หม่า อิงจิ่ว ประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีนเดินทางไปภูมิภาคอเมริกากลาง เพื่อเข้าร่วมพิธีสาบานตนประธานาธิบดีของปานามา ประเทศซึ่งสถาปนาความสัมพันธ์มาตั้งแต่ 2452 และจะพบประธานาธิบดีเอล ซัลวาดอร์ ส่วนขากลับเตรียมพบชาวจีนโพ้นทะเลในแคลิฟอเนีย โดยเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งที่ 10 นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2551
หม่า อิงจิ่ว (ซ้าย) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีน และฮวน คาร์ลอส วาเรลา (ขวา) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐปานามา ซึ่งจะเข้ารับการสาบานตนเป็นประธานาธิบดีในวันที่ 1 ก.ค. นี้ (ที่มา: วิกิพีเดีย 1, 2)
30 มิ.ย. 2557 - มีรายงานว่าตั้งแต่ช่วงค่ำวานนี้ (29 มิ.ย.) หม่า อิงจิ่ว ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีน หรือไต้หวัน เดินทางจากไต้หวันไปยังปานามา เพื่อเข้าร่วมพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีฮวน คาร์ลอส วาเรลา ในวันที่ 1 ก.ค. นี้ ทั้งนี้ตามรายงานของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และเดอะ ไชน่า โพสต์
จากนั้นในวันที่ 2 ก.ค. หม่า อิงจิ่ว จะเดินทางไปเอล ซัลวาดอร์ เพื่อพบกับประธานาธิบดีซัลวาดอร์ ซานเชส เซเรน ซึ่งเพิ่งเข้าพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ซึ่งในพิธีดังกล่าวมีนายกรัฐมนตรีไต้หวัน เจียง อี้ฮัวะ ในฐานะผู้แทนของประธานาธิบดีไต้หวัน เข้าร่วมเป็นสักขีพยานด้วย
นอกจากนี้หม่า อิงจิ่ว จะเดินทางไปพบชาวจีนโพ้นทะเลที่ซานฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟอเนีย สหรัฐอเมริกา และเติมน้ำมันที่ฮาวาย และเดินทางกลับไต้หวันในวันที่ 5 มิ.ย. นี้ด้วย ทั้งนี้นับเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศเป็นครั้งที่ 10 ของประธานาธิบดีไต้หวัน นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในเดือนพฤษภาคมปี 2551
สำหรับสาธารณรัฐจีนหรือไต้หวัน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยได้รับการรับรองจากสหประชาชาติว่าเป็นรัฐบาลจีนที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็น 1 ใน 5 ชาติสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
ต่อมาใน พ.ศ. 2492 กองทัพจีนคณะชาติหรือก๊กมินตั๋งแพ้และเสียพื้นที่ครอบครองในแผ่นดินใหญ่ให้กับกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทำให้ต้องถอยร่นไปอยู่ที่เกาะไต้หวัน จากนั้นในปี พ.ศ. 2514 สหประชาชาติได้รับรองสาธารณรัฐประชาชนจีนแทนว่าเป็นรัฐบาลจีนที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเข้าเป็นชาติสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติแทนที่ไต้หวัน
ทั้งนี้ ปัจจุบันมี 22 ประเทศที่รับรองไต้หวัน โดยส่วนใหญ่เป็นประเทศในภูมิภาคอเมริกากลาง สำหรับประเทศปานามา สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2452 หรือตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง และดำรงความสัมพันธ์แม้จะเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐจีนในปี พ.ศ. 2454 สืบจนถึงไต้หวันในปัจจุบัน
สำหรับประเทศไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันระหว่างปี พ.ศ. 2488 ถึง พ.ศ. 2518 และเปลี่ยนไปสถาปนาความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนแทน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. พ.ศ. 2518 ภายหลังการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น โดยปัจจุบัน ไต้หวันและไทย มีความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ผ่านสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ซึ่งเป็นตัวแทนของไต้หวัน ที่เข้ามาตั้งสำนักงานในกรุงเทพ ส่วนไทยมีการตั้งสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยที่ไทเปเช่นกัน
ขณะที่นโยบายต่างประเทศของไต้หวันต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงดำเนินตามนโยบาย “มุ่งสู่ใต้” (Go South Policy) ซึ่งส่งเสริมให้ชาวไต้หวันลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อลดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไต้หวันต้องพึ่งพาการลงทุนในจีน และใช้ช่องทางเศรษฐกิจกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคแห่งนี้