(26 เม.ย.56) เครือข่ายแรงงานเอเชียเพื่อตรวจสอบเงินกู้จากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ/ประเทศไทย (ALNI) แถลงผลศึกษาสำรวจสิทธิแรงงานพื้นฐานของคนงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง เส้นทางบางซื่อ-บางใหญ่ ซึ่งรัฐบาลไทยกู้เงินจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA)
ชาลี ลอยสูง ประธาน ALNI ประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา สถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น IMF ADB ต่างก็ยอมรับมาตรฐานแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) แต่ JICA ที่ให้โครงการขนาดใหญ่ของไทยกู้เงินหลายโครงการยังไม่ยอมรับมาตรฐานนี้ ANLI จึงจัดทำสำรวจคนงานในพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง
เพื่อตรวจสอบว่ามีการละเมิดสิทธิแรงงานหรือไม่
ชาลี กล่าวว่า ในการทำสำรวจ ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยส่วนใหญ่ปฏิเสธการขอเข้าไปทำแบบสอบถาม ขณะที่ในการเก็บข้อมูล มีหัวหน้าลงพื้นที่ด้วย ข้อมูลที่ได้อาจไม่สมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม พบว่า สภาพความเป็นอยู่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย สภาวะอากาศที่ร้อน พนักงานหญิงไม่มีที่พักเป็นสัดส่วน ทำให้เกิดปัญหาเรื่องสถาบันครอบครัว เด็กเล็กไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง เข้าถึงการศึกษาน้อยมาก ขณะที่คนงานมีความรู้เรื่องสิทธิการรวมตัวน้อยมาก แทบไม่รู้จักสหภาพแรงงาน การเจรจาต่อรองกับนายจ้าง สิทธิผลประโยชน์สวัสดิการต่างๆ
ชาลี กล่าวต่อว่า ดังนั้น ALNI จึงเรียกร้องให้ JICA ประกาศรับรองมาตรฐานแรงงานหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เพื่อให้เกิดสิทธิการรวมตัว สิทธิเจรจาต่อรอง และมีอิสระในการเดินทางของคนงาน พร้อมระบุด้วยว่า ในอนาคตจะมีโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่อีกมาก ทั้งในโปรเจคน้ำท่วม รถไฟฟ้าความเร็วสูง ก็จะต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง
โรเบิร์ต พาสกอฟสกี ผู้อำนวยการโซลิดาริตี้เซ็นเตอร์ ประเทศไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์กรแรงงาน กล่าวว่า นี่เป็นโครงการขนาดใหญ่ แต่คนงานกลับมีสภาพการทำงานที่แย่มาก พร้อมตั้งคำถามว่า ถ้าบริษัทใหญ่ไม่สามารถให้ค่าจ้างและสวัสดิการที่ดีได้ จะหวังอะไรกับค่าจ้างของคนงานในสถานประกอบการขนาดเล็ก
บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิจัยด้านสิทธิแรงงาน มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน เล่าถึงภาพรวมของแบบสอบถามที่สุ่มสัมภาษณ์คนงานก่อสร้างในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงจำนวน 178 คน พบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย สัญชาติไทย และสมัครงานด้วยตนเอง หรือเพื่อน-เครือญาติชักชวนมา โดยมักทำงานล่วงเวลาเป็นประจำ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอแก่การครองชีพของตนเองและครอบครัว โดยถูกจ้างเป็นรายวัน ซึ่งหมายถึงวันไหนไม่มาทำงานไม่ว่าเพราะเหตุใด ก็จะไม่ได้ค่าจ้าง โดยหากไม่สมัครใจทำงานล่วงเวลา ส่วนใหญ่ก็ไม่ถูกลงโทษ มีเพียงจำนวนน้อยที่ถูกหัวหน้างานตักเตือนหรือตัดโอกาสทำงานล่วงเวลาเป็นเวลานานหรือถูกหักค่าจ้างบ้าง
พุทธิ เนติประวัติ นักจัดตั้ง สมาพันธ์แรงงานก่อสร้างและคนทำไม้สากล ยกตัวอย่างโครงการบูรณะนครวัด ในกัมพูชา ซึ่งกู้เงินจากฝรั่งเศสว่า ฝรั่งเศสมีข้อบังคับให้บริษัทที่กู้เงิน ต้องให้คนงานมีองค์กรเจรจาต่อรองกับนายจ้าง ซึ่งทำให้เห็นว่าเจ้าของเงินกู้สามารถเข้ามามีบทบาทในการปรับปรุงมาตรฐานแรงงานได้
ก่อสร้าง
ที่พักคนงาน
คนงานก่อสร้าง