หอการค้าเกาหลีใต้นำคณะพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา - เผยเคยรับราชการ ร.21 รอ. ที่เคยส่งทหารไปเกาหลี พร้อมชื่นชมเกาหลีเจริญก้าวหน้า และชี้แจงว่าต้องยึดอำนาจเพราะไม่มีรัฐบาลอำนาจเต็ม หลังจากนี้จะปฏิรูป 3 ขั้น
หอการค้าไทย-เกาหลี เข้าพบหัวหน้า คสช. เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2557 (ที่มา: เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)
3 ก.ค. 2557 - เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา ประธานหอการค้าเกาหลี-ไทย นำคณะผู้แทนภาคธุรกิจเกาหลี เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เพื่อขอความเชื่อมั่นในการค้า การลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ
โดย สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยหัวหน้า คสช. ได้กล่าวต้อนรับ พร้อมแนะนำรองหัวหน้า คสช. ทั้ง 3 คน โดยระบุว่า คสช.ได้แบ่งงานกันดูแลทั้ง 21 กระทรวง และขับเคลื่อนการทำงานกับข้าราชการกระทรวงต่าง ๆ พร้อมยกตัวอย่างว่า ในอดีตเคยรับราชการในกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นหน่วยทหารที่ส่งกำลังพลไปร่วมรบในสงครามเกาหลี และได้สร้างอนุสาวรีย์ทหารผ่านศึกเกาหลีไว้ที่จังหวัดชลบุรี แสดงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ประเทศ พร้อมกันนี้ยังกล่าวชื่นชมประเทศเกาหลี ที่เจริญก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ พร้อมชี้แจงถึงความจำเป็นต้องเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินของ คสช. โดยระบุว่า สถานการณ์ก่อน 22 พ.ค. 2557 รัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตยไม่มีอำนาจเต็มในการบริหารราชการแผ่นดิน
ทั้งนี้ตามรายงานของ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลหัวหน้า คสช. ได้กล่าวขอบคุณคณะนักธุรกิจเกาหลีที่มาร่วมหารือในวันนี้ พร้อมชื่นชมความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-เกาหลีซึ่งเป็นมิตรประเทศที่ดีมาโดยตลอด และหวังว่าความสัมพันธ์และความร่วมมือต่างๆ จะได้รับการสนับสนุนผลักดันให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป โดยไทยและเกาหลีต่างสนับสนุนกันในเวทีระหว่างประเทศ และเป็นมิตรที่ใกล้ชิดในด้านความมั่นคงด้วย
ในโอกาสนี้หัวหน้า คสช. ได้ชี้แจงถึงสถานการณ์การเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา ที่ประสบปัญหาจนทำให้ประเทศไม่สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ เศรษฐกิจไทยหยุดชะงัก นักลงทุนและนักท่องเที่ยวขาดความเชื่อมั่น ซึ่งหากปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินต่อไป ประเทศจะประสบปัญหารอบด้าน เช่น งบประมาณต่างๆ ไม่สามารถจัดทำและนำมาขับเคลื่อนประเทศได้ กลไกภาครัฐต้องหยุดชะงัก ดังนั้น คสช. จึงจำเป็นต้องออกมาแก้ปัญหาวิกฤตที่ไม่มีทางออกในขณะนั้น ซึ่งการดำเนินการของ คสช. ได้มีการวางกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ หรือ Roadmap ของการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก สร้างกระบวนการปรองดอง สมานฉันท์ในสังคมไทย ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้ว ระยะที่ 2 จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญชั่วคราว การแก้ไขกฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้งในระยะที่ 3
อย่างไรก็ตาม หัวหน้า คสช. ยืนยันว่าไทยมุ่งมั่นพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือ และพร้อมที่จะส่งเสริม การค้า การลงทุน กับเกาหลีต่อไป รวมถึงการผลักดันความร่วมมือที่ยังคั่งค้าง เช่น ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ครอบคลุม (Comprehensive Economic Partnership Agreement-CEPA) ระหว่างไทยกับเกาหลีให้มีผลเป็นรูปธรรมต่อไปโดยขณะนี้ คสช. กำลังดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการค้าการลงทุนระหว่างกัน สำหรับโครงการการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ และสาธารณูปโภคพื้นฐาน ขณะนี้ คสช. กำลังทบทวนและปรับปรุงเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในระยะยาว รวมทั้งเปิดโอกาสให้เกาหลีได้เข้ามามีส่วนร่วมต่อไปด้วย
ในโอกาสนี้ รองประธานหอการค้าเกาหลี-ไทย แสดงความขอบคุณที่มีโอกาสมารับฟังแนวทางการแก้ปัญหาประเทศของ คสช. และหวังว่าประเทศไทยจะสงบและมั่นคงโดยเร็วภายใต้การดูแลของ คสช. รวมทั้งได้เสนอให้มีการประชาสัมพันธ์ให้เกาหลีได้มีความมั่นใจเข้ามาลงทุนและเปิดตลาดในประเทศไทยให้มากขึ้น อีกทั้งเกาหลียินดีสนับสนุนการเปิดตลาดสินค้าไทยในเกาหลีให้เป็นที่นิยมมากขึ้นด้วย