Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

กก.สิทธิเอเชียประณามรัฐประหาร-เรียกร้องปล่อยตัว'ธนาพล'

$
0
0

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ( AHRC ) ประนามคณะรัฐประหาร คสช. และแสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับภาวะถดถอยของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่คณะรัฐประหารได้ก่อขึ้น  พร้อมทั้งเรียกร้องให้ คสช.ปล่อยตัว ธนาพล อิ๋วสกุล และประชาชนทุกคนที่ถูกควบคุมตัวไว้ตามอำเภอใจโดยไม่มีข้อหาในทันที

๐๐๐๐

 

แถลงการณ์จากคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย
ประเทศไทย: การจับกุมบรรณาธิการและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนซ้ำอีกครั้งโดยรัฐบาลทหาร

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission -AHRC) มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบว่า ธนาพล อิ๋วสกุล นักเขียน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และบรรณาธิการนิตยสารและสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ได้ถูกควบคุมตัวอีกครั้งหนึ่ง และถูกกักตัวโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  วิธีการจับกุมและกักขัง ธนาพล ถือเป็นการกระทำตามอำเภอใจและเป็นการละเมิดพันธกรณีของรัฐบาลไทยตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights -ICCPR) อย่างชัดเจน  คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียมองว่าการจับกุมซ้ำและการกักขังตัวซึ่งรัฐบาลทหารอ้างว่าเป็นช่วงเวลาการ “ปรับเปลี่ยนทัศนคติ” ที่เกี่ยวกับการโพสต์ข้อความทางโซเชี่ยลมีเดียของธนาพลนั้น เป็นตัวบ่งชี้ถึงวิกฤติด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหารครั้งล่าสุดในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) เข้ายึดอำนาจและล้มล้างรัฐธรรมนูญของประเทศไทย  ในระหว่างหกสัปดาห์แรกของการปกครองโดยทหาร ได้มีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นและเสรีภาพทางการเมืองอย่างเข้มงวด มีการเรียกให้บุคคลไปรายงานตัวกับทหารทั้งอย่างที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ มีการใช้การกักขังตามอำเภอใจอย่างกว้างขวาง มีการใช้ศาลทหารมาจัดการกับผู้เห็นต่าง และการสร้างบรรยากาศของความกลัว อันล้วนทำลายสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม  ตามข้อกำหนดของกฎอัยการศึกซึ่งถูกนำมาบังคับใช้สองวันก่อนการรัฐประหาร ทหารสามารถกักขังและสอบสวนบุคคลได้นานถึงเจ็ดวันโดยไม่ต้องมีหลักฐานการกระทำผิดหรือมีการตั้งข้อหาใดๆ  คนที่ถูกจับอาจถูกขังไว้ตามที่ต่างๆ ทั้งค่ายทหารแบบถาวรหรือค่ายชั่วคราว หรือที่อื่นๆ ที่ถูกกำหนดให้เป็นที่กักขัง  การกักขังไว้ในที่ที่ไม่ใช่เรือนจำปกติทำให้มีโอกาสเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการทรมาน การถูกบังคับให้สูญหาย และการวิสามัญฆาตกรรม เพิ่มขึ้นได้อย่างมาก

ในขณะที่รัฐบาลทหารปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดทั้งหมดเรื่องจำนวนผู้ที่ถูกกักขังและสถานที่ควบคุมตัว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นกลุ่มทนายความและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่รวมตัวกันขึ้นหลังจากการรัฐประหาร เพื่อทำงานแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นจากการปกครองโดยรัฐบาลทหาร ได้รวบรวมสถิติในโอกาสครบรอบหนึ่งเดือนหลังจากรัฐประหาร  ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ชี้ว่า ในหนึ่งเดือนแรกของการปกครองโดยทหาร มีคนอย่างน้อย 454 คนที่ถูกประกาศเรียกให้ไปรายงานตัวในกรุงเทพฯ และอีกอย่างน้อย 57 คนถูกเรียกตัวอย่างไม่เป็นทางการในต่างจังหวัด  สามารถอ่านรายงานฉบับเต็มภาษาอังกฤษได้ที่นี่และภาษาไทยที่นี่  ทางรัฐบาลทหารอ้างซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าคนที่ถูกเรียกตัวแล้วถูกควบคุมตัวนั้นไม่ได้ถูกจับ แต่ได้รับเสนอ “ที่พัก” และ “การปรับทัศนคติ”  หากไม่ไปรายงานตัวตามที่ถูกเรียกก็อาจจะถูกลงโทษโดยการดำเนินคดีในศาลทหาร และถูกลงโทษจำคุกไม่เกินสองปี และ/หรือปรับเป็นเงินไม่เกิน 40,000 บาท

ตั้งแต่วันแรกหลังจากการรัฐประหาร คสช. ได้พุ่งเป้าไปที่นักคิด นักวิชาการ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักข่าว และศิลปิน ที่แสดงความเห็นคัดค้าน ‘ธนาพล อิ๋วสกุล’เป็นบรรณาธิการ นักเขียน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ทำงานมายาวนาน และได้ทำงานสร้างพื้นที่ให้แก่เสียงของคนที่ถูกเบียดขับไปอยู่ชายขอบและคนที่ถูกกดขี่ในสังคมไทย และเขาได้เป็นหนึ่งในเป้าหมายของทหารมาตั้งแต่ต้น  เขาถูกจับเป็นครั้งแรกพร้อมกับคนอื่นๆ อีกสองสามคนในระหว่างการชุมนุมประท้วงอย่างสันติเพื่อต่อต้านรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม และถูกควบคุมตัวได้หนึ่งคืนที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (AHRC-STM-099-2014)  จากนั้นชื่อของธนาพลก็ปรากฏรวมอยู่ในรายชื่อคนที่ถูกเรียกตัวตามคำสั่งที่  5/2557 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ซึ่งถูกประกาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ว่าบุคคลในรายชื่อดังกล่าวให้ไปรายงานตัวที่สโมสรทหารบก เทเวศร์ ภายในเวลา 16.00 น. ของวันที่ 24 พฤษภาคม (AHRC-STM-100-2014)  เนื่องจากขณะนั้นเขาถูกควบคุมตัวอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่จึงได้นำตัวเขาไปยังสโมสรทหารบก แล้วถูกควบคุมตัวไว้อีกเจ็ดวันซึ่งเป็นระยะเวลาสูงสุดที่กฎอัยการศึกอนุญาตไว้  ธนาพล ถูกบังคับให้ลงนามในสัญญาข้อตกลงบางประการ เช่น จะไม่ใช้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการแสดงความเห็นหรือการชุมนุมรวมตัว จะไม่ออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทหาร 

เงื่อนไขในการปล่อยตัวเหล่านี้ยิ่งเสริมลักษณะการใช้กำลังตามอำเภอใจในกระบวนการควบคุมตัวให้เห็นชัดขึ้น เนื่องจากไม่ได้มีการอ้างอิงกฎหมายใด และเป็นเงื่อนไขที่กำหนดโดยอำนาจของรัฐบาลทหารเพียงฝ่ายเดียว

จากข้อมูลที่ได้รับมาจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ประชาไท และข่าวสด เช้าวันที่ 5 กรกฎาคม นายธนาพลได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ทหารนายหนึ่งที่ขอให้เขาไปพบที่ร้านกาแฟ Coffee Zelection ซอยพหลโยธิน 7 กรุงเทพฯ เพื่อพูดคุยกัน  เขาปฏิบัติตาม และหลังจากที่เขาไปถึงร้านกาแฟนั้นไม่นาน เจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบนายหนึ่งก็ควบคุมตัวเขาไปในรถยนต์ส่วนตัว แล้วพาเขาไปกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (สนามเป้า) จากนั้นได้ถูกส่งไปกองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อควบคุมตัวต่อไป  เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม นายทหารพระธรรมนูญนายหนึ่งได้เปิดเผยว่าข้อความที่นายธนาพลโพสต์เผยแพร่ทางเฟซบุ๊กนั้นละเมิดเงื่อนไขการปล่อยตัว  นายธนาพลไม่ได้ถูกตั้งข้อหา และนายทหารคนเดียวกันก็ยังอ้างต่อสาธารณะด้วยว่าเขาอาจจะได้รับการปล่อยตัวภายในวันที่ 9 กรกฎาคม เนื่องจากเขาถูกควบคุมตัวไว้เพื่อ “ปรับทัศนคติ” และจะได้รับการปล่อยตัวทันทีที่กระบวนการนี้เสร็จสิ้น

การควบคุมตัวตามอำเภอใจ การใช้ศาลทหาร (ดูจดหมายของ AHRC เรื่องศาลทหาร ที่เสนอต่อผู้เชี่ยวชาญพิเศษที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายสิทธิมนุษยชน ประจำสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2557: AHRC-OLT-006-2014) และการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นโดย คสช. เป็นการละเมิดหน้าที่ของรัฐไทยในฐานะเป็นรัฐภาคีต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีการควบคุมตัวนายธนาพล อิ๋วสกุล ทั้งสองครั้ง ก็เป็นการละเมิดพันธกรณีตามมาตรา 9 ที่บัญญัติไว้ว่า

1. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้ บุคคลจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนมิได้ ยกเว้นโดยเหตุและโดยเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย

2. ในขณะจับกุม บุคคลใดที่ถูกจับกุมจะต้องได้รับแจ้งถึงเหตุผลในการจับกุม และจะต้องได้รับแจ้งถึงข้อหาที่ถูกจับกุมโดยพลัน

3. บุคคลใดที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวในข้อหาทางอาญา จะต้องถูกนำตัวโดยพลันไปยังศาลหรือเจ้าหน้าที่อื่นที่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะจะใช้อำนาจทางตุลาการ และจะต้องมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีภายในเวลาอันสมควร หรือได้รับการปล่อยตัวไป....”

 AHRC ขอเน้นย้ำว่า ไม่มีข้อกฎหมายใดๆ รองรับการควบคุมตัวประชาชนโดยไม่มีการตั้งข้อหาเพื่อ “ปรับทัศนคติ”  แต่นี่เป็นการใช้อำนาจของรัฐบาลทหารเพื่อกดขี่ปราบปรามโดยไม่มีการตรวจสอบ

ในขณะที่ทางรัฐบาลทหารประกาศใช้กฎอัยการศึกโดยอ้างว่าสถานการณ์ทางการเมืองมีภาวะเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐ ทาง AHRC กลับประเมินว่าปัจจุบันนี้ไม่มีสถานการณ์เช่นนี้อยู่ในประเทศไทย  แม้ว่าไทยจะมีความไม่สงบทางการเมืองดำเนินอยู่ ส่วนใหญ่ก็จะสามารถสืบย้อนไปได้ตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 และก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลพลเรือนในการจัดการกับความไม่สงบนั้นด้วยกระบวนการปกติ  แม้ว่าทางการจะรับปากว่าจะเคารพสิทธิมนุษยชน แต่ประสบการณ์ในประเทศไทยก็ล้วนแต่มีว่าหากมีการใช้กฎหมายพิเศษเมื่อใดประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายเหล่านั้นจะถูกควบคุมตัวตามอำเภอใจเพิ่มขึ้นทุกครั้งในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่มีอะไรเลยที่จะรับประกันได้ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในภาวะสูญญากาศของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นจากกฎอัยการศึกและจากการขาดรัฐธรรมนูญที่มีผลบังคับใช้ได้

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ( AHRC )ขอประนามคณะรัฐประหารอย่างถึงที่สุด และขอแสดงความห่วงกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับภาวะถดถอยของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างรวดเร็วที่คณะรัฐประหารได้ก่อขึ้น  AHRC ขอเรียกร้องให้ คสช.ปล่อยตัวนายธนาพล อิ๋วสกุล และประชาชนทุกคนที่ถูกควบคุมตัวไว้ตามอำเภอใจโดยไม่มีข้อหาในทันที และให้ยุติการสร้างความหวาดหวั่นสาธารณะโดยการออกคำสั่งเรียกตัวให้บุคคลไปรายงานตัวกับทหาร การส่งจดหมายเรียกตัวแบบไม่เป็นทางการ และการควบคุมตัวบุคคลเพื่อ “ปรับทัศนคติ” หลังจากที่ขอนัดพบตามข้ออ้างอื่นๆ  นอกจากนี้ AHRC ยังขอให้ คสช.ตระหนักว่าการยอมรับความเห็นที่แตกต่างและความเห็นคัดค้านนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการปกครองที่มีรากฐานอยู่บนสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม  การปกป้องสิทธิมนุษยชนและการคิดเห็นที่แตกต่างไปจากรัฐบาลทหารนั้นไม่ได้เป็นอาชญากรรม

 

หมายเหตุ: คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย AHRC เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระดับภูมิภาคที่ติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเอเชีย จัดทำข้อมูลการละเมิดสิทธิ และรณรงค์ให้มีการปฏิรูประบบยุติธรรมและสถาบันเพื่อประกันการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิเหล่านี้ คณะกรรมาธิการมีที่ตั้งอยู่ที่ประเทศฮ่องกงและก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2527

 

แปลจาก THAILAND: Re-arrest of editor and human rights defender by junta

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles