Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

ตั้งวงคุยข้อเสนอแก้รธน.-ปฏิรูป จากหนังสือ 'รัฐธรรมนูญกลางแปลง'

$
0
0

นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า  เปิดตัวหนังสือ “รัฐธรรมนูญกลางแปลง” หวังให้เป็นทางเลือกการปฏิรูป อดีตว่าที่ประธานวุฒิสภา ชี้ระบบเลือกตั้งไม่สุจริต-ยุติธรรม ต้นตอปัญหาการเมืองไทย ด้าน อดีต ส.ว.แนะรัฐธรรมนูญต้องระบุหน้าที่ของ ส.ส. ส.ว.ให้ชัด


(ซ้ายไปขวา) สติธร ธนานิติโชติ-เรืองรวี พิชัยกุล-ถวิลวดี บุรีกุล-สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย-พลอากาศเอกวีรวิท คงศักดิ์-เสถียร วิริยะพรรณพงศา

เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2557 สถาบันพระปกเกล้า เปิดตัวหนังสือ “รัฐธรรมนูญกลางแปลง พร้อมอภิปราย เรื่อง “รัฐธรรมนูญกลางแปลง เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย” โดย ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า นางเรืองรวี พิชัยกุล ผู้ประสานงานอาวุโส มูลนิธิเอเชีย และปิดท้ายด้วยการวิพากษ์หนังสือ “รัฐธรรมนูญกลางแปลง” โดย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งและอดีตว่าที่ประธานวุฒิสภา และพลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ดำเนินรายการโดย เสถียร วิริยะพรรณพงศา

ถวิลวดี กล่าวว่า หนังสือ “รัฐธรรมนูญกลางแปลง” ทำการเรียบเรียงจากงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า เพื่อเป็นข้อเสนอให้กับสังคมได้มีทางเลือกให้บ้านเมืองสามารถเดินหน้าต่อไปได้ในภาวะของความขัดแย้ง โดยมีหลายประเด็นทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ สถาบันการเมือง สิทธิเสรีภาพและการกระจายอำนาจ และคิดว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นตัวช่วยที่ใช้สื่อสารกับชาวบ้าน รวมทั้งเป็นตัวกลางที่ทำให้คนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าใจรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น

ถวิลวดี กล่าวต่อว่า เรื่องสำคัญที่เราควรจะทำการปฏิรูปเป็นเรื่องแรกก็คือ กระบวนการเข้าสู่อำนาจของคณะกรรมการองค์กรอิสระต่างๆ  ว่ามีความเหมาะสมชอบธรรมมากน้อยแค่ไหนและบางองค์กรยังมีความจำเป็นหรือไม่ที่จะดำรงไว้เพราะบางองค์กรมีการทำงานที่ซ้ำซ้อนกัน เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) กับผู้ตรวจการแผ่นดิน อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญในการปฏิรูปก็คือ กระบวนการการเลือกตั้ง ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ได้ทำการทบทวนประสบการณ์การเลือกตั้งที่ผ่านมา ว่าแต่ละรูปแบบนั้นมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เพื่อเป็นฐานข้อมูลและทางเลือกสำหรับการปฏิรูปประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้น
  
ด้าน สติธร กล่าวว่า ปัญหาของการเมือง การปกครอง เป็นปัญหาที่เรามักจะมองว่าเป็นปัญหาของตัวบุคคล อาทิ นักการเมืองโกง ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม หรืออีกด้านหนึ่งก็จะมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะว่าประชาชนเลือกคนไม่ดี เห็นแก่เงิน ขายเสียง เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาเหล่านี้ ก็ต้องเริ่มจากการศึกษา ซึ่งจะต้องวางรากฐานของการศึกษาและกระบวนการการศึกษาทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน โดยรัฐธรรมนูญเองก็จำเป็นต้องมีการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพทางการเรียนรู้ และเสรีภาพทางวิชาการให้เพิ่มมากขึ้น

สติธร กล่าวต่อว่า การจ่ายเงินอุดหนุนพรรคการเมืองของ กกต. กว่า 2,000 ล้านบาทนั้น 2 ใน 3 ของเงินทั้งหมดไปตกอยู่กับพรรคที่เข้มแข็งอยู่แล้วทั้ง ประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย เม็ดเงินที่เหลือถึงจะกระจายไปยังพรรคเล็กอีกหลายสิบพรรค ที่สุดแล้วรูปแบบดังกล่าวไม่ได้เอื้อให้พรรคการเมืองเล็กหรือพรรคการเมืองอุดมการณ์เติบโตได้ นี่คือความสำคัญที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย เพราะฉะนั้นเราต้องทำการแก้ไขรูปแบบของการจัดสรรเรื่องเงินบริจาคใหม่
 


สุดท้ายเป็นการวิพากษ์หนังสือ “รัฐธรรมนูญกลางแปลง” โดย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และพลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา

สุรชัยกล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดสรรทรัพยากรและเป็นการใช้อำนาจรัฐกับประชาชน แต่หนังสือเล่มนี้ยังขาดการบอกเล่าว่าเราอยู่ร่วมกันในสังคมอุปถัมภ์ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้สังคมนี้เป็นสังคมของผู้มีอิทธิพลและยังขาดภาพของความขัดแย้ง แต่กลับข้ามไปเสนอทางออกแทน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องเพิ่มเข้าไปในหนังสือเล่มนี้คือ การสะท้อนถึงรากเหง้าของปัญหาที่ทำให้สังคมไทยต้องตกอยู่ในวัฏจักรแบบเดิมๆ 

สุรชัยกล่าวต่อว่า  เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การจัดสรรทรัพยากรที่ยังไม่ทั่วถึงและเป็นธรรม เพราะยังคงมีประชาชนที่ยังไม่ได้รับการดูแลและตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองผ่านนโยบายประชานิยม นั่นเป็นเพราะสังคมไทยขาดการอธิบายเรื่องของประชาธิปไตยที่ดีและไม่มีองค์กรที่จะออกมาเปิดเผยความจริงให้กับประชนได้เข้าใจในเรื่องของการหาเสียงของพรรคการเมือง และปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ระบบการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและยุติธรรมก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันตามมา

ด้านวีรวิท กล่าวว่า ความบกพร่องของหนังสือเล่มนี้ คือ ไม่ได้พูดถึงเรื่องปัญหาของรัฐสภาในปัจจุบัน และควรยกตัวอย่างการแก้ไขปัญหาของประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มากกว่ารูปแบบการปกครองแบบสาธารณรัฐ เพื่อให้สามารถเห็นภาพและนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้จริง และเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ รัฐธรรมนูญต้องระบุบทบาทหน้าที่และคุณสมบัติของ ส.ส.และ  ส.ว. ให้ชัดเจน เพราะถ้าเรารู้ว่า ส.ส.และ ส.ว. ควรมีคุณสมบัติอย่างไร เราก็จะทราบว่าทำอย่างไรจึงจะได้บุคคลแบบนั้นมา  

สุดท้ายวีรวิท กล่าวว่า ข้อมูลงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้านั้นมีประโยชน์ แต่รัฐบาลที่ผ่านๆ มาไม่ค่อยได้นำไปปฏิบัติ เพราะฉะนั้นจึงหวังว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นจะนำข้อเสนอหรือข้อมูลการวิจัยของสถาบันนั้นไปพิจารณา และเชื่อว่าถ้าสามารถเก็บปัญหาทุกปัญหาได้หมด การร่างรัฐธรรมนูญจะต้องสมบูรณ์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles