Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

กรัมชีกับการเมืองไทย: อำนาจเก่ากำลังจะตาย อำนาจใหม่ยังไม่สถาปนา

$
0
0

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดการบรรยายวิชาการ "กรัมชีกับการเมืองไทย"คลาวดิโอ้ชี้การเมืองไทยกำลังประสบปัญหาวิกฤตของการครองอำนาจนำ

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 คณะรัฐศาสตร์จุฬาจัดกิจกรรมบรรยายวิชาการในหัวข้อ “กรัมชีกับสังคมไทย” โดยมีผู้บรรยายคือ ดร.วัชรพล พุทธรักษา อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และ ดร.คลาวดิโอ้ โซแปรนเซตติ จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด โดยมีผู้ดำเนินรายการคือ ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วัชรพลกล่าวว่า อันโตนิโอ กรัมชีเป็นนักคิดที่มีอิทธิพลมากในการศึกษาทางรัฐศาสตร์ กรัมชีเป็นนักคิดชาวอิตาลีที่มีชีวิตอยู่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 การปฏิวัติรัสเซียในปี ค.ศ. 1917 เป็นแรงบันดาลให้กรัมชีหันมาสนใจแนวคิดสังคมนิยม และเข้ากับพรรคฝ่ายซ้ายของอิตาลี แต่ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่พรรคฟาสซิสม์ของมุโสลินีกำลังครองอำนาจ และเริ่มนโยบายปราบปรามพรรคฝ่ายซ้ายอย่างเข้มงวด กรัมชีจึงถูกจำคุกในปี ค.ศ. 1926 และเสียชีวิตในคุกเมื่อปี ค.ศ. 1937 ด้วยวัยเพียง 47 ปีเท่านั้น

กรัมชีใช้เวลาในคุกส่วนใหญ่เพื่อพัฒนาแนวคิดของเขา โดยโจทย์ใหญ่ที่เขาพยายามหาคำตอบก็คือเหตุใดชนชั้นแรงงานในอิตาลีในขณะนั้นซึ่งเป็นสังคมทุนนิยมที่อิ่มตัวจึงไม่ทำการปฏิวัติทางชนชั้น โดยแนวคิดของกรัมชีที่จะขอยกมาในวันนี้มีอยู่ 4 ประเด็นคือ 1. การวิพากษ์แนวคิดจักรกลนิยม (Critique of Economism) 2. กลุ่มพลังทางสังคม (Social forces) 3. การครองอำนาจนำ และกลุ่มก้อนทางประวัติศาสตร์ (Hegemony and Historical bloc) และ 4. วิกฤตของอำนาจนำ (Crisis of Hegemony)

ในหัวข้อเรื่องการวิพากษ์แนวคิดจักรกลนิยม กรัมชีได้วิพากษ์แนวคิดที่ว่ากงล้อทางประวัติศาสตร์จะดำเนินไปในทิศทางที่แน่นอนด้วยตัวของมันเอง กล่าวคือเขาวิพากษ์แนวคิดที่ว่าประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติมิได้เป็นสูตรสำเร็จว่าต้องเข้าสู่ระบบทุนนิยมและสิ้นสุดลงด้วยการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพตามที่มาร์กซ์กล่าวไว้เสมอไป กระบวนการดังกล่าวสามารถถูกชะลอได้เพราะสังคมมิได้มีแค่ชนชั้นกรรมาชีพที่เป็นโครงสร้างส่วนล่างเท่านั้น แต่ยังมีโครงสร้างส่วนบนเช่นผู้ปกครอง กฎหมาย ศาสนา ศิลปะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นผลพวงของโครงสร้างส่วนล่างเสมอไป แต่ในทางกลับกัน มันมีอิสระในตัวเองและสามารถลงไปควบคุมโครงสร้างส่วนล่างหรือชนชั้นกรรมาชีพมิให้ลุกขึ้นมาทำการปฏิวัติได้ด้วย

โดยกรัมชีได้อธิบายความสัมพันธ์ของโครงสร้างส่วนบนและส่วนล่างออกมาในรูปแบบของรัฐบูรณาการ (integral state) คือรัฐที่มีการใช้ความรุนแรงโดยตรงผ่านสังคมการเมือง (political society) เช่น การใช้ทหาร ตำรวจ และการใช้ความรุนแรงทางอ้อมผ่านประชาสังคม (civil society) อันเป็นความรุนแรงที่ผู้กระทำไม่ใช่รัฐ เช่น การใช้อุดมการณ์กระตุ้นให้มวลชนหันมาคุกคามประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐ ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ รัฐจะต้องมีโครงสร้างส่วนบนที่แข็งแกร่ง

หัวข้อที่สองคือเรื่องกลุ่มพลังทางสังคม กลุ่มพลังทางสังคมเป็นหน่วยในการวิเคราะห์ (unit of analysis) ที่กรัมชีให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง ในช่วงแรกผู้ที่อ่านงานกรัมชีมักจะคิดว่ากรัมชีเลือกใช้คำว่ากลุ่มพลังทางสังคมแทนคำว่า ชนชั้น (class) ซึ่งเป็นแนวคิดของมาร์กซ์ เนื่องจากต้องการหลบเลี่ยงการตรวจสอบจากผู้คุม เพราะการกล่าวถึงแนวคิดของมาร์กซ์ในช่วงเวลาดังกล่าวไม่สามารถทำได้

อย่างไรก็ตาม Marcus Green เป็นนักคิดสายกรัมเชี่ยนที่เสนอว่าจริงๆ แล้วกรัมชีตั้งใจจะใช้คำว่ากลุ่มพลังทางสังคมจริงๆ ซึ่งเมื่อมองในแง่นี้จะทำให้หน่วยการวิเคราะห์ของกรัมชีมีความลื่นไหลกว่าแนวคิดของมาร์กซ์ เพราะในกลุ่มทางสังคมกลุ่มหนึ่งก็ประกอบจากคนหลายชนชั้น เช่นม็อบ กปปส. กรัมชีมิได้สนใจพฤติกรรมทางการเมืองของกลุ่มพลังทางสังคม แต่เขาสนใจความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างกลุ่มทางสังคม และดุลยภาพของการกดขี่

กรัมชีมองว่าสงครามเป็นเครื่องมือที่จะปรับสมดุลของกลุ่มทางสังคม การทำสงครามที่กรัมชีให้ความสนใจคือสงครามการเข้ายึดชิงพื้นที่ทางความคิด (War of position) คือเป็นสงครามที่ต่างฝ่ายต่างพยายามสถาปนาความคิดหรืออุดมการณ์บางอย่างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มทางสังคมของตน ภาพอุดมคติของสงครามในลักษณะนี้ก็คือการปฏิวัติทางชนชั้นที่กรรมาชีพสามารถใช้แนวคิดคอมมิวนิสต์เข้ายึดกุมพื้นที่ทางความคิดของสังคมทุนนิยมได้

แต่ในหลายๆ ครั้งการปฏิวัติที่เกิดขึ้นก็มักจะเป็นการปฏิวัติเฉื่อย (Passive revolution) คือเป็นการปฏิวัติโดยชนชั้นนำที่ไม่มีมวลชนเข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเป็นการดึงเอากลุ่มอำนาจเก่าให้กลับเข้ามาสู่ระบบการเมือง เช่นที่เกิดขึ้นในรัฐประหารปี 2549 ก็สามารถมองได้ว่าเป็นการปฏิวัติเฉื่อยได้เช่นกัน การปฏิวัติจึงไม่ใช่เครื่องมือของชนชั้นกรรมาชีพแต่เพียงอย่างเดียว ในบางครั้งชนชั้นนำอาจจะอ้างความชอบธรรมของมวลชนเพื่อเข้าทำการปฏิวัติแต่จริงๆ ก็มิได้ทำเพื่อประชาชน
 
หัวข้อที่สามคือเรื่องการครองอำนาจนำ และกลุ่มทางประวัติศาสตร์ คำนิยามของการครองอำนาจนำ (Hegemony) ที่คนศึกษากรัมชีให้ความนิยมกันคือของ Gwyn William ได้ให้คำนิยาม Hegemony เอาไว้ว่าเป็นความสามารถในการนำสังคมได้ ณ ห้วงขณะหนึ่ง (Moment) ห้วงเวลามีความสำคัญมากเมื่อเราพูดถึงการครองอำนาจนำ เพราะอำนาจนำจะถูกท้าทาย และสั่นคลอนตลอดเวลา ทั้งนี้เนื่องจากมันสัมพันธ์โดยตรงกับกลุ่มทางประวัติศาสตร์ (Historical Bloc) กลุ่มทางประวัติศาสตร์คือแนวคิดที่ว่ากลุ่มทางสังคมแต่ละกลุ่มมีความสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนทั้งในเชิงสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และอุดมการณ์ ณ ห้วงขณะหนึ่งๆ ในประวัติศาสตร์ เช่นในยุคหนึ่ง ประเทศไทยเคยปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มีระบบการปกครองแบบรวมศูนย์ อำนาจทางเศรษฐกิจอยู่ที่เจ้าขุนมูลนาย มีอุดมการณ์แบบอนุรักษนิยมครอบงำสังคมอยู่ ถือเป็นกลุ่มทางประวัติศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ซึ่งกลุ่มทางประวัติศาสตร์เช่นนี้จะเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาเพราะจะมีแรงต่อต้านที่จะขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอำนาจที่ครอบงำอยู่ในขณะนั้นอยู่เสมอ

โดยผู้ที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงกลุ่มทางประวัติศาสตร์ก็คือปัญญาชน (Intellectuals) มาร์กซ์ และกรัมชีมีความคิดเหมือนกันนั่นคือเชื่อว่ามนุษย์คือผู้เขียนประวัติศาสตร์ (Man is the maker of history) ปัญญาชนคือผู้ที่จะเข้ามาสร้างอุดมการณ์เพื่อท้าทายกลุ่มทางประวัติศาสตร์ที่ครอบงำสังคมอยู่ ซึ่งเราจะแบ่งปัญญาชนออกได้เป็น 2 ประเภทคือปัญญาชนที่ยึดโยงกับชนชั้น คือปัญญาชนที่พยายามสร้างอุดมการณ์ และต่อสู้ในนามของชนชั้นตน และปัญญาชนที่ก้าวข้ามชนชั้น คือปัญญาชนที่สะท้อนปัญหา และผลประโยชน์ของหลากหลายชนชั้น สุเทพ เทือกสุบรรณเป็นตัวอย่างหนึ่งของปัญญาชนที่ก้าวข้ามชนชั้น เพราะเขาสะท้อนปัญหาที่มีร่วมกันของคนในชนชั้นนั่นคือปัญหาคอรัปชั่น และพยายามที่จะท้าทายกลุ่มทางประวัติศาสตร์ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน นั่นคือระบอบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกลุ่มทางประวัติศาสตร์

แนวคิดสุดท้ายคือเรื่องวิกฤตของการครองอำนาจนำ เนื่องจากอำนาจมีการเคลื่อนไหว และถูกท้าทายอยู่ตลอดเวลาเมื่อถูกท้าทายมากเข้าก็จะเกิดวิกฤต โดยกรัมชีกล่าวว่าวิกฤตของอำนาจนำจะเกิดขึ้นเมื่อชนชั้นปกครองสูญเสียศรัทธา หรือความชอบธรรมในการปกครอง กล่าวคือกำลังจะตาย ผู้ถูกปกครองเริ่มตื่นตัวและออกมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง แต่กลุ่มอำนาจใหม่ที่มีพลังมากพอที่จะเข้ามาปกครองก็ยังไม่สามารถสถาปนาตัวเองได้อย่างเต็มที่ ในภาวะเช่นนี้จะมีโอกาสสูงมากที่จะนำไปสู่การปฏิวัติไม่ว่าจากมวลชน หรือการปฏิวัติเฉื่อย

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือช่วงท้ายของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ก่อนจะถูกรัฐประหาร ตัวทักษิณเองกำลังสูญเสียความชอบธรรมในการปกครอง มีประชาชนจำนวนมากออกมาชุมนุมเรียกร้องให้ทักษิณลาออก แต่ก็ยังไม่มีกลุ่มทางการเมืองใดที่จะสามารถเข้ามาบริหารประเทศแทนทักษิณได้ สุดท้ายทหารจึงเข้าทำรัฐประหารกลายเป็นการปฏิวัติที่เฉื่อยชา ในปี 2549

โดยสรุปแล้วกรัมชีทำให้เราเห็นปัญหา 3 ประการในสังคมไทยได้แก่ 1. ปัญหาในเชิงเศรษฐกิจการเมืองที่ยังคงมีช่องว่างทางรายได้ที่สูง 2. ปัญหาเรื่องการครอบงำทางอุดมการณ์ (ideological hegemony) ที่ล้นเกิน อันเป็นโครงสร้างส่วนบนที่รัฐใช้ในการกดทับไม่ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจลุกขึ้นมาท้าทาย หรือเปลี่ยนแปลงสังคม และ 3. การครอบงำผ่านกระบวนยุติธรรม (Juridico-hegemony) คือเมื่อการใช้อุดมการณ์ครอบงำไม่ประสบผลสำเร็จ ก็ต้องใช้การแทรกแซงกระบวนการทางกฎหมายซึ่งเป็นโครงสร้างส่วนบนอีกตัวหนึ่งในการควบคุมกระแสต่อต้าน หรือบั่นทอนกลุ่มอำนาจใหม่ที่ขึ้นมาท้าทาย

คลาวดิโอ้กล่าวว่า แนวคิดที่ทรงพลังของกรัมชีที่สอดคล้องกับการเมืองไทยในขณะนี้คือเรื่องวิกฤตของการครองอำนาจนำ เราจะเห็นได้ว่า คสช. ในขณะนี้กำลังสูญเสียการครองอำนาจนำลงไปอย่างต่อเนื่อง พวกเขาหมดความชอบธรรมในเชิงอุดมการณ์และศรัทธาจากประชาชนส่วนใหญ่ แนวคิดเรื่องการคืนความสุขไม่สามารถใช้ได้ ทำได้เพียงแต่ใช้กำลังควบคุมพฤติกรรมคนในสังคมเท่านั้น ไม่ใช่เพียงแค่ศรัทธาในตัว คสช. เท่านั้น คนส่วนใหญ่ที่ออกมาต่อต้านทหารในช่วงนี้ก็กำลังเสื่อมศรัทธาในระบอบเก่าลงไปด้วย แต่สิ่งที่ขัดขวางไม่ให้เกิดการล้มรัฐบาล คสช. คือการที่กลุ่มอำนาจใหม่ยังไม่สามารถสถาปนาตัวเองได้ คสช. เองก็เข้าใจในจุดนี้จึงพยายามกำราบกลุ่มที่มีศักยภาพพอที่จะสถาปนาตัวเองขึ้นไปเป็นระบอบใหม่จนหมดผ่านการเรียกตัวแกนนำกลุ่มต่างๆ เข้าไปพบและให้ยอมสยบกับ คสช.

นอกจากนี้การจะวิเคราะห์สังคมในแนวทางของกรัมชีจะเป็นไปไม่ได้เลยหากเราไม่มีการนำบริบททางประวัติศาสตร์เข้ามาพิจารณา เพราะกรัมชีเป็นนักวิเคราะห์ (Analysist) ไม่ใช่นักทฤษฎี (Theorist)

สำหรับคลาวดิโอ้ กลุ่มทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของการเมืองไทยคือในช่วงปี 2496-2528 ที่รัฐบาลมีนโยบายลดภาษีการส่งออกข้าว ทำให้พืชผลทางการเกษตรมีราคาต่ำ ค่าแรงจึงต่ำลงไปด้วย ความร่ำรวยกระจุกตัวอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรมในเมือง คนชนบทมีฐานะความเป็นอยู่ที่ยากจนตามทฤษฎีมาร์กซิสต์ จนชนบทควรจะออกมาเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่เนื่องจากวาทกรรม “การพัฒนา” ที่ครอบงำสังคมอยู่ทำให้ประชาชนเชื่อว่าความยากจน หรือผู้ที่เสียผลประโยชน์เป็นธรรมชาติของระบบเศรษฐกิจการเมือง ถ้าอยากจะมีฐานะที่ดีก็ต้องละทิ้งที่นา และเข้าไปทำงานในเมือง คนจนจึงไม่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง เนื่องจากกลุ่มทางประวัติศาสตร์ และอุดมการณ์ที่ครอบงำพวกเขาอยู่

อย่างไรก็ตาม ในปี 2540 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่เข้ามาสั่นคลอนระบอบเศรษฐกิจแบบเก่า ทำให้คนเริ่มตั้งคำถามกับวาทกรรมการพัฒนา ประกอบกับระบอบทักษิณที่ก้าวขึ้นมาทำให้เกิดการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจกำลังสถาปนาตัวเองขึ้น แต่ยังไม่แข็งแรงมากพอ อำนาจเก่าจึงฉวยโอกาสปฏิวัติในปี 2549 แต่ก็ถือเป็นการปฏิวัติที่เฉื่อยชาอยู่ดี เพราะเป็นการรื้อฟื้นอำนาจเก่าที่กำลังจะตาย และกำจัดระบอบใหม่ที่กำลังจะสถาปนาตัวเองออกไป

อย่างไรก็ตาม เราอาจจะมองได้ว่าทักษิณต่างหากที่เป็นการปฏิวัติที่เฉื่อยชา เพราะแม้ทักษิณจะทำให้คนชนบทมีฐานะดีขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถเทียบได้กับคนรวยที่อาศัยอยู่ในเมือง การปฏิวัติอย่างถอนรากถอนโคนอย่างที่กรัมชีต้องการจึงไม่เกิดขึ้น อีกทั้งทักษิณยังทำให้คนเชื่อว่าหากสู้เพื่อประชาธิปไตยแล้ว ปัญหาของคนชนบทก็จะได้รับการแก้ไขไปเองซึ่งก็ไม่ต่างจากสุเทพที่อ้างว่าหากแก้ปัญหาคอรัปชั่นได้ ปัญหาทุกอย่างก็จะคลี่คลายซึ่งถือเป็นการเอาอุดมการณ์บางอย่างเพื่อทำให้ผู้ถูกปกครองหลงลืมผลประโยชน์และอุดมการณ์ของชนชั้นตนไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles