กลุ่มนักกิจกรรมในมาเก๊าวางแผนจัดลงประชามติอย่างไม่เป็นทางการในประเด็นที่ว่าควรมีการให้เลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดด้วยวิธีการหนึ่งคนต่อหนึ่งเสียงในมาเก๊าหรือไม่ หลังจากที่ฮ่องกงเคยจัดทำไปแล้วก่อนหน้านี้
9 ก.ค. 2557 หลังจากก่อนหน้านี้ในฮ่องกงมีการลงประชามติอย่างไม่เป็นทางการในเรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตยนักกิจกรรมในเขตปกครองพิเศษมาเก๊าเริ่มวางแผนทำตาม แม้ว่าทางการจีนจะประกาศว่าการทำประชามติดังกล่าวผิดกฎหมาย
มาเก๊าจัดเป็นเขตปกครองพิเศษเช่นเดียวกับฮ่องกงซึ่งเคยเป็นอดีตอาณานิคมโปรตุเกสก่อนที่จะมีการคืนอธิปไตยให้กับจีนในปี 2542 แต่ก็มีการทำข้อตกลงร่วมกันว่าให้มีกฎหมายพื้นฐานที่ให้สิทธิปกครองตนเองแก่มาเก๊าจนถึงปี 2592 แต่สภาพของมาเก๊ามีส่วนคล้ายกับฮ่องกงคือมีผู้บริหารที่มาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการ 400 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ฝักใฝ่รัฐบาลส่วนกลางของจีน ทำให้ประชาชนไม่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้งแบบสากล โดยกำลังจะมีกำหนดการคัดเลือกผู้บริหารสูงสุดคนใหม่ภายในวันที่ 31 ส.ค. นี้
เจสัน เชา ผู้จัดให้มีการลงประชามติอย่างไม่เป็นทางการกล่าวว่า แนวคิดการลงประชามติครั้งนี้อาจทำให้ประชาชนผู้เข้าร่วมมีความสนใจในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างแท้จริงที่มีการเลือกตั้ง เชาคาดหวังว่าจะมีผู้ร่วมลงประชามติมากกว่า 400 คน ซึ่งเป็นการลงประชามติดังกล่าวมีการตั้งคำถามว่าต้องการให้มีการเลือกผู้นำมาเก๊าด้วยวิธีการเลือกตั้งแบบหนึ่งคนต่อหนึ่งเสียงภายในปี 2562 หรือไม่
กลุ่มนักกิจกรรมที่ร่วมจัดการลงประชามติในครั้งนี้ได้แก่กลุ่มมาเก๊าคอนไซเอน, กลุ่มพลวัตยุวชนมาเก๊า และกลุ่มโอเพ่นมาเก๊าโซไซตี พวกเขาวางแผนให้มีการจัดลงประชามติในวันที่ 24-30 ส.ค. ทั้งการโหวตทางออนไลน์และการลงคะแนนเสียงที่คูหา
ก่อนหน้านี้กลุ่มนักกิจกรรมในฮ่องกงได้จัดให้มีการลงประชามติอย่างไม่เห็นทางการมีคนมากกว่า 700,000 คน โหวตเห็นด้วยกับการให้ฮ่องกงสามารถเลือกตั้งผู้นำตนเองได้ และในช่วงวันครบรอบการคืนเกาะฮ่องกงให้จีนก็มีผู้ชุมนุมจำนวนมากออกมาเรียกร้องสิทธิ์นี้แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปราม
เจ้าหน้าที่ทางการจีนหลายคนทั้งที่ยังอยู่ในตำแหน่งและที่เกษียณอายุแล้วได้เตือนว่าทางการกลางของจีนกำลังเตรียมการใช้ทหารออกปราบปราม 'เหตุจลาจล'ที่จะเกิดขึ้นในฮ่องกง
อัลจาซีร่าระบุว่า ขณะที่ในฮ่องกงกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยเติบโตขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ในมาเก๊าคนส่วนใหญ่ดูเหมือนจะไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง แต่ในช่วงปี 2556 ที่ผ่านมาชาวมาเก๊าบางคนเริ่มแสดงออกในประเด็นปัญหาความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้น โดยในช่วงเดือน พ.ค. 2557 มีชาวมาเก๊ามากกว่า 20,000 คน ออกมาเดินขบวนประท้วงกฎหมายให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ระดับสูงหลังออกจากตำแหน่งแล้ว
เรียบเรียงจาก
Unofficial Macau poll new headache for China, Aljazeera, 08-07-2014