สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ (Deep South Women Association for Peace) จากนักศึกษาสู่คนทำงานเพื่อสังคม ที่รู้จักในนาม ‘Deep Peace’ บทบาทเพื่อช่วยเหลือเด็กกำพร้า และความหมายเพื่อ‘สร้างสันติภาพ’ ผ่านบทสัมภาษณ์ ‘นูรีซาน ดอเลาะ’
ในชายแดนใต้ มีไม่กี่องค์กรที่ทำงานด้านสตรีและเด็กกำพร้าอันเนื่องมาจากปัญหาความไม่สงบ หนึ่งในนั้นคือ สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ (Deep South Women Association for Peace) หรือที่รู้จักในนาม ‘Deep Peace’
ในห้วงแห่งความพยายามสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ องค์กรนี้มีมุมมองอย่างไร และในบทบาทที่มีจะมีส่วนสร้างกระบวนการสันติภาพอย่าง ‘นูรีซาน ดอเลาะ’ นายกสมาคมจะฉายภาพแห่งความหวังนี้ผ่านบทบาทหน้าที่ขององค์กร ดังนี้
.......................
“สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ (Deep South Women Association For Peace) หรือ Deep Peace เกิดจากเหตุชุมชนหน้ามัสยิดกลางปัตตานีเมื่อปี 2551 โดยการเริ่มรวมตัวของลุ่มนักศึกษาที่มาจากกรุงเทพฯ จากนั้นเริ่มมีคนที่สนใจทำงานเรื่องนี้มากขึ้น
ปี 2551 เป็นปีที่มีความรุนแรงที่มากขึ้นตั้งแต่ปี 2547 มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าเด็ก ผู้หญิง แต่หน่วยงานที่จะมารองรับเรื่องนี้มีน้อย ตอนนั้น เราเป็นนักศึกษาอยู่ และคนที่เรียนจบใหม่ๆ ถือว่าเป็นคนหนึ่งในสังคม เราควรที่จะมีบทบาทอะไรบ้าง จึงอยากทำอะไรสักอย่างให้คนในพื้นที่
เริ่มจากการทำงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆก่อน จึงเริ่มเห็นอะไรหลายๆอย่าง เห็นมีเด็กกำพร้า เด็กที่ได้รับผลกระทบ และผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก จึงคิดตั้งเป็นสมาคมอย่างเป็นทางการ จากการที่มีเครือข่ายอยู่แล้ว
บทบาทหน้าที่หลักๆ ไม่ใช่แค่การเยียวยา แต่จะให้คนที่ได้รับผลกระทบสามารถลุกขึ้นมายืนยัดต่อสู้และยืนด้วยลำแข็งของตัวเองให้ได้ เราไม่อยากให้เป็นผู้รับอย่างเดียวตลอด อยากให้เขาเป็นผู้ให้ด้วย จะให้เขาเป็นผู้นำในอนาคตได้ด้วย นี่คือเป้าหมายของ Deep Peace
ในการช่วยเหลือเด็กกำพร้า มีกิจกรรรมลงพื้นที่พบปะ การให้ทุนการศึกษาที่มีการติดตามผลด้วย
ตอนนี้เรามีโรงเรียนที่เปรียบเสมือนบ้านของเด็กกำพร้า ที่เข้าร่วมกิจกรรมของ Deep peace ทั้งหมด 5 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนดำรงวิทยา ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา เป็นนักเรียนหญิง 12 คน โรงเรียนสุทธิศาสน์วิทยา ต.บ้านแหร อ.ธารโต อ.ยะลา ชาย 8 คน โรงเรียนอนุรักษ์อิสลาม ต.ยี่งอ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส หญิง 5 คน ชาย 7 คน โรงเรียนมูลนิธิชุมชนอิสลามศึกษา ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี หญิง 9 คน ชาย 7 คน และโรงเรียนทางธรรมวิทยามูลนิธิ อ.เทพา จ.สงขลา หญิง 2 คน ชาย 2 คน รวมทั้งหมด 52 คน โดยใช้ค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 130,000 บาทต่อเดือน
วิธีการ คือ จะมีพี่เลี้ยงเป็นคนดูแลเด็กกำพร้า โดยเด็กกำพร้าเหล่านั้นจะต้องเรียนเหมือนเด็กทั่วไปแต่นอกเวลาเรียน ทางพี่เลี้ยงจะรับไปดูแลเสมือนเป็นผู้ปกครองที่ต้องดูแลเขาแทนพ่อแม่ เพราะเด็กเหล่านี้ไม่มีพ่อแต่มีแม่ หากให้แม่อยู่กับเขาด้วย เขาจะดูแลตัวเองได้อย่างไร กิจกรรมเหล่านี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียนว่าจะทำอย่างไร
ส่วนพี่เลี้ยง ก็มาจากคนในพื้นที่ที่มีจิตอาสา เดิมพี่เลี้ยงคืออาจารย์หรืออุสตาซ(ครูสอนศาสนา) จากโรงเรียนนั้นๆ พี่เลี้ยงจะดูแลเด็กนอกเหนือเวลาเรียนเท่านั้น พี่เลี้ยงบางคนสามารถดูแลเด็กในช่วงเวลากลางคืนได้
โรงเรียนที่รับดูแลเด็กกำพร้า ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนปอเนาะ ทั้งเด็กและพี่เลี้ยงก็จะอยู่ประจำที่โรงเรียนนั้นเลย
เด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กกำพร้าจากเหตุไม่สงบ มีเด็กที่ลำบากยากจนด้วย ทาง Deep Peace จะดูแลผ่านทางพี่เลี้ยง ทั้งค่าเทอมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามงบสนับสนุนหรือเงินสมทบที่ได้รับในแต่ละปี Deep Peace ไม่มีแหล่งทุนสนับสนุน แต่มาจากคนทั่วไปบริจาค
Deep Peace จะพยายามไม่ให้ทุนเด็กซ้ำๆ จะปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมและทั่วถึง เด็กที่จะได้รับทุน ต้องมีเงื่อนไข เช่น ต้องได้เกรดในระดับดี หรือได้เกรดไม่ลดระดับลงจากที่เคยได้ เด็กบางคนอาจพิจารณาเรื่องการทำกิจกรรม แล้วแต่ความเหมาะสม
ตอนนี้เด็กที่อยู่ในการดูแลของ Deep Peace อยู่ที่ 48 คน เป้าหมายคือ 60 คน เนื่องจากงบประมาณน้อยและได้รับจากการบริจาคเท่านั้น แต่ถ้าปีไหนมีงบประมาณมาก ก็จะจัดค่ายกิจกรรมเด็ก โดยเชิญเด็กกำพร้าและแม่บ้านทั่วไปเข้าร่วม”
มหกรรมพื้นที่ 3 สีเพื่อสันติภาพ
“ทุกปี Deep Peace จะจัดกิจกรรมค่าย แต่ปีนี้เปลี่ยนเป็นการจัดมหกรรม คือ มหกรรมเด็กกำพร้าและสตรีจังหวัดชายแดนใต้ ตอน มหกรรมพื้นที่ 3 สีเพื่อสันติภาพ ในวันที่ 27 – 28 เมษายน 2556 ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ร่วมกับองค์กรภาคีร่วม 16 องค์กร มีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กกำพร้าและสตรีที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบเข้าร่วม
จุดประสงค์ เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาของเด็กกำพร้าและสตรีที่ได้รับผลกระทบมากจากเหตุไม่สงบตลอด 9 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมความรับผิดชอบพร้อมกันในเรื่องนี้
ในวันนั้นจะมีเสียงของคนในพื้นที่ เพื่อให้ผู้คนที่ไม่ได้ประสบเหตุได้รับรู้และเข้าใจ จะให้ประชาชนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเด็นปัญหาในพื้นที่และการหาทางออก เป็นพื้นที่ให้ประชาชนรากหญ้าได้แสดงความคิดเห็นอย่างปลอดภัย ตลอดจนให้ผู้ที่ต้องการช่วยเหลือได้เจอกับผู้ที่ต้องการรับความช่วยเหลือ
เพื่อให้ประชาชนตระหนักและความสามารถที่จะกำหนดชะตากรรมของตนเองได้ รวมทั้งสามารถขับเคลื่อนสังคมไปสู่สันติภาพที่แท้จริงได้ต่อไป
ส่วนสันติภาพในมุมมองของ Deep Peace คือมุมมองของอิสลาม ซึ่งอิสลามมีความหมายว่า สันติภาพอยู่แล้ว ดังนั้นเป้าหมายของศาสนาอิสลามจึงหมายถึงสันติภาพ
ดังนั้นการดูแลเด็กกำพร้าก็ถือว่าเป็นกระบวนการสันติภาพอย่างหนึ่ง เพราะเป็นการทำหน้าที่ตามที่ศาสนาอิสลามกำหนดเช่นกัน และยังมองอีกว่า หากการสร้างสันติภาพเกิดขึ้นด้วยความจริงใจและเข้าใจ ก็จะสามารถทำให้สันติภาพเกิดขึ้นได้”
............