Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

นักวิชาการแนะ 6 ข้อ เดินหน้ากระบวนการสันติภาพไทย-บีอาร์เอ็น ชี้ต้องให้เวลาทำความเข้าใจกับสังคมไทย

$
0
0

ตั้งคณะทำงานชุดเล็ก เปิดประตูหลายบานเปิดทางให้กระบวนการพูดคุยไปได้สะดวก ให้เวลาทำความเข้าใจกับสังคมไทย ด้านสภาประชาสังคมพร้อมหนุน แต่ให้ทั้งสองฝ่ายฟังเสียงประชาชนด้วย ส่วนทหารเปลี่ยนชื่อเป็นการพูดคุยเพื่อสันติสุข มอบหมายให้ สมช.ทำโรดแม๊ป

4 ก.ค. 2557 นายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง ผู้อำนวยการหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงกรณี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ (จชต.) ระบุว่า จะเดินหน้าการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็นต่อไป และยังให้ทางการมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยต่อไปนั้น ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ คสช.ได้ส่งสัญญาณไปถึงกลุ่มขบวนการที่เคลื่อนไหวอยู่เป็นอย่างดี

นายอัฮหมัดสมบูรณ์ เปิดเผยด้วยว่า ตนมีข้อเสนอ 6 ข้อต่อการพูดคุยสันติภาพที่จะมีขึ้นในอนาคต ดังนี้

1.คสช.ต้องมีหน่วยงานหรือคณะทำงานชุดเล็กเพื่อทำหน้าที่ประสานงานร่วมกันระหว่างคณะพูดคุยคุยชุดใหญ่กับชุดเล็กของฝ่ายบีอาร์เอ็น เพื่อสร้างแผนที่นำทางหรือ โรดแมปสันติภาพร่วมกันให้ได้

2.ขอให้ คสช.สื่อสารกับฝ่ายมาเลเซียในฐานผู้อำนวยความสะดวกเพื่อสื่อสารกับฝ่ายขบวนการอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้เข้าใจถึงกระบวนการสันติภาพที่ฝ่ายรัฐไทยยื่นมาให้อย่างจริงจัง ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลไทยโดย คสช.จะเดินหน้าการพูดคุยเพื่อสันติภาพอย่างจริงจัง อย่างที่ คสช.ตั้งใจ

3.รัฐบาลไทยต้องเปิดประตูหลายๆบานไว้ เพื่อเปิดทางให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าต่อไปอย่างสะดวก หรือที่เรียกว่า Multi Approaches

4.รัฐบาลไทยต้องสร้างความเข้าใจให้สังคมไทยว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยกระบวนการสันติภาพว่า ต้องใช้เวลา ทักษะ ต้องมีเหตุมีผลและต้องเป็นวิชาการ

5.รัฐบาลต้องมีคณะอนุกรรมการประเมินการทำงานของทุกช่องทางในกระบวนการสันติภาพ ซึ่งจะประเมินอย่างตรงไปตรงมาทั้งในทางลับและเปิดเผย

6.คณะกรรมการหรือคณะทำงานทั้งหมดที่ คสช.จะตั้งขึ้นมา ต้องมีคนที่มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ด้านกระบวนการสันติภาพ และควรเป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงานชุดเล็ก เพื่อความคล่องตัวและสะดวกในการทำงาน เพราะถ้าเป็นชุดใหญ่การดำเนินงานจะไม่สะดวก

 

สภาประชาสังคมพร้อมหนุนแต่ให้ฟังเสียงประชาชนด้วย

ด้านนายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า สภาประชาสังคมชายแดนใต้ยังสนับสนุนแนวทางเดิมของการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ การพูดคุยเพื่อสันติภาพ เพราะเห็นว่าการพูดคุยจะทำให้เกิดความสงบและสามารถยุติปัญหาได้ เราก็พร้อมสนับสนุน

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วน คสช.จะให้มีการพูดคุยต่อไปอย่างไรนั้น เป็นเรื่องทางเทคนิค เช่น จะให้มีการเปิดเผยหรือปิดลับ หรือแบบปิดลับก่อน เมื่อมีการพูดคุยจนได้ข้อสรุปในระดับหนึ่งแล้วค่อยออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะหรือไม่อย่างไรนั้นเราไม่สนใจ แต่เราสนับสนุนให้มีการปัญหา

นายประสิทธิ์ เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับท่าทีของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ต่อการพูดคุยสันติภาพนั้น มี 2 ประการ คือ 1.สนับสนุนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม 2.สภาประชาสังคมชายแดนใต้เห็นว่า ในเมื่อคู่เจรจาทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็อ้างประชาชน ทางสภาประชาสังคมชายแดนใต้ก็จะพยายามส่งเสียงว่า เรานี่แหละคือประชาชน

“เราจะพยายามส่งเสียงว่าพวกเราไม่ต้องการให้มีการฆ่ากันต่อไป เราไม่ต้องการความรุนแรง พวกเราต้องการความสงบและต้องการให้เกิดสันติภาพ อย่างไรก็ตาม หากคู่เจรจาก็ต้องให้ภาคประสังคมในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมด้วยไม่ว่าทางใด เราก็ยินดีและพร้อมสนับสนุน” นายประสิทธิ์ กล่าว

 

ทหารเปลี่ยนชื่อเป็นการพูดคุยเพื่อสันติสุข

ก่อนหน้า เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ชี้แจงว่า นโยบายของ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ย้ำว่ากระบวนการพูดคุยต้องดำเนินการต่อไป แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงรูปแบบและวิธีการ

พ.อ.ปราโมทย์ เปิดเผยต่อไปว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้กำหนดให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รับผิดชอบการจัดทำโร้ดแม๊ฟการดำเนินการภายใต้หลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการเปิดช่องทางการพูดคุยในระดับพื้นที่เพื่อสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

พ.อ.ปราโมทย์ เปิดเผยด้วยว่าที่ประชุมยังให้เปลี่ยนชื่อกระบวนการพุดคุยเพื่อสันติภาพ เป็นกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับความเข้าใจของพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles