พระชาย วรธัมโม ผู้เขียนหนังสือ "แกะ*เปลือก*เพศ*พุทธ:
รวมบทความว่าด้วยศาสนากับเพศและความเป็นเพศอื่นๆ" (ที่มา: ประชาไท)
ตามที่ คณะกรรมาธิการการกฏหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษร ได้จัดรับฟังความคิดเห็นต่อ "ร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิตของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ"หรือ พ.ร.บ.จดทะเบียนชีวิตคู่ เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมา นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ประชาไท มีโอกาสสัมภาษณ์พระชาย วรธัมโม ผู้เขียนหนังสือ "แกะ*เปลือก*เพศ*พุทธ: รวมบทความว่าด้วยศาสนากับเพศและความเป็นเพศอื่นๆ"นอกจากนี้พระชายยังเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ เป็นระยะ เพื่ออธิบายเรื่องเพศวิถีผ่านมุมมองทางพุทธศาสนา
โดยในการสัมภาษณ์พระชายได้ให้ความเห็นต่อเรื่องความรักของผู้มีความหลากหลายทางเพศจากมุมมองทางพุทธศาสนาว่า "ความรักเป็นเรื่องของพัฒนาการ อย่างคนที่ไม่เคยมีความรักอาจจะไม่รู้ว่าความรักคืออะไร ทีนี้พอมีความรักก็อาจมีความเมตตา ความกรุณามากขึ้น มีความเห็นแก่ตัวน้อยลง รู้จักการให้มากขึ้น หมายความว่า ความรักทำให้คนๆ นั้นมีพัฒนาการภายใน"
แต่ความรักเองอาจมีเรื่องของความหึงหวง มีโมโหโทโสต่อกัน มีการทะเลาะกัน แต่พุทธก็มองว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ของคนที่มีความรักว่าจะปรับจิตปรับใจตัวเองข้างในให้สมดุลได้อย่างไร เพราะไม่มีคู่ไหนที่รักกันแล้วจะไม่มีโกรธกันหรือทะเลาะกันก็มีทุกคู่ ไม่ว่าคู่นั้นจะเป็นรักต่างเพศชายหญิง หรือรักเพศเดียวกัน ก็มีหมด เพียงแต่ว่าแต่ละคู่จะปรับตัวเองอย่างไร ซึ่งในที่สุดการปรับตัวเองก็คือการปฏิบัติธรรม ทีนี้เวลารักกันแล้วก็มีการพลัดพรากในที่สุด ถ้าเราไม่ตายก่อน เขาก็ตายก่อน
ก็เป็นการเรียนรู้ความรักในบั้นปลาย ว่าในที่สุดแล้วคนเราก็ต้องตายจากกันอยู่ดี ไม่ว่าจะรักกันมากแค่ไหน คือไม่มีคู่ไหนที่ในที่สุดจะอยู่กันอย่างนิรันดร ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องพลัดพรากกัน ต้องตายจากกัน ซึ่งถึงขั้นนั้น อาจทำให้คนได้เรียนรู้มากขึ้นถึงความว่างเปล่า อาจทำให้คนได้เข้าสู่นิพพานก็ได้ หรือเรียนรู้ธรรมมะขั้นสูงขึ้นไป คือการพลัดพราก ในที่สุดคนก็ต้องแยกจากกัน แล้วก็ต้องทำจิตทำใจปล่อยวางไปสู่นิพพาน ในที่สุดความรักก็เป็นพัฒนาการอย่างนี้
000
ต่อกรณีที่มีการผลักดัน พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิตของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เข้าสู่สภานั้น พระชายเห็นว่าเป็นเรื่องน่าจับตามอง เพราะกฎหมายหรือความสัมพันธ์กับเพศเดียวกันจริงๆ แล้ว ไม่เคยถูกพูดถึงในพื้นที่สาธารณะมาก่อน และไม่เคยถูกนำเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายบ้านเมือง แต่ในกฎหมายนั้นเท่าที่ได้ดูก็รู้สึกว่ายังมีความไม่สมบูรณ์อยู่เช่น อาจจะมีเงื่อนไขเล็กๆ น้อยๆ อย่างการที่คู่รักเพศเดียวกันอาจต้องไปขอใบรับรองจากแพทย์แล้วมาจดทะเบียน ซึ่งมองว่าไม่ค่อยเท่าเทียม และถ้าเป็นแบบนั้นแล้วใครจะไปจดทะเบียนล่ะ เพราะเหมือนยังป่วยอยู่ แล้วเรื่องการรับบุตรบุญธรรมก็ยังไม่ถูกพูดถึง ก็คือกฎหมายยังมีความไม่สมบูรณ์และบกพร่องอยู่
สำหรับชื่อของกฎหมายนั้น พระชาย กล่าวว่า "อยากมองให้ไกลมากกว่านั้นว่าจะเป็นไปได้ไหม ที่จะเป็น พ.ร.บ.ชีวิตคู่สำหรับคู่รักที่ไม่ต้องระบุเพศเลยว่าใครเป็นใคร ไม่ต้องระบุเพศเลยว่าต้องเป็นเพศเดียวกันเท่านั้น ซึ่งสิ่งนี้จะเปิดโอกาสให้คนมีทางเลือกมากขึ้นในชีวิตในการอยู่ด้วยกัน โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นเพศเดียวกัน หรือต้องเป็นรักต่างเพศเท่านั้น"