ในวันจันทร์(29 เม.ย.นี้) นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์( กสท.) จะได้เสนอวาระเพื่อพิจารณาในที่ประชุมเรื่อง เงื่อนไขการอนุญาตให้ผู้ประกอบการรายเดิมออกอากาศคู่ขนานเพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลในสัดส่วนคลื่นความถี่ที่จัดไว้สำหรับกิจการบริการสาธารณะโดยสืบเนื่องจากโครงการมีเดียมอนิเตอร์ ภายใต้มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา ซึ่งเป็นองค์กรวิชาการ ที่ดำเนินการศึกษาและเฝ้าระวังสื่ออย่างต่อเนื่องและได้รับการยอมรับจากสาธารณะ ได้จัดส่งผลการศึกษาเกี่ยวกับผังรายการเพื่อวิเคราะห์ทิศทางการประกอบกิจการเพื่อบริการสาธารณะของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 และสถานีโทรทัศน์ ช่อง ไทยพีบีเอส เพื่อกสท. และสำนักงาน กสทช. พิจารณาประกอบการทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรทัศน์เพื่อบริการสาธารณะ ตนเห็นว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นประโยชน์และเกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ในช่วงการเปลี่ยนผ่านการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบแอนาล็อกไปสู่ดิจิตอล ตามที่ กสท. ได้มีมติและเปิดเผยต่อสาธารณะมาเป็นลำดับ โดยเฉพาะการมีมติให้ช่องรายการโทรทัศน์ในระบบ แอนาล็อกเดิมที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายซึ่งอาจจะขออนุญาตประกอบกิจการประเภทบริการสาธารณะในระบบดิจิตอลในอนาคต ออกอากาศคู่ขนานโดยใช้สัดส่วนช่องรายการที่กำหนดไว้สำหรับกิจการประเภทบริการสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลอย่างสอดคล้องกับข้อเท็จจริงและเป็นที่ยอมรับของสาธารณะ ตลอดจนเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของ กสทช. อย่างโปร่งใส จึงได้เสนอวาระ ดังนี้
1.ให้ผู้ประกอบการช่องรายการโทรทัศน์ในระบบแอนาล็อกเดิมที่ออกอากาศคู่ขนานในระบบดิจิตอล ต้องไม่ออกอากาศโฆษณาสินค้าหรือบริการที่มีลักษณะเป็นการขัดต่อกฎหมาย ประกาศ หรือระเบียบเกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลอย่างหนึ่งอย่างใด หรือมิให้มีการแพร่ภาพรายการโฆษณาขณะที่ออกอากาศคู่ขนาน
2. ให้ผู้ประกอบการช่องรายการโทรทัศน์ในระบบแอนาล็อกเดิมที่ออกอากาศคู่ขนานในระบบดิจิตอล ต้องไม่เป็นผู้รับใบอนุญาตใหม่ในระบบดิจิตอลกิจการบริการสาธารณะในขณะเดียวกัน และในกรณี ที่หน่วยงานที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงเดียวกันเป็นผู้รับใบอนุญาตใหม่ฯ ให้ถือว่าผู้ประกอบการช่องรายการโทรทัศน์ในระบบแอนาล็อกเดิมที่ออกอากาศคู่ขนานดังกล่าวไม่มีความประสงค์และไม่มีเหตุแห่งความจำเป็น ในการถือครองคลื่นความถี่ต่อ ทั้งนี้เพื่อเป็นเงื่อนไขการกระจายการถือครองคลื่นความถี่ของภาครัฐ และให้เกิด การแข่งขันในกิจการโทรทัศน์อย่างเสรีและเป็นธรรม ลดการผูกขาด เพิ่มความหลากหลายของผู้ประกอบกิจการ.
ทั้งนี้ สรุปสาระโดยสังเขป ส่งผลการศึกษาเกี่ยวกับผังรายการ เพื่อวิเคราะห์ทิศทางการประกอบกิจการเพื่อบริการสาธารณะจากโครงการมีเดียมอนิเตอร์ ภายใต้มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษาได้ ดังนี้
1 โครงการมีเดียมอนิเตอร์ ทำการศึกษาผังรายการของสถานีโทรทัศน์รวมสามช่องรายการประกอบด้วย สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 และสถานีโทรทัศน์ ช่อง ไทยพีบีเอส โดยวิเคราะห์ผังและเนื้อหารายการ เพื่อจำแนกสัดส่วนประเภทรายการ ประกอบด้วย ข่าวสาร สาระประโยชน์ สาระบันเทิง บันเทิง และอื่นๆ โดยอ้างอิงและเปรียบเทียบกับหลักเกณฑ์ของ กสทช. และหลักเกณฑ์อื่นที่กำหนดในการศึกษา
2 เนื้อหารายการที่นำมาศึกษาเป็นการออกอากาศระหว่างวันที่ 15 - 21 มกราคม 2556 สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 ออกอากาศวันละ 24 ชั่วโมง มีเวลาออกอากาศในช่วงเวลาที่ศึกษา จำนวน 10,080 นาที/สัปดาห์ ส่วนช่องไทยพีบีเอสซึ่งมีเวลาออกอากาศวันละ 21 ชั่วโมง มีเวลาออกอากาศในช่วงเวลาที่ศึกษา จำนวน 8,820 นาที/สัปดาห์
3 สรุปผลการศึกษาและการวิเคราะห์
3.1 สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 (ททบ.5)
3.1.1 ออกอากาศรายการประเภทบันเทิงมากที่สุด คือ 3,401 นาที/สัปดาห์ หรือ ร้อยละ 34 ตามด้วยรายการข่าวสาร คือ 3,030 นาที/สัปดาห์ หรือร้อยละ 30 สาระบันเทิง 1,459 นาที/สัปดาห์ หรือร้อยละ 14 สาระประโยชน์ 1,410 นาที/ สัปดาห์ หรือร้อยละ 14 รายการประเภทแนะนำ/ขายสินค้า 720 นาที/สัปดาห์ หรือร้อยละ 7 รายการอื่นๆ รวม 60 นาที/สัปดาห์ หรือร้อยละ 1
3.1.2 การออกอากาศรายการประเภทบันเทิงมากที่สุด คือร้อยละ 34 ซึ่งไม่สอดคล้อง กับนโยบายของช่องซึ่งแถลงว่าจะปรับผังรายการปี 2556 โดยเพิ่มข่าวและรายการสาระความรู้เป็นร้อยละ 71 พร้อมกับลดกลุ่มรายการประเภทบันเทิงให้เหลือร้อยละ 29 (คำให้สัมภาษณ์ของพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ กรรมการผู้อานวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก พบใน ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 2555 และไทยโพสต์ออนไลน์ 2556)
3.1.3 หากพิจารณาตามเกณฑ์ของ กสทช. ที่กำหนดให้กิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ประเภทบริการสาธารณะ ต้องมีรายการที่เป็นข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 แล้ว จะเห็นได้ว่า ช่อง ททบ.5 มีรายการประเภทข่าวสาร คิดเป็นร้อยละ 30 รายการสาระประโยชน์ คิดเป็นร้อยละ 14 รวมเป็น ร้อยละ 44ซึ่งไม่เป็นไปตามเกณฑ์ของสื่อเพื่อบริการสาธารณะตามที่ กสทช. กำหนด
3.1.4 ในภาพรวม ช่อง ททบ.5 มีเนื้อหารายการที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ หรือ ความปลอดภัยสาธารณะ ในสัดส่วนที่น้อย ไม่ว่าจะอ้างอิงนิยามหรือคำอธิบาย “ความมั่นคงของรัฐ” “ความปลอดภัยสาธารณะ” จากแหล่งใด ทั้งพบว่าส่วนใหญ่เป็นการนำเสนอรายการประเภทข่าวสาร ข้อเท็จจริง และเหตุการณ์ทั่วไป โดยเน้นการนำเสนอข่าวกิจกรรมและนโยบายต่างๆ ของกองทัพบก และหน่วยงานภาครัฐ ในรายการข่าวภาคดึก ขณะที่ในกลุ่มสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ พบรายการสารคดีสั้นที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงรายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแรงงาน ซึ่งอาจมีเนื้อหาเข้าข่ายความมั่นคงของรัฐ หรือความปลอดภัยสาธารณะ ตามความหมายของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และสภาความมั่นคงแห่งชาติ แต่ไม่พบรายการประเภทสาระประโยชน์ที่มีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยสาธารณะที่ชัดเจน
3.1.5 จากการศึกษาพบว่า ในกลุ่มรายการสาระประโยชน์ มีหลายรายการที่เป็นการโฆษณาแฝงสินค้า/บริการหรือเป็นรายการประชาสัมพันธ์กิจกรรมและภาพลักษณ์ของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชน
3.2 สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 (สทท.11)
3.2.1 มีสัดส่วนรายการที่เป็นข่าวสาร 5,055 นาที/สัปดาห์ หรือร้อยละ 50 ขณะที่สัดส่วนรายการสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ 4,100 นาที หรือร้อยละ 41 เมื่อรวมแล้วเป็น 9,155 นาที หรือ ร้อยละ 91
3.2.2 ช่อง สทท.11 มีสัดส่วนข่าวสารสูงกว่าสัดส่วนสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นข้อมูลของภาครัฐเป็นหลัก เช่น นโยบาย และกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น ในขณะที่มีการนำเสนอข้อมูลและความคิดเห็นของภาคประชาชน รวมทั้งภาคส่วนอื่นในสัดส่วนที่น้อยกว่า
3.2.3 ในกลุ่มรายการสาระประโยชน์จำนวนรวม 4,100 นาที/สัปดาห์ มีเนื้อหา เพื่อคุณภาพชีวิต จำนวน 691 นาที/สัปดาห์ ในขณะที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการส่งเสริมประชาธิปไตยเพียง 130 นาที/สัปดาห์ ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย
3.2.4 ผังรายการและสัดส่วนรายการของช่อง สทท.11 ในช่วงเวลาที่ทำการศึกษามีเนื้อหาที่สะท้อนบริการสาธารณะประเภทที่สาม และสอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจหลักของสถานี
3.2.5 ผลการศึกษายังพบการโฆษณาสินค้าและบริการที่เป็นโฆษณาตรงในช่วงของรายการข่าวกีฬา ข่าวสิ่งแวดล้อม รายการเกษตร และรายการด้านเทคโนโลยี และพบการโฆษณาแฝงของสินค้าและบริการในช่วงของรายการข่าว รายการเกษตร และรายการให้ความรู้ทั้งยังพบรายการที่มีผู้สนับสนุนเป็นองค์กรต่างๆ เช่น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน การไฟฟ้านครหลวง เป็นต้น โดยเนื้อหารายการมีลักษณะ เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กรที่สนับสนุน
3.3 สถานีโทรทัศน์ ช่อง ไทยพีบีเอส
3.3.1 สัดส่วนรายการที่พบมากที่สุด คือ รายการข่าวสาร รวม 3,770 นาที/สัปดาห์ หรือร้อยละ 43 รองลงมาคือรายการสาระประโยชน์ รวม 3,016 นาที/สัปดาห์ หรือร้อยละ 34 ที่เหลือเป็นรายการสาระบันเทิง รวม 2,034 นาที/สัปดาห์ หรือ ร้อยละ 23
3.3.2 เมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของ กสทช. ที่ระบุให้กิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ประเภทบริการสาธารณะ ต้องมีสัดส่วนรายการที่เป็นข่าวสาร หรือ สาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 พบว่า มีรายการข่าวสาร ร้อยละ 43 และ สาระประโยชน์ ร้อยละ 34 รวมแล้วเป็นร้อยละ 77 หากพิจารณาตามเกณฑ์ กสทช. พบว่า มีรายการที่ไม่สามารถจัดอยู่ในกลุ่มข่าวสารและสาระประโยชน์ เป็นจำนวนร้อยละ 23.06 แต่เมื่อพิจารณาจากหลักเกณฑ์ของ ส.ส.ท. พบว่าสามารถจัดอยู่ในประเภทรายการ สาระบันเทิง ซึ่งเป็นกลุ่มเนื้อหาที่ กสทช. ไม่ได้ระบุถึง
3.3.3 หากวิเคราะห์ผังและเนื้อหารายการตามเกณฑ์ ส.ส.ท. พบว่าช่อง ไทยพีบีเอส มีสัดส่วนรายการข่าวสาร ร้อยละ 43 สาระประโยชน์ ร้อยละ 31 และสาระบันเทิง ร้อยละ 26
3.3.4 โดยสรุป พบว่า เกณฑ์ของ ส.ส.ท. ให้คำนิยาม หรือกำหนดลักษณะรายการ ในประเภทสาระประโยชน์ได้ชัดเจนมากกว่าเกณฑ์ของ กสทช. อันมีผลให้สัดส่วนรายการสาระประโยชน์ และรายการสาระบันเทิงตามเกณฑ์ กสทช. และเกณฑ์ ส.ส.ท. มีจำนวนไม่เท่ากัน
3.3.5 รายการต่างๆ ในกลุ่มสาระประโยชน์ของช่องไทยพีบีเอส เป็นรายการที่มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้ และการศึกษาในสาขาต่างๆ แม้แต่รายการสาระบันเทิงที่เป็นการ์ตูน ละคร ซิทคอม หรือภาพยนตร์ก็มีลักษณะเป็นรายการที่มีเนื้อหาสาระ ให้ความบันเทิง สอดแทรกความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกิจการโทรทัศน์เพื่อบริการสาธารณะ ประเภทที่หนึ่ง ตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย..