ในช่วงแบ่งเค้กทีวีดิจิตอล ช่องบริการสาธารณะ 12 ช่อง 'สุภิญญา'เบรค ไม่ควรให้ช่อง 5, 11 ได้ช่องทันที ระบุต้องมีเงื่อนไขให้ปรับตัว ไม่อย่างนั้นเท่ากับ กสทช.พลาดโอกาสปฏิรูปสื่อ - เสนอหน่วยงานราชการที่จะขอช่อง ต้องมีโครงสร้างบริหารทีวีสาธารณะ ต้องมีกก.นโยบายจากภายนอก ไม่เช่นนั้น เสี่ยงเกิดช่อง 11 อีก 8 ช่อง
สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวถึงการจัดสรรทีวีดิจิตอลในส่วนของช่องสาธารณะ 12 ช่องว่า ขณะนี้ ดูเหมือนว่าอาจมีการกัน 4 ช่องให้กับรายเดิม คือ ช่อง 5 ช่อง 11 และไทยพีบีเอสสุภิญญา กล่าวว่า สำหรับไทยพีบีเอสยังพอมีความชอบธรรม เพราะมีกฎหมายเฉพาะ ไม่มีการหากำไร แต่ถ้าช่อง 5 และ 11 ยังทำตัวแบบเดิม แล้วได้สิทธิอัพเกรด โดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มเลย ตั้งคำถามว่า เป็นธรรมกับรายใหม่ ที่จะเข้าประมูลช่องธุรกิจอีก 24 ช่องและรายเก่าอย่างช่อง 3, 7, 9 หรือไม่ นี่เป็นคำถามที่ กสทช. ต้องตอบ
สุภิญญา กล่าวต่อว่า ในวันจันทร์นี้ (25 มี.ค.) อาจมีการพิจารณาให้ช่อง 5 และ 11 ได้ช่องทีวีบริการสาธารณะ ซึ่งส่วนตัวจะเสนอให้ กสท.ต้องสร้างเงื่อนไขให้ช่อง 5 และ 11 ปรับตัว ทำให้เห็นว่าจะเป็นสื่อบริการสาธารณะอย่างไร ตั้งคำถามว่าถ้าช่อง 5 ผังรายการและโฆษณาเหมือนเดิมจะต่างจากช่องอื่นอย่างไร อย่างน้อยต้องทำธุรกิจให้น้อยกว่า คนอื่นจะได้ไม่รู้สึกว่าเอาเปรียบ ลดสัดส่วนโฆษณา เพิ่มสัดส่วนรายการเพื่อสาธารณะ ขณะที่ช่อง 11 ถ้าจะเป็นทีวีสาธารณะต้องเป็นตัวแทนความคิดคนทั้งประเทศ ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และคนที่ไม่มีฝ่าย ไม่ใช่แค่รัฐบาลฝ่ายเดียว และต้องโชว์ผังรายการให้เห็นชัดเจนว่าจะเปิดพื้นที่ให้คนที่ไม่ใช่รัฐบาลแค่ไหน ถึงจะเป็นการแสดงพันธกิจว่าจะเป็นทีวีสาธารณะ
สุภิญญา กล่าวว่า ที่ผ่านมา เคยเสนอให้ปรับตัวแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการปรับเพราะ กสท.เองก็ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนเรื่องนี้ ทั้งนี้ ถ้าแค่ทดลองออกอากาศ 1 ปี 6 เดือนก็เห็นด้วย แต่ถ้าจะได้อัพเกรดไปเลย ก็จะต้องปรับตัวบ้าง ไม่ใช่คลื่นอนาล็อกก็ไม่คืน ขณะที่คลื่นดิจิตอลก็ได้ด้วย ไม่ต้องจ่ายเลย ต่างจากรายเดิมและรายใหม่ที่ต้องแข่งขันดุเดือด
"ถ้าช่อง 5 และ 11 มองว่ามีความจำเป็น จะอยู่ในช่องบริการสาธารณะ ต้องปรับตัวขนานใหญ่ ไม่เช่นนั้นต้องไปแข่งกับ 3, 7, 9"สุภิญญากล่าวว่าและว่า ไม่อย่างนั้นจะเท่ากับเราเสียโอกาสในการปฏิรูปสื่อ
"ไม่มีโอกาสไหนอีกแล้วที่จะปฏิรูปสื่อของรัฐ นี่คือหน้าที่โดยตรงของ กสทช.ที่เราพูดมา 15 ปี ถ้าเราให้เขาไปแล้วอัพเกรดไปจนถึงหมดอนาล็อก แล้วเราจะสร้างเงื่อนไขไหนให้เขาปรับตัว ไม่มีอีกแล้ว นี่คือ last chance (โอกาสสุดท้าย) แล้ว"สุภิญญากล่าวและว่า การปรับสู่ดิจิตอลไม่ใช่แค่อัพเกรดเทคโนโลยี แต่ต้องเปลี่ยนโครงสร้างความเป็นเจ้าของสื่อ ส่งเสริมการแข่งขัน ให้มีเนื้อหาหลากหลาย
สุภิญญามองว่า ทีวีสาธารณะนั้นมีความสำคัญ ต้องมีกระบวนการคิดที่ละเอียด เพราะจัดแล้วจัดเลย เรียกคืนไม่ง่าย และจะออกอากาศก่อนช่องประเภทอื่น กรณีช่อง 5 และ 11 ถ้าได้รับอนุมัติปุ๊บ ก็ย้ายไปเลย คนมีกล่องก็ดูได้เลย ขณะที่ช่องธุรกิจ กว่าจะประมูล กว่าจะได้เริ่มทำ เขาได้คนดูไปก่อนแล้ว หากเป็นช่องสาธารณะจริง ไม่เป็นไร เพราะไม่ได้แย่งตลาดโฆษณากัน แต่ถ้าก้ำกึ่ง อย่างช่อง 5 ที่ถามว่า ต่างกับ 3, 7, 9 แค่ไหน ก็ไม่ต่าง แต่ได้ออกอากาศก่อน นอกจากนี้ แม้ว่าคนที่ได้รับผลกระทบจะฟ้องได้ แต่ช่องธุรกิจอื่นๆ คงไม่ทำ เพราะยังอยู่ใต้สัมปทานอยู่
เสนอต้องมีกก.นโยบาย-ผังรายการชัดเจน
ส่วนอีก 8 คลื่นที่เหลือ สุภิญญา ระบุว่า ในวันจันทร์นี้จะมีการถกกันว่าเกณฑ์ที่ละเอียดจะเป็นอย่างไร จะแบ่งโควต้าอย่างไร กฎหมายบอกเพียงว่าใครขอได้บ้างและขอไปทำอะไรได้บ้าง โดยคนที่ขอได้คือ หนึ่ง หน่วยงานราชการ กระทรวง ทบวง กรม องค์กรอิสระต่างๆ สอง สถาบันการศึกษา สาม มูลนิธิ สมาคม ต่างๆ เสนอว่าแบ่งเลยได้ไหม เช่น หน่วยงานราชการ 3-4 ช่อง สถาบันการศึกษา 2-3 ช่อง มูลนิธิ 2-3 ช่อง เพื่อเป็นหลักประกันว่า อีก 8 ช่องจะไม่ได้เป็นของราชการหมด ส่วนเป็นใครนั้น ควรมีเกณฑ์การประกวด beauty contest ที่ละเอียด
สุภิญญา เสนอว่า ต้องมีโครงสร้างบริหารสถานีที่มีกรรมการนโยบายที่ชัดเจน โดยมีองค์ประกอบเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหา ยกตัวอย่างหากกระทรวงต่างๆ สนใจขอทีวีสาธารณะ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ ขอช่องการศึกษา กระทรวงกลาโหม ขอช่องความมั่นคง ซึ่งก็มีสิทธิทำได้ แต่ถ้าไม่มีเงื่อนไขว่าคนที่จะมาขอทำทีวีสาธารณะ ต้องมีโครงสร้างบริหารที่เป็นอิสระ เช่น มีกรรมการนโยบายที่มีคนนอก จะเกิดปัญหา ถ้าเกิดเรื่องร้องเรียน การตัดสินใจอาจกลับไปที่ปลัดกระทรวง หรือที่สุดขึ้นกับรัฐมนตรี
หวั่นเกิดช่อง 11 อีก 8 ช่อง
สุภิญญา กล่าวว่า อยากให้ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล กลุ่มพรรคการเมือง ที่อยากมีปากเสียงในการพูดต่อไป ลุกมาปกป้องสิทธิ ไม่เช่นนั้น ทีวีสาธารณะอีก 8 ช่องอาจไปอยู่ในกำกับดูแลของกระทรวง ทบวง กรม ขึ้นตรงกับรัฐมนตรีซึ่งเป็นรัฐบาลในเวลานั้นๆ ทำให้ฝ่ายค้านหรือกลุ่มไม่เห็นด้วยรัฐบาลเสียเปรียบทันที เพราะเท่ากับมีช่อง 11 อีก 8 ช่อง ซึ่งจะเป็นเสียงเดียวกับรัฐบาล เพราะไม่มีใครกล้าหือกับรัฐมนตรีที่ดูแล
สุภิญญา กล่าวต่อว่า ดังนั้น เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่ผู้บริโภคจะไม่มีทางเลือก แต่ยังอาจมีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองแหลมคมขึ้นทันที ฝ่ายกุมอำนาจรัฐบาลจะมีอำนาจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ไม่มีหลักประกันว่าฝ่ายเห็นต่างจะมีพื้นที่แสดงออก เรื่องนี้ แม้แต่รัฐบาลก็ต้องให้ความสนใจ เพราะรัฐบาลเองก็ไม่มีหลักประกันว่าจะไม่เป็นฝ่ายค้านในอนาคต
นอกจากนี้แล้ว หน่วยงานราชการจะต้องมีผังรายการที่ชัดเจน เพราะขณะนี้ ที่กังวลที่สุดคือไม่อยากให้การปฏิรูปสื่อยุค กสทช.ย้อนยุค เรากำลังหนีจากระบบที่รัฐเป็นเจ้าของสื่อสัมปทานให้เช่าช่วง ถ้าให้กระทรวงทำ ถามว่ากระทรวงทำเองได้ไหม หรือต้องไปเช่าช่วงจากเอกชน ซึ่งก็จะเข้าสู่ระบบเดิม เอกชนไม่กล้าทำรายการที่วิจารณ์หน่วยงาน กระทรวง
สุภิญญา เสนอว่า ถ้ามีอีก 8 คลื่นให้หน่วยงานรัฐซึ่งไม่สามารถทำรายการเองได้ สู้ให้รายเล็ก รายกลาง ที่ประมูลคลื่นใหญ่ไม่ได้ใช้จะดีกว่า อย่างน้อยก็มีหลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพ ไม่ต้องกังวลว่าทำแล้วจะต้องเกรงใจใคร
เสนอเกณฑ์ beauty contest ทำเช็คลิสต์ให้คะแนน
สุภิญญา กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์ beauty contest นั้น ควรมีการกำหนดคุณสมบัติให้ชัดเจน โดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับการประกวดนางงาม ที่ต้องมีการกำหนดอายุ สัดส่วน การศึกษา ความคิดต่อสังคม ประชาธิปไตย สิ่งแวดล้อม รวมถึงต้องตอบคำถามกรรมการ ทำเป็นเช็คลิสต์
สุภิญญา ยกตัวอย่าง beauty contest ที่สเปน ว่ามีการเช็คในสามเรื่องคือ หนึ่ง ความพร้อมเรื่องเทคโนโลยี สอง การลงทุน มีงบจากที่ไหน จะต้องมี proposal สาม เนื้อหา ผังรายการว่าตอบสนองใคร ใครจะได้ประโยชน์ โดยอาจกำหนดสัดส่วนคะแนนเป็น 1:1:2 ตามลำดับ ในกรณีของไทย อาจดูที่ผลงานในอดีตประกอบด้วย จากนั้นจึงให้บอร์ด 5 คนลงคะแนน หากใช้วิธีนี้แล้ว แพ้ ตนเองก็ยอมรับ แต่ต้องเปิดเผยการลงคะแนนต่อสาธาณะ ต้องอธิบายกับสังคมได้ว่ากลุ่มนั้นๆ เด่นเรื่องอะไรจึงได้ ที่เสนอให้ลงคะแนนนั้น เพราะกังวลว่าลำพังการโหวตอย่างเดียวจะรวบรัด และไม่มีกระบวนการที่ชัดเจน