การใช้สเต็มเซลล์เพื่อการรักษาเป็นความหวังอย่างหนึ่งทางการแพทย์ แต่ก็มีกรณีที่ผู้หญิงคนหนึ่งไปเข้ารับการผ่าตัดฝังเนื้อเยื่อส่วนจมูกไว้ที่ส่วนกระดูกสันหลังเพื่อรักษาอาการอัมพาต แต่เนื้อเยื่อดังกล่าวกลับไม่เปลี่ยนเป็นเซลล์ที่ต้องการและยังสร้างปัญหา
8 ก.ค. 2557 นิตยสารนิวไซเอนทิสต์ ซึ่งเป็นนิตยสารด้านวิทยาศาสตร์ของอังกฤษระบุถึงกรณีที่มีข้อผิดพลาดในการใช้สเต็มเซลล์ผ่าตัดรักษาอาการเนื้องอกของของผู้หญิงชาวสหรัฐฯ รายหนึ่งซึ่งไปรับการผ่าตัดในโรงพยาบาลของโปรตุเกส ถึงแม้ว่าจะมีกรณีความผิดพลาดนี้หลายครั้ง แต่กรณีของหญิงผู้นี้ก็ถือเป็นรายแรกที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลประเทศตะวันตกที่มีการรับรองทางการแพทย์
เหตุการณ์นี้ขึ้นเมื่อหญิงชาวสหรัฐฯ เกิดอาการเนื้องอกจนทำให้เป็นอัมพาต เธอเข้ารับการผ่าตัดเพื่อนำเนื้อเยื่อเซลล์ทที่คล้ายกับสเต็มเซลล์จากจมูกของเธอฝังลงในกระดูกสันหลังโดยหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเซลล์ประสาทและช่วยรักษาความเสียหายทางประสาทที่กระดูกสันหลังของเธอได้
แต่การรักษาก็ไม่สำเร็จ ในเวลาต่อมาคือเมื่อปีที่แล้วเธอรู้สึกปวดในจุดที่ถูกฝังเนื้อเยื่อจนต้องไปเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยไอโอวา หมอผ่าตัดพบว่าเนื้อเยื่อที่งอกในตำแหน่งที่ฝังไว้เป็นเนื้อเยื่อส่วนของจมูกขนาด 3 ซม. รวมถึงมีชิ้นส่วนเล็กๆ ของกระดูกและส่วนแตกแขนงเล็กๆ ของเส้นประสาทที่ไม่เชื่อมต่อกับเส้นประสาทของกระดูกสันหลัง
ไบรอัน ดโลอี ประสาทศัลยแพทย์จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยไอโอวาที่เป็นผู้ผ่าตัดเธอเปิดเผยว่า การเติบโตของเนื้อเยื่อดังกล่าวนี้ไม่ใช่ลักษณะของการเติบโตแบบมะเร็ง แต่ตัวเนื้อเยื่อก็มี "สารคัดหลั่งคล้ายเมือกจำนวนมาก"หลั่งออกมา ซึ่งน่าจะเป็นส่วนที่ทำให้เธอรู้สึกปวดกระดูกสันหลัง
จอร์จ ดาลีย์ นักวิจัยสเต็มเซลล์จากวิทยาลัยการแพทย์ฮาร์วาร์ดกล่าวว่ากรณีนี้แสดงให้เห็นถึงระดับความรู้เรื่องเกี่ยวกับการแยก ขยาย และผสมผสานเซลล์ของมนุษย์เรายังมีอยู่เพียงขั้นพื้นฐาน นักวิจัยเรื่องสเต็มเซลล์อีกคนหนึ่งคืออเล็กซีย์ เบอเซนเนฟ กล่าวว่ากรณีเช่นนี้ยังเกิดขึ้นอีกในโรงพยาบาลทั่วไปที่มีการทดลองรักษาด้วยสเต็มเซลล์ซึ่งผลที่ออกมาไม่สามารถคาดเดาได้
วงการวิทยาศาสตร์ให้ความสำคัญกับสเต็มเซลล์เนื่องจากมันมีความสามารถ
ในการแบ่งตัวและเจริญเติบโตเองได้ อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นเนื้อเยื่อแบบอื่นได้ สเต็มเซลล์ยังมีอยู่หลายประเภททั้งที่มาจากตัวอ่อนในระยะแรกเริ่ม ตัวอ่อนในครรภ์ที่ถูกทำแท้ง จากเลือดที่สายสะดือ และแหล่งอื่นๆ จากเนื้อเยื่อของผู้ใหญ่รวมถึงไขกระดูกด้วย แต่สเต็มเซลล์ก็ยังมีข้อจำกัดทำให้เสี่ยงต่ออันตรายจากเซลล์เนื้อเยื่อและมีความกลัวว่าถ้ามีการฝังเนื้อเยื่อแล้วอาจจะกลายเป็นมะเร็งได้
การผ่าตัดสเต็มเซลล์มีอยู่น้อยกรณีที่ได้รับการรับรองด้านการรักษาเช่นกรณีการรักษาในอินเดียที่มีการนำสเต็มเซลล์จากดวงตาของผู้ป่วยเพื่อรักษาส่วนกระจกตาในอินเดีย รวมถึงผลิตภัณฑ์ของสหรัฐฯ ที่เป็นสเต็มเซลล์จากกระดูก
ส่วนในกรณีอื่นๆ นั้นจะมีการวางแนวทางความปลอดภัยในการรักษาเข้มงวดมากถ้าเป็นการรักษาในโรงพยาบาลและมีคลินิกเอกชนไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ให้การรักษาในแนวทางนี้โดยไม่มีการรับรอง นิวไซเอนทิสต์เปิดเผยว่ามีการฟ้องร้องต่อคลินิกเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น โดยเชื่อว่ามีมากกว่า 1,000 คดีแต่ก็ยังไม่ทราบว่ามีกรณีของคนที่เข้ารับการรักษาในคลีนิกเอกชนที่ไม่มีการควบคุมดูแลมากแค่ไหน
เคยมีกลุ่มที่ทดลองด้วยการนำเนื้อเยื่อส่วนจมูกไปเพาะเลี้ยงเพื่อแยกเซลล์แบบที่ต้องการนำไปฝังในตัวคน แต่กรณีของผู้หญิงที่ผ่าตัดโดยใช้ส่วนเนื้อเยื่อ
จากจมูกในโรงพยาบาลในกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกสนั้น กลับข้ามขั้นตอนการเพาะเลี้ยงเพื่อแยกเซลล์แต่นำเนื้อเยื่อจากจมูกไปใช้กับกระดูกสันหลังของผู้ป่วยโดยตรงทำให้เนื้อเยื่อดังกล่าวยังมีความสามารถขับเมือกแบบน้ำมูกในจมูกได้อยู่
ก่อนหน้านี้ในปี 2553 นักวิจัยในลิสบอนได้เผยแพร่ผลการทดลองกับผู้ป่วยเป็นอัมพาต 20 คน ในแต่ละส่วนที่ต่างกันของกระดูกสันหลัง มี 11 คนที่สามารถฟื้นฟูการเคลื่อนไหวและการรับสัมผัสได้บางส่วน ขณะที่รายอื่นๆ เกิดผลต่างออกไป มีอยู่ 4 คนที่เกิดผลลัพธ์ด้านลบเล็กน้อย คนหนึ่งอาการอัมพาตแย่ลง และมีคนหนึ่งเกิดอาการเยื่อหุ้มในสมองอักเสบ ไม่มีการระบุแน่ชัดว่าหญิงที่รับการผ่าตัดโดยใช้เนื้อเยื่อส่วนจมูกอยู่ในกลุ่มทดลองนี้ด้วยหรือไม่
สุดท้ายแล้วเรื่องสเต็มเซลล์ก็ยังเป็นที่ถกเถียงว่านำมาใช้ได้จริงขนาดไหน นักวิจัยรายหนึ่งจากมหาวิทยาลัยเวย์นในมิชิแกนชื่อ ฌอง เปดุซซีเนลสัน กล่าวว่าคลีนิคของเขาเคยทำการรักษาคน 140 คน โดยส่วนใหญ่สามารถรักษาได้สำเร็จถ้ามีการฟื้นฟูหลังการผ่าตัดที่ดีแต่ก็มีรายที่เป็นปัญหาเพียงร้อยละ 1 แต่ลีห์ เทอร์เนอร์ จากมหาวิทยาลัยมิเนโซตาผู้ที่ตามคดีเกี่ยวกับการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ผิดพลาดกล่าวว่าเรื่องนี้ยังคงต้องคิดถึงทั้งในแง่ความเสี่ยงและผลดี
เรียบเรียงจาก
Stem cell treatment causes nasal growth in woman's back, New Scientist, 08-07-2014