ฮัสซัน ตอยิบ นำอ่านคำประกาศ B.R.N. ผ่านยูทูป ระบุจะสู้เพื่ออิสรภาพและจะปกครองด้วยความยุติธรรม ระบุการพูดคุยยังดำเนินต่อไปภายใต้เงื่อนไข 5 ข้อ ให้มาเลเซียเป็นคนกลาง เป็นการพูดคุยระหว่างชาวมลายูปาตานีกับฝ่ายสยาม ต้องมีผู้สังเกตการณ์จากอาเซียน โอไอซี และเอ็นจีโอ ต้องปล่อยนักโทษและยกเลิกหมายจับทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ
นายฮัสซัน ตอยิบ ตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น (B.R.N.) หรือแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani : B.R.N.) ซึ่งเป็นขบวนการต่อสู่เพื่อเอกราชในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้อ่านคำประกาศผ่านเว็บไซต์ยูทูป ที่ใช้ชื่อคลิปคำประกาศดังกล่าวว่า “PENGISTIHARAN BARISAN REVOLUSI NASIONAL MELAYU PATANI” แปลว่า “การประกาศของแนวร่วมแห่งชาติมลายูปาตานี” เป็นภาษามลายู เผยแพร่เมื่อ 26 เมษายน 2013 ใช้ชื่อผู้เผยแพร่ว่า Muhammad Abdullah โดยมีความยาว 3.45 นาที
คลิปดังกล่าวเผยแพร่ผู้ประกาศ 2 คน คนแรกคือนายฮัสซัน หรืออุสตาซฮัสซัน ซึ่งระบุว่าเป็นตัวแทนของขบวนการบีอาร์เอ็น คนที่ 2 ระบุชื่อนายอับดุลการีม กาลิบ ใช้ตำแหน่งว่าเป็นเจ้าหน้าที่คณะผู้แทนขบวนการบีอาร์เอ็นวันที่ 28 มีนาคม 2013 โดยมีเนื้อหาแปลเป็นภาษาไทย ดังนี้
PENGISTIHARAN BARISAN REVOLUSI NASIONAL MELAYU PATANI
คำประกาศจากแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (Barisan Revolosi National melayu patani : B.R.N)
ฮัสซัน ตอยิบ
ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน
บีอาร์เอ็น คือแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี เป้าหมายในการก่อตั้ง คือ เพื่อต้องการสร้างความเป็นหนึ่งให้เกิดขึ้นในหมู่ชนชาวมลายูปาตานี เพื่อรวบรวมชาวมลายูปาตานีให้อยู่ภายใต้ความเป็นปึกแผ่น ครอบคลุมไปถึงทุกกลุ่มชนของสังคม ในฐานะนักต่อสู้ชาวปาตานีด้วยกัน
หลังจากนั้นเราจะรวบรวมชาติพันธุ์มลายูปาตานีที่มีอยู่ให้เป็นหนึ่งและทรงพลัง จากนั้นเราก็จะได้รับความเป็นอิสรภาพ ซึ่งต่อไปเราคงจะได้รับอิสรภาพในทุกๆ ด้าน ตลอดจนได้บริหารปกครองด้วยตัวเราเอง ด้วยความยุติธรรมที่สุด ไม่ว่าในด้านใดก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผมขอความร่วมมือจากประชาชนชาวมลายูปาตานีทุกเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นคนสยาม คนมลายูและคนจีนที่มีอยู่ในแผ่นดินปาตานี อย่าได้วิตกกังวลใจต่อกระบวนการยุติธรรมครั้งนี้เลย
นั่นคือภาพรวมอย่างคร่าวๆ ของบีอาร์เอ็น เกี่ยวกับแนวทางการต่อสู้ที่จะนำไปสู่ความยุติธรรม ความสงบสุข ตลอดจนเพื่อนำไปสู่การสถาปนารัฐที่ดีที่ได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้า ผมขอจบเพียงเท่านี้
อับดุลการีม คอลิบ ตัวแทนของบีอาร์เอ็น เมื่อ 28 มีนาคม 2013
หากเราต้องการที่จะพูดถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นที่ปาตานี เราจำเป็นต้องย้อนกลับไปดูเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในอดีต
ภายหลังจากที่สยามได้ยึดครองปาตานีได้สำเร็จเมื่อปี ค.ศ.1785 ช่วงนั้นเองระบอบการกดขี่และการปราบปรามก็ได้เกิดขึ้น และในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้ขบวนการปลดเอกปาตานีก็ได้ก่อกำเนิดขึ้น เพื่อจะปลดปล่อยปาตานีจากการถูกกดขี่ที่ได้รับจากรัฐไทย เพื่อมุ่งสู่แห่งสันติภาพที่แท้จริง
การโจมตีด้วยอาวุธจะยังคงดำเนินต่อไปจนกว่าระบอบการกดขี่จะหมดไปจากแผ่นดินปาตานี
บทบาทของบีอาร์เอ็นจะเป็นอย่างไรหลังจากนี้ ต่อการเจรจาสันติภาพที่จะถึงนี้
การพูดคุยก็จะยังคงดำเนินต่อไปภายใต้เงื่อนไข 5 ข้อดังนี้
1.รัฐสยาม (รัฐไทย) ต้องให้มาเลเซียเป็นคนกลางในการเจรจา ไม่ใช่ผู้อำนวยความสะดวก
2.ต้องเป็นการพูดคุยระหว่างชาวมลายูปาตานีที่นำโดยกลุ่มบีอาร์เอ็น กับฝ่ายสยาม
3.ในระหว่างการพูดคุยจะต้องมีผู้สังเกตการณ์จากประชาคมอาเซียน โอไอซี (องค์การการประชุมอิสลาม) และเอ็นจีโอ (องค์กรพัฒนาเอกชน)
4.รัฐสยามต้องปล่อยนักโทษที่ถูกคุมขังและยกเลิกหมายจับทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ และ
5.รัฐสยามจะต้องยอมรับว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นองค์กรเพื่อการปลดปล่อยปาตานี ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน