี "เวลาบอกเราว่าโลกนี้มีความไม่อาจคาดเดาและอันตรายมากกว่าที่ออร์เวลล์จินตนาการไว้"สโนว์เดนกล่าว

ในบทสัมภาษณ์ล่าสุดสโนว์เดนยังได้เปิดเผยเรื่องรายภายในสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ หรือเอนเอสเอ โดยบอกว่าเอนเอสเอจ้างคนหนุ่มสาวอายุ 18-22 ปี ให้เฝ้าดูข้อมูลจำนวนมากที่ถูกดักไว้ได้ ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคงเลย เช่นเป็นรูปนู้ดของคนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน คนหนุ่มสาวที่ทำงานในนั้นก็เรียกให้กันดูและพากันส่งภาพต่อๆ กันไป

"เรื่องที่ว่าภาพบันทึกของช่วงเวลามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดของพวกคุณถูกนำมาจากช่องทางการสื่อสารหรือจากผู้รับของคุณแล้วถูกนำไปให้กับรัฐบาลโดยไม่มีคำสั่งหรือไม่มีความเจาะจงพิเศษใดๆ ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ของคุณแล้ว"สโนว์เดนกล่าว

"คุณมีทหารหนุ่มสาวจำนวนมากถูกเกณฑ์เข้าไปทำงานในเอนเอสเอ ซึ่งพวกเขาอาจจะยังไม่มีประสบการณ์ชีวืตมากพอจะรู้สึกถึงเรื่องการละเมิดสิทธิ์ และถ้าหากพวกเราไม่ได้รู้เรื่องอันตรายว่าเสรีภาพของพวกเราถูกละเมิดได้ พวกเราจะเชื่อใจคนเหล่านี้ในการดูแลผลประโยชน์ของพวกเราได้อย่างไร"สโนว์เดนกล่าว

นอกจากนี้สโนว์เดนยังได้วิพากษ์วิจารณ์คนระดับสูงในหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ และอังกฤษซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกนักการเมืองอาวุโสหรือตุลาการเกษียณอายุซึ่งสโนว์เดนไม่ไว้ใจว่าคนพวกนี้จะเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีมากพอที่จะสามารถบริหารจัดการในเรื่องแบบนี้ได้

แต่สโนว์เดนก็กล่าวย้ำว่าเพื่อนร่วมงานของเขาไม่เชิงเป็น "ตัวร้าย"แต่เป็นคนที่เหมือนพวกเราๆ ทั่วไป พวกเขาเคยเห็นชะตากรรมของคนที่เปิดโปงเรื่องราวของทางการแล้วถูกทำให้เป็นตัวร้าย ถูก "เชือดไก่ให้ลิงดู"พวกเขาจึงกลัวที่จะเปิดโปงเรื่องพวกนี้

ในเรื่องการทำงานของเอนเอสเอ สโนว์เดนเปิดเผยอีกว่าพวกเขาเน้นที่ 'เมตาดาต้า'หรือนิยามข้อมูลซึ่งเป็นรายละเอียดข้อมูลที่ระบุว่าเราส่งข้อความสื่อสารจากที่ใด กับใคร เมื่อใด โดยไม่ขอหมายค้นหรือคำสั่งศาล นักวิเคราะห์ข้อมูลในเอนเอสเอใช้เวลา 9 ใน 10 ไปกับนิยามข้อมูลโดยไม่สนใจว่ามีการพูดอะไรกันจนกว่าจะสืบสวนไปถึงช่วงท้ายๆ เพราะเชื่อว่าคำพูดสื่อสารอาจเป็นการโกหกได้

สโนว์เดนยอมรับว่าอาจสอดแนมอาจจะเป็นประโยชน์ได้สำหรับหน่วยงานตำรวจหรือหน่วยงานข่าวกรองในการสืบสวนเหตุการณ์อาชญากรรมหรือการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นไปแล้ว แต่ก็บอกว่ามันยังเป็นสิ่งที่อยู่ในขั้น "การสันนิษฐาน"ว่าจะมีความสามารถใช้ได้จริงมากแค่ไหน และในตอนนี้ประเทศสหรัฐฯ ก็ไม่ได้อยู่ในภาวะสงครามการก่อการร้ายจึงควรถือเป็นปัญหาเชิงอาชญากรรม และการจะขีดเส้นแบ่งความสมดุลระหว่างสิทธิความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงนั้นควรจะมาจากการถกเถียงหารืออย่างเป็นประชาธิปไตย

ในเรื่องข้ออ้างด้านความมั่นคง สโนว์เดนได้ยกตัวอย่างองค์กรตำรวจลับของเยอรมนีตะวันออก หรือ "สตาซี" (Stasi) ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อราว 60 ปีที่แล้วและถูกยุบไปในปี 2533 องค์กรนี้ได้เกณฑ์ผู้คนที่คิดว่าจะสามารถคุ้มครองเสถียรภาพของระบอบการเมืองที่พวกเขาคิดว่ากำลังมีภัย ผู้ที่ถูกเกณฑ์เป็นประชาชนธรรมดาเหมือนคนอื่นๆ พวกเขาเชื่อว่าตัวเองกำลังทำสิ่งที่ถูก แต่พวกเขาก็ใช้อำนาจในทางที่ผิด มีการใช้วิธีการคุกคามและทรมานเหยื่อ หลังจากเยอรมนีรวมประเทศแล้วเจ้าหน้าที่หลายคนของสตาซีก็ถูกดำเนินคดีตามอาชญากรรมที่พวกเขาก่อไว้

 

"เทคโนโลยีจะมีหนทางสำหรับเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว"

สโนว์เดนบอกอีกว่าไม่เพียงนักข่าวเท่านั้นที่ทำงานยากขึ้นในยุคสมัยที่ต้องระวังการถูกสอดแนม ทนายความ, แพทย์, พนักงานสืบสวน, คนทำบัญชี รวมถึงใครก็ตามที่ต้องคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของลูกค้าล้วนต้องเผชิญกับความท้าทายของยุคสมัยนี้ทั้งสิ้น

แต่เมื่อเจอคำถามว่าจริงๆ แล้วเทคโนโลยีไปกันได้กับเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวหรือไม่ สโนว์เดนเชื่อมั่นว่าในที่สุดแล้วเทคโนโลยีเองจะมีหนทางสำหรับเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว เขาคิดว่าการพยายามสอดส่องพื้นที่ส่วนตัวของผู้คนในโลกดิจิตอลก็ไม่ต่างอะไรไปจากการบุกเข้าไปตั้งกล้องวีดิโอในบ้านหรือนำเอาไดอารี่ส่วนตัวของผู้คนออกมาดู

ส่วนตัวสโนว์เดนเองเลือกที่จะไม่ใช้เว็บกูเกิ้ลหรือสไกป์ในการสื่อสารส่วนบุคคล และหลีกเลี่ยงการฝากไฟล์ไว้ในโปรแกรมดรอปบ็อกซ์ แต่แนะนำให้ใช้สไปเดอร์โอ็ค (spideroak.com) ที่โฆษณาตัวเองว่าเป็นเว็บฝากไฟล์ที่มีระบบความปลอดภัยด้านความเป็นส่วนตัวสูงมาก

นักข่าวและบรรณาธิการเดอะ การ์เดียน ที่ไปร่วมสัมภาษณ์สโนว์เดนให้ของที่ระลึกเป็นฮาร์ดไดร์ฟที่ถูกทำลายโดยคำสั่งของทางการในช่วงที่เคยมีปัญหากับสำนักงานข่าวกรองของอังกฤษ ซึ่งในฮาร์ดไดร์ฟนั้นมีข้อมูลเอกสารของสโนว์เดนอยู่ สโนว์เดนนำมันมาดูพร้อมพูดแบบทีเล่นทีจริงอย่างคนเคยทำงานสอดแนมว่า

"มันอาจจะมีเครื่องสะกดรอยตามติดอยู่ด้วยก็ได้"

 

เรียบเรียงจาก I, spy: Edward Snowden in exile, The Guardian, 19-07-2014

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Stasi

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles