พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผช.ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายฯ คสช. เตรียมประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าหน้าที่ เพื่อมอบนโยบายแก้ปัญหายาเสพติด 6 ประการ เน้นสกัด ปราบปราม จับกุม กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 3,250 หมู่บ้าน บำบัดผู้ใช้ยาเสพติด ยึดอายัดทรัพย์ผู้ค้า และดำเนินการกับ จนท.รัฐที่เกี่ยวข้องยาเสพติด
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. (ที่มา: เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล/แฟ้มภาพ)
8 ก.ค. 2557 -เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า วันนี้ (8 ก.ค.57) ที่กระทรวงมหาดไทย นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดิน เอาชนะยาเสพติดกระทรวงมหาดไทย (ศพส.มท.) กำหนดจัดประชุมมอบนโยบายการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ในระดับพื้นที่รับทราบในวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 ระหว่างเวลา 08.00 – 15.00 น. ณ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต กทม. โดยมี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) และหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. เป็นประธานในพิธีเปิดและมอบนโยบายให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งประกอบด้วย ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีทุกกรมในสังกัด ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ฝ่ายทหาร) เลขานุการ ศพส. จังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ทุกจังหวัด นายอำเภอทุกอำเภอ ผู้แทนกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ตลอดจนผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในส่วนกลาง ประกอบด้วย กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงาน ปปส. กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมคุมประพฤติ และกรมราชทันฑ์ รวมจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 1,350 คน
การดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในปัจจุบันเป็นไปตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 41/2557 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 เรื่องการปราบปรามและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด รวมทั้งมาตรการเร่งรัดปราบปรามและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด ของ ผช.ผบ.ทบ.-หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. 6 ประการ คือ 1) การสกัดกั้น ปราบปราม จับกุม และหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชนทั่วประเทศ 2) เร่งรัดดำเนินการต่อหมู่บ้าน และชุมชนเป้าหมาย 3,250 หมู่บ้าน ภายใน 30 วัน 3) การจัดระเบียบสังคมและเฝ้าระวังสถานบริการ สถานประกอบการ หอพัก ร้านเกมส์ อินเตอร์เน็ต โต๊ะสนุกเกอร์ 4) การบำบัดฟื้นฟูผู้ติดและการสร้างภูมิคุ้มกันในเยาวชนกลุ่มเสี่ยง 5) การยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งระบบ และ 6) การดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด