นักศึกษาจากกลุ่มสภาหน้าโดมและศนปท. ยื่นหนังสือค้านการตั้งคณะกรรมการสอบสวน ‘ศรัณย์ ฉุยฉาย’ เหตุใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างไม่เหมาะสมออนไลน์ ชี้ไม่ใช่หน้าที่ของมหาวิทยาลัย
9 ก.ค. 2557 หลังจากที่ เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ผศ.ดร.ปริญญา เทวนานฤมิตรกุล รักษาการรองธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและการเรียนรู้ ปฏิบัติราชการแทนผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ลงนามในคำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่ 060/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีนายศรัณย์ ฉุยฉาย หรือ “อั้ม เนโกะ” ใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างไม่เหมาะสมทางสื่อสังคมออนไลน์ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : มธ.ตั้งกรรมการสอบ 'อั้ม เนโกะ'ใช้สื่อออนไลน์แสดงออกไม่เหมาะสม)
วันนี้( 9 ก.ค.)มติชนออนไลน์รายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักศึกษาจากกลุ่มสภาหน้าโดม ตัวแทนศูนย์นิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) เข้ายื่นหนังสือขอคัดค้านการตั้งคณะกรรมการสอบสวน นายศรัณย์ ตามคำสั่งมหาวิทยาลัยดังกล่าว
โดยเนื้อหาของหนังสือคัดค้านมีใจความว่า กระบวนการสอบสวนดังกล่าวไม่ใช่หน้าที่ของทางมหาวิทยาลัย เนื่องจาก นายศรัณย์ แสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หากมหาวิทยาลัยทำการพิจารณาสอบสวนต่อไปก็จะถือว่าเป็นการแทรกแซงการใช้เสรีภาพส่วนบุคคลและดูเป็นการกลั่นแกล้ง
เนื่องจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของนายศรัณย์ทำให้ขั้วการเมืองบางกลุ่มที่อยู่ตรงกันข้ามเกิดความไม่พอใจจนนำไปสู่การร้องเรียนให้มหาวิทยาลัยตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ อีกทั้งคณะกรรมการสอบสวนบางคนก็มีพฤติการณ์ที่เป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองกับนายศรัณย์ จะทำให้กระบวนการพิจารณาไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา จึงไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาสอบสวน เนื่องจาก การแสดงออกทางการเมืองดังกล่าวเป็นเรื่องของเสรีภาพส่วนบุคคลที่ไม่ได้มีการนำชื่อมหาวิทยาลัยไปใช้ หากการแสดงออกนั้นเข้าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ก็ควรเป็นไปตามวิถีครรลองตามกฎหมาย
นายสิรวิชญ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทำหนังสือคัดค้านในนามส่วนตัวก่อน แล้วจึงจะนำเรื่องดังกล่าวนี้ไปหารือกับเพื่อนในกลุ่มนี้อีกครั้ง เนื่องจากมองว่า การตั้งคณะกรรมการสอบสวนนั้นไม่เป็นธรรม ส่อเจตนาว่าอาจจะเป็นการกลั่นแกล้ง เพราะ อั้มได้ถูกมหาวิทยาลัยพักการศึกษา 2 เทอมไปแล้ว โดยโทษลำดับถัดไปคือ ถูกให้พ้นจากการเป็นนักศึกษา อีกทั้ง อั้ม ยังถูกออกหมายเรียกจาก คสช. และนักศึกษาหลายรายที่ถูกควบคุมตัวระหว่างการทำกิจกรรม ก็มักจะถูกสอบถามคาดคั้นถามถึงที่อยู่ของ อั้ม อยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนครั้งนี้ขึ้นมา จากการร้องเรียนของขั้วการเมืองที่กลุ่มเป็นศิษย์เก่า ทั้งที่การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวทำในนามส่วนตัว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด
“และสามารถตั้งข้อสังเกตได้อีกว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการทั้ง 5 รายนี้ จึงเป็นแต่เพียงบุคคลกรมหาวิทยาลัยทั้งหมด และบางรายก็มีทัศนะคติทางการเมืองที่ตรงกันข้ามกับผู้ถูกล่าวหาอย่างสิ้นเชิง ทั้งที่โดยปกติและจากประสบการณ์การที่ถูกสอบสวนนั้น จะพบกว่ากรรมการที่ถูกตั้งขึ้นมา 5 คนนั้น อย่างน้อยจะต้องมี 1 คน ที่เป็นตัวแทนนักศึกษา จากอุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมการสอบสวนด้วย แต่ทำไมครั้งนี้จึงไม่มี”