ตัวแทนองค์กรภาคประชาชนด้านสุขภาพ วอน คสช.อย่าแช่แข็งงบรายหัว ย้ำ 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นรัฐสวัสดิการ ไม่ใช่ประชานิยม โต้ สธ.เสนอประชาชนร่วมจ่าย 30-50% กระทบผู้ป่วยเรื้อรัง
8 ก.ค.2557 ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค แถลงการณ์ถึงโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ย้ำเป็นหลักประกันสุขภาพของประชาชน ไม่ใช่นโยบายประชานิยม ด้านนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพเผย เสนอขอเพิ่มงบรายหัวหลักประกันสุขภาพถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจน หวั่นงบประมาณเท่าเดิมไม่พอต่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของชาวบ้าน และฝากถึง คสช.ว่ายังไม่เห็นทิศทางการปฏิรูปสาธารณสุขที่ชัดเจน และยังไม่เคยมีข้อเสนอจากการมีส่วนร่วมของประชาชน
บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือบัตรทอง เป็นรัฐสวัสดิการ คือหลักประกันสุขภาพเพื่อประชาชน ไม่ใช่นโยบายประชานิยมของนักการเมืองตามที่เข้าใจกัน และเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ประชาชนร่วมร่างและเข้าชื่อเสนอกฎหมาย นักการเมืองแค่ผ่านกฎหมายเท่านั้น
ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า ขณะนี้กระแสปฏิรูปกำลังมาแรง แต่การปฏิรูประบบสุขภาพมีมาแล้วตั้งแต่ปี 2545 และตอนนี้มีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นตัวแทนของประชาชน ดังนั้น การปฏิรูปต้องทำให้เกิดความเท่าเทียม ไม่ใช่ใครมีอำนาจ มาเป็นพระเอก การปฏิรูป ไม่ควรใช้ความรู้สึกของตัวเอง และตั้งคำถามถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า การที่มีหนังสือจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนามโดยรองปลัดกระทรวง ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการปฏิรูป จึงขอไม่ให้ความร่วมมือกับ สปสช. นั้น เป็นนโยบายของ คสช.หรือไม่
“สถานการณ์ระบบสาธารณสุขตอนนี้ ถือว่ามีความเปราะบางมาก ล่าสุด วันที่ 4 ก.ค. ก็มีหนังสือจากกระทรวง สธ. ลงนามโดย นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดสธ. ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการปฏิรูป จึงขอไม่ให้ความร่วมมือกับ สปสช. ถามว่า นี่เป็นนโยบายของ คสช.หรือไม่ว่าการปฏิรูปต้องหยุดความร่วมมือ เท่ากับตอนนี้ สธ.กำลังแช่แข็งระบบสาธารณสุขของประเทศนี้ การปฏิรูปต้องคำนึงถึงการตรวจสอบถ่วงดุลกัน ไม่ใช่ใครมีอำนาจแล้วจะมายึดอำนาจคืนไปที่สธ. ถือเป็นแนวคิดล้าหลัง การรัฐประหารครั้งนี้ อย่าให้เป็นหนีเสือปะจรเข้ ทำให้ประชาชนยากลำบาก 30 บาทหรือบัตรทอง ทำให้ประชาชนมีความั่นคง ดังนั้นก็อย่าทำให้ชีวิตพลเมืองต้องไม่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้” บุญยืนกล่าว
นิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพสัดส่วนภาคประชาชนกล่าวว่า ปีงบประมาณ 2557 มีงบเหมาจ่ายรายหัวที่ 2,895 บาท และในปี 2558 นั้น บอร์ด สปสช.เสนอของบรายหัวเพิ่มไปที่ 3,361 บาท ซึ่งได้มีการนำเสนอให้ คสช.พิจารณาแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน และมีแนวโน้มว่าจะแช่แข็งงบเหมาจ่ายรายหัวให้ได้รับเท่าเดิมในปี 2557 ถ้าเป็นแบบนี้จริง เท่ากับว่า คสช.กำลังเพิ่มทุกข์ให้ประชาชน เพราะการเพิ่มงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาคุณภาพ โดยเฉพาะในภาวะที่มีโรคเพิ่มขึ้น มีการเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้น สปสช.มีการคำนวณว่า ถ้าได้รับงบเท่าเดิม จะทำให้ผู้ป่วยนอกไม่ได้รับบริการ 20 ล้านครั้ง และผู้ป่วยในก็จะหายไป 5 ล้านครั้ง ซึ่งนั่นเป็นประเด็นที่ว่าประชาชนจะเข้าไม่ถึงบริการ เพราะงบไม่พอ
“ขณะเดียวกัน สภาวะตอนนี้ ไม่มีการประชุมบอร์ด จึงไม่สามารถอนุมัติสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ ได้ ตอนนี้ยารักษาไวรัสตับอักเสบซี ก็ยังไม่ได้อนุมัติ ทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาส ถ้าไม่ได้ยาก็พัฒนากลายไปเป็นมะเร็งตับ ค่ารักษาก็แพงอีก นี่เป็นความทุกข์ แต่ยังไม่ประชุมบอร์ดกว่า 2 เดือนแล้ว บอร์ดจะประชุมได้ ประธานต้องเรียก ก็ไปดูแล้วกันว่าใครเป็นประธาน แล้วทำไมถึงไม่เรียกประชุมบอร์ดเสียที ตรงนี้อยากฝากไปถึง คสช.ที่พูดตลอดเวลาว่าเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะ และวางรากฐาน แต่ตอนนี้เรื่องปฏิรูประบบสาธารณสุขยังไม่เห็นทิศทางที่ชัดเจน และไม่เคยมีข้อเสนอที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน” นิมิตร์กล่าว
ส่วนประเด็นข้อเสนอร่วมจ่ายนั้น กรรมการหลักประกันสุขภาพกล่าวว่า ทราบว่ากระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอ คสช.ให้ประชาชนต้องร่วมจ่ายในอัตรา 30-50% โดยให้เหตุผลว่า ถ้าไม่ทำอย่างนี้จะทำให้ระบบล้มละลาย ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่ผิดมาก
“การที่ สธ.บอกว่าระบบหลักประกันสุขภาพจะอยู่ไม่ได้ เพราะใช้เงินเยอะ ไม่จริง เพราะรัฐจ่ายเพื่อสุขภาพเพียง 7% เท่านั้น ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มมาก ทั้งช่วยลดความยากจนในครัวเรือนได้ ถ้ารัฐจะผลักภาระตรงนี้ ทหารเกณฑ์ที่ใช้บัตรทองก็ต้องมาแบกรับด้วย” นิมิตร์กล่าว
ทางด้านอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ถ้ามีการร่วมจ่ายจริง คนที่จะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ คือผู้ป่วยเรื้อรัง ที่ผ่านมามีข้อกล่าวหาว่า ประชาชนไปใช้บริการเกินความจำเป็นเป็นการดูถูกประชาชนมากเกินไป เพราะไม่มีใครอยากเจ็บป่วย และเมื่อเจ็บป่วยต้องได้รับการรักษา หากต้องร่วมจ่ายก็จะทำให้บางคนไม่ได้รับการรักษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก คนจน ผู้สูงอายุ คนรับจ้างทั่วไป
“พวกเราเสียภาษีกันทุกคน ต้องทำให้ได้รับบริการเท่าเทียมเสมอหน้า ถ้าให้ผู้รับบริการต้องร่วมจ่าย ก็ต้องมีกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงบริการ และทำให้กลุ่มคนเจ็บป่วย กลายมาเป็นภาระของประเทศอีก หลักการระบบหลักประกันสุขภาพคือการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข พวกเราที่เป็นเครือข่ายเอชไอวี เราเป็นพลเมือง ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เค้าควรได้บริการที่ดี การที่กล่าวหาว่า นี่เป็นหลักการตามหลักสิทธิมนุษยชน ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น ดังนั้น คสช.ต้องคิดเรื่องนี้อย่างละเอียด” ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีกล่าว