บางส่วนของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา
นิติ ภวัครพันธุ์ , ปรารถนา จันทรุพันธุ์ , อธิป จิตตฤกษ์
วันศุกร์ที่ 22 มีนาคม 6 โมงเย็น ร้าน Bookmoby Readers' Café ที่หอศิลป์ ชั้น 4 แน่นขนัดทั้งด้านใน ด้านนอก เพราะศิษยานุศิษย์และแฟนคลับ ‘ธเนศ วงศ์ยานนาวา’ ยังคงติดตามผลงานของเขาอย่างเหนียวแน่น สำหรับการเปิดตัวหนังสือเล่มล่าสุด “ม(า)นุษย์โรแมนติก” ซึ่งเป็นการรวบรวมบทความเกี่ยวกับแวดวงมานุษยวิทยาที่เผยแพร่ในหลายที่ เช่น จุลสารไทคดี รัฐศาสตร์สาร เป็นต้น และมีส่วนที่เขียนใหม่เกือบครึ่งของบทนำที่ยาวกว่า 100 หน้า
นอกเหนือจากเป็นคอลัมนิสต์ให้วารสารหลายฉบับ เป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนักเขียน เป็นนักวิจารณ์หนัง เป็นนักวิชาการแทบจะเรียกได้ว่าสหวิชา ไอดีที่คนรู้จักเขามากที่สุดอาจไม่ใช่สิ่งเหล่านี้ที่กล่าวมา หากแต่รู้จักเขาในฐานะ ‘ธเนศ วงศ์ยานนาวา’ นั่นแหละ
ภายในงานเปิดตัวด้วยการเสวนาของบุคคลที่ใกล้ชิดธเนศ โดยเฉพาะในปริมณฑลทางวิชาการ ได้แก่
นิติ ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปรารถนา จันทรุพันธุ์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, อธิป จิตตฤกษ์ นักแปลงานวิชาการอิสระ ผู้อ่านงานของธเนศอย่างใกล้ชิด
การเสวนาดำเนินไปอย่างเป็นกันเอง และพูดคุยถึงเรื่องราวของ “คนเขียน” เสียยิ่งว่า “หนังสือ” ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ เพราะสำหรับคนทั่วไปโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่วัยศึกษาแล้ว ธเนศนั้นแปลกและอ่านยากยิ่งกว่าหนังสือที่เขาเขียนเสียอีก โดยเฉพาะเครื่องหมายการค้าของเขาอย่าง การวิพากษ์ศาสนา การพูดถึงเรื่องเพศแบบดุเดือด ตรงไปตรงมา (ในบริบทวิชาการ) ซึ่งเป็นเสน่ห์ดึงดูดคนรุ่นใหม่อย่างดี
สำหรับหนังสือเล่มล่าสุดนี้ก็เป็นการฉายภาพให้เราได้เห็นข้อถกเถียงสำคัญๆ ของนักมานุษยวิทยาที่กระเทือนวงการมานุษยวิทยาโลก (ตะวันตก)
หากอยากรู้ว่ามันลื่นไหลเพียงไหน และน่าสนใจเพียงใดสำหรับแวดวงมานุษยวิทยา ก็อาจต้องยกคำของนิติที่กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า ธเนศนั้นเหมือน “ร่างทรง” ที่บอกเล่าเรื่องราว วิธีคิดของบรรพบุรุษอย่างลื่นไหล โดยที่เราไม่รู้เลยว่า เขาได้เอาตัวเองใส่ไว้แค่ไหน ตอนไหน เท่าไร รอยเท้าที่เราเห็นนั้นเป็นรอยเท้าของอากงอาม่าหรือรอยเท้าของธเนศเอง
โดยสรุปแล้ว นอกจากงานนี้จะเป็นการพบปะกันของผู้สนใจหรือศึกษาด้านมานุษยวิทยาหลากรุ่นโดยเฉพาะรุ่นใหม่ๆ แล้ว ก็ยังทำให้เห็นว่า -ถ้าใช้ภาษาธเนศ - “ธเนศ” เป็น “สินค้า” หรูหราในพารากอน ที่ยังคงน่าพิสมัย ขายได้ ขายดี ไม่ใช่กับคนที่มีกำลังซื้อ แต่กับคนที่มีพลังความสงสัยใคร่รู้ ... ส่วนว่าอ่านหนังสือเขาแล้วจะอ่านรู้เรื่องไหมนั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง (ฮา)
ส่วนหนึ่งของการเสวนา
อธิป....
“ตั้งแต่ปี 2550 อาจารย์ธเนศออกเล่มนี้มาเป็นเล่มที่ 9 เล่มที่ผ่านๆ มาก็ครอบคลุมแทบทุกโหมด การบริโภค ศิลปะก็มีแล้ว เรื่องเพศก็มีแล้ว และกำลังจะมีอีกเล่ม แต่เล่มนี้น่าจะเป็นเล่มแรกที่เกี่ยวกับมานุษยวิทยา แต่มันยังพูดถึงการปะทะกันของ discipline ต่างๆ บางบทความชัดมากกว่าบทความในเล่มก่อนๆ”
“มีข้อวิพากษ์มานุษยวิทยาที่น่าสนใจหลายอัน แต่ก็มีบางประเด็นที่รู้สึกว่ายังไม่ค่อยอัพเดทเท่าไร”
“โดยรวมๆ นับเอาบทที่ยังไม่เคยอ่านมาก่อน อย่างบทแรก อ่านแล้วก็ประทับใจมาก เพราะเป็น 2 ดีเบตใหญ่ในวงมานุษยวิทยา”
“เราอยู่กับ discipline เราเอง เราจะไม่มีทางไปเจอข้อมูลหรือข้อถกเถียงอะไรแบบนี้ แต่เนื่องจากอาจารย์ธเนศเป็นคนที่นอกจากอ่านงานลึกแล้ว ยังอ่านงานกว้างมากๆ จะทำให้เราเจอคำถามหลายๆ อย่างที่ปกติจะไม่เจอ หรือคุยกับคนในสาขาวิชาการเดียวกันก็ไม่เจอ หรือคุยกับนักวิชาการไทยก็อาจไม่เจอ ... อย่างตอนทำธีสิส เจออาจารย์ธเนศวิจารณ์มาจุดนึง ต้องนั่งอ่านหนังสืออยู่ปีนึง”
นิติ.....
“อาจารย์ธเนศกับผมรู้จักกันนาน อาจจะนานเกินไป ธเนศเขียนงานดีหมด ยกเว้นเรื่องเซ็กส์ เล่มนี้ก็เป็นเล่มหนึ่ง ผมโดยเทรนนิ่งก็มาทางมานุษยวิทยา รายละเอียดในหนังสือเยอะถ้าจะพูด ...เวลาเราพูดถึงธเนศ ผมคิดว่าที่ธเนศเขียนดีที่สุดคือภาษาอังกฤษเรื่องอาหาร หลังจากนั้นธเนศก็เข้ารกเข้าพงไปเรื่อย(หัวเราะ) ก็ไม่ว่ากัน มีงานนี้ที่รู้สึกว่าเข้าท่า”
“ดีเบตอันหนึ่งสำคัญมากที่พูดถึง subject ของคนพื้นเมือง เล่มนี้ถ้ารื้อใหม่ เพื่อพิมพ์ขายหลอกคน ต้องเอาเรื่อง Subject ขึ้นมาก่อน เป็น Subject ของนักมานุษยวิทยาและในแง่หนึ่งก็เป็น autherด้วย ธเนศเป็น auther ทั้งหมดนี้ธเนศโม้มา เป็น Subject ที่โม้เกี่ยวกับ Subject คนอื่น”
“ถ้าอ่านเล่มนี้จะเห็นว่า ธเนศไม่เคยทิ้งวิชาสังคมวิทยา มานุษยวิทยาเลย จะพูดเรื่องอะไรก็แล้วแต่ แต่ฐานที่แน่นมากของแกคือ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา และ from การมองก็เป็นแบบนั้น เช่น มีอยู่บทหนึ่งเถียงเรื่อง rationality ซึ่งธเนศคิดว่ามีข้อจำกัดเยอะ อยากจะไปให้ไกลกว่านั้น นักมานุษยาวิทยาเราก็ไม่พูดเรื่องนี้แล้ว ตอนนี้มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Supermodernity อาจารย์ธเนศเป็นคนอ่านเรื่องพวกนี้ไม่หยุด แต่เราจะไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งถ่องแท้ได้เลย ถ้าคุณไม่มีฐานที่แน่น คนอาจบอกผมหัวเก่า แต่ผมโดนเทรนมาแบบนี้ ทุกอย่างที่ธเนศ consume เข้าไป เขามีฐานที่แน่นมากแล้วรู้ว่าที่มามันคืออะไร ทำไมมันมาถึงตรงนี้”
ปารถนา......
“คุณูปการของหนังสือเล่มนี้มันช่วยมากที่จะทำให้ในภาคเข้าใจว่าอาจารย์ธเนศมีความเป็นมานุษยวิทยาอย่างไร ย้อนมาที่บทนำ ที่ศิลปากรเวลาที่เราสอนชื่อเหล่านั้นที่ปรากฏอยู่เราทุกคนต่างรู้จัก แต่มันเป็นก้อนๆ แต่ไม่ได้ถูกพูดเชื่อมโยงถึงกันว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร..สำหรับนักศึกษา เป็นเรื่องแปลกมาก เวลาเขาไปสอน ทุกคนจะรักเขา คิดว่ามันคงมีความโรแมนติกบางอย่างอยู่ ทุกคนจะสนุกสนานตั้งใจมาเรียน ยิ้มแย้มแจ่มใส จนกระทั่งวันสอบ ทุกคนจะไม่อยากรู้จักผู้ชายคนนี้อีกต่อไป”
ธเนศ .....
“หนังสือนี้ ผมไม่ได้ตั้งชื่อนะ ปู (เจ้าของร้านบุ๊คโมบี ผู้มีส่วนจัดพิมพ์) เป็นคนตั้งชื่อ จริงๆ เขาอยากให้มีชื่อว่า รวมบทความมานุษยวิทยา แต่มันก็ไม่ใช่ใน sense แบบนักมานุษยวิทยาไทย ... โดยหลักแล้วผมพยายามที่จะมองนักมานุษยวิทยาในฐานะที่ทิ้งวิชาม. โดยเฉพาะในการลง field มา 30 กว่าปี เพราะผมเห็นว่าการลงฟิลด์ไม่ใช่สิ่งที่ให้คำตอบกับเรา เพราะในที่สุดแล้ว ความสำคัญระหว่างข้อมูลกับส่งที่อยู่ในสมองของคุณนั้นเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ ดังนั้น ผมถึงเสียเวลาอธิบายดีเบตของสองคน (ในหนังสือ) แม้จะเป็นดีเบตเก่า แต่ผมคิดว่าผมไม่ควรจะมาทำดีเบตใหม่ นั่นคือ ดีเบต Derek Freeman กับ Margaret Mead ในทศวรรษ 1980 และ 1990 โดยพยายามจะชี้ให้เห็นว่านี่คือพื้นฐาน โดยไม่ต้องพูดถึงดีเบตใหม่ เราพูดถึงปรมาจารย์รุ่นเก่า จะตายห่าลงโลงกันหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Marshall Sahlins ก็ดี หรือ Gananath Obeyesekere ...ผมต้องการชี้ให้เห็นว่าความสำคัญมันไม่ใช่แค่ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เราเห็น เราลง field เรามีความรู้สึก มีความคิด แล้วก็ไปด้วยชุดความคิดจำนวนมาก สภาวะอันนี้ เป็นสภาวะที่ชัดเจนมากว่าท้ายที่สุดแล้วเราจะคุยกันไม่รู้เรื่อง และนักวิชาการตะวันตกอยู่ภายใต้ความคิดชุดหนึ่งว่า เราจะคุยกันให้รู้เรื่อง แต่ผมคิดว่ามันคุยกันไม่รู้เรื่อง เพียงแต่โลกวิชาการตะวันตก มีสตางค์มากพอที่จะสร้างสำนักของตัวเอง แล้วผลัดกันเขียน เวียนกันอ่าน วานกันชม สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย”
“สิ่งพวกนี้เป็นระบบวิธีคิดของรัฐไทย ซึ่ง centralizing ทุกอย่าง รวมทั้ง centralizing สกอ.ด้วย ฉะนั้น ถ้ามึงไม่พอใจมึงก็ออกจากบ้านนี้ไป สำหรับผม ไม่ใช่เป็นแค่ใครบางคนคิดแบบนี้ แต่วิธีคิดแบบนี้มันอยู่ทุกที่ ทุกระบบ ทุกอณูในสังคมไทย เพียงแต่ว่ามันจะแสดงออกมาในรูปแบบไหนเท่านั้นเอง นี่เป็นเรื่องที่ผมพยายามจะชี้ให้เห็นความแตกต่างอันนี้ โดยยกระดับปรมาจารย์ด้านมานุษยวิทยาที่เป็นคนรุ่นเก่าทั้งหมดแล้วมันก็ถกเถียงกัน ใครจะถือหางใครก็เลือกเอา...เพียงแต่การตอบโต้ของนักวิชาการตะวันตกมัน civilize”