รายงานจากองค์กรเฝ้าระวังกรณีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDMC) เผยมีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเพิ่มเป็น 28.8 ล้านคนในปี 2012 โดยมาจากเหตุสงครามกลางเมืองในซีเรียและการโจมตีของกลุ่มกบฏในคองโก ชี้การแก้วิกฤติความขัดแย้งภายในประเทศเป็นทางออกหลัก
เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2013 องค์กรเฝ้าระวังกรณีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDMC) นำเสนอรายงานเรื่องจำนวนผู้พลัดถิ่นภายในประเทศช่วงปี 2012 โดยระบุว่าสงครามในซีเรียและในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ทำให้มัตัวเลขผู้พลัดถิ่นภายในประเทศจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มติดอาวุธ, ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้นเป็น 28.8 ล้านคนเมื่อปีที่ผ่านมา
รายงานประจำปีเปิดเผยว่าในปี 2012 มีจำนวนคนพลัดถิ่นภายในประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่า 6.5 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าปี 2011 เป็นสองเท่า จากที่ประชาชนเหล่านี้ไม่ได้ข้ามพรมแดนทำให้พวกเขาไม่ถูกจัดเป็นผู้ลี้ภัย (refugees) และไม่ได้รับประโยชน์จากการคุ้มครองของนานาชาติ
สถานการณ์ในซีเรียอยู่ในขั้นวิกฤติเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีผู้พลัดถิ่นเพิ่มขึ้นมากและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก จำนวนของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศของซีเรียตอนนี้รวมแล้วมีอยู่มากกว่า 3 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านคน ในช่วงปีที่ผ่านมา
แคลร์ สเปอร์เรล โฆษกของ IDMC กล่าวว่าวิกฤติในซีเรียดำเนินมาถึงปีที่ 3 แล้ว และสถานการณ์ก็ยกระดับเกินกว่าจุดวิกฤติมาแล้ว สเปอร์เรลกล่าวอีกว่า "ผู้ให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมไม่สามารถช่วยเหลือซีเรียได้ ต้องเป็นนักการเมืองที่จะช่วยเหลือซีเรีย ...สิ่งที่คุณเห็นคือผู้คนที่กำลังอ่อนเปลี้ยเพลียแรงอย่างที่สุด ผู้พลัดถิ่นภายในจำต้องพึ่งพาคนอื่น แต่ตัวชุมชนที่ให้ความช่วยเหลือเองก็ขาดแคลนอาหารและเริ่มเกิดโรคระบาด"
อันโตนิโอ กูเตอเรส ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่าเหตุการณ์สงครามกลางเมืองในซีเรียเป็นวิกฤติด้านมนุษยธรรมครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีความโหดเหี้ยมและการทำลายล้างมากกว่าความขัดแย้งในอิรักและอัฟกานิสถาน
IDMC กล่าวว่า จำนวนผู้พลัดถิ่นภายในประเทศซีเรียจะมีเพิม่มากขึ้นตราบใดที่ความขัดแย้งยังไม่คลี่คลาย โโยชี้ว่าปรากฏการเช่นนี้เคยเกิดขึ้นในประเทศที่ความขัดแย้งกินเวลายาวนาน
รายงานของ IDMC ระบุอีกว่า ประเทศโคลัมเบียเป็นประเทศที่มีผู้พลัดถิ่นภายในมากที่สุดในโลก รองลงมาคือซีเรียและคองโก ส่วนภูมิภาคที่มีจำนวนผู้พลัดถิ่นภายในมากที่สุดคือภูมิภาคแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา ซึ่งมีจำนวนตัวเลขผู้พลัดถิ่นภาย 10.4 ล้านคนในปี 2012 ซึ่งมากถึงหนึ่งในสามของจำนวนผู้พลัดถิ่นภายในทั้งหมด
ในคองโกมีประชาชนราย 1 ล้านคนต้องหนีจากที่อยู่อาศัยจากการจู่โจมของกลุ่มกบฏ M23 ในเดือน พ.ย. 2012 มีประชาชนราว 140,000 คน หนีไปที่เมืองโกมาทางตอนเหนือของประเทศภายในหนึ่งสัปดาห์ หลังจากที่กองกำลัง M23 บุกเข้าไปในเมือง นอกจากนี้เหตุการณ์ความขัดแย้งในมาลี และเหตุรุนแรงจากกลุ่ม โบโก ฮารามในไนจีเรียก็ทำให้เกิดการพลัดถิ่นจำนวนมากเช่นกัน
"ร้อยละ 90 ของประเทศที่มีการตรวจสอบโดย IDMC พบว่ามีคนที่กลายเป็นคนพลัดถิ่นภายในเป็นเวลานาน ซึ่งบางครั้งก็นานหลายสิบปี ขณะเดียวกันก็มีคนรุ่นที่สองรุ่นที่สามซึ่งพลัดถิ่นแต่กำเนิด"เคท ฮัลฟ์ ประธาน IDMC กล่าว
ฮัลฟ์กล่าวอีกว่า รัฐบาลในประเทศต่างๆ มีส่วนรับผิดชอบในการหาทางออกในระยะยาวให้กับประชาชนพลัดถิ่น แต่พวกเขาต้องตระหนักเสียก่อนว่า ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศไม่เพียงแค่ต้องการการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแค่ในช่วงวิกฤติ แต่ต้องมีการอนุมัติช่วยเหลือจนกว่าจะหาทางออกได้
กลุ่มประเทศแอฟริกาได้ริเริ่มพูดถึงปัญหาคนพลัดถิ่นภายในประเทศจากการร่างสนธิสัญญา Kampala convention และมีการบังคับใช้แล้วเมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยสนธิสัญญาดังกล่าวมีการวางพันธกิจในกลุ่มรัฐบาลของทวีปแอฟริกันเพื่อปกป้องและช่วยเหลือกลุ่มคนพลัดถิ่นภายใน โดยมีประเทศสมาชิกสหภาพแอฟริกา 37 ประเทศจาก 53 ประเทศ ลงนามในสัญญา
สนธิสัญญา Kampala convention ระบุว่ารัฐบาลต้องเป็นผู้รวบรวมข้อมูลและระบุตัวตนของผู้พลัดถิ่นเพื่อให้ทราบว่าพวกเขามาจากไหน และต้องการอะไร รัฐบาลต้องเป็นผู้ออกเอกสารแสดงตัวตน ช่วยเหลือให้พวกเขากลับไปพบครอบครัว และให้คำปรึกษาเรื่องความต้องการของผู้พลัดถิ่นภายใน
เรียบเรียงจาก
Wars push number of internally displaced people to record levels, The Guardian, 29-04-2013