Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

‘สุภิญญา’ ค้านใช้เงิน กทปส.จ่าย RS หวั่นกระทบธรรมาภิบาลองค์กร!–ผู้บริโภคแนะใช้เงินโฆษณาแทนเงินกองทุนฯ

$
0
0
‘สุภิญญา’ ทำหนังสือถึง กสทช.ร้องเจรจา RS เพื่อคุ้มครองประโยชน์ประชาชน พร้อมเชิญ RS-ทรูวิชั่นส์ ร่วมหาทางเยียวยาผู้บริโภคพรุ่งนี้ ด้านผู้บริโภคเสนอใช้เงินโฆษณาจากช่อง 5-ช่อง 7 จ่ายสมทบค่าลิขสิทธิ์ พร้อมขอ RS คืนเงินค่ากล่อง
 
 
12 มิ.ย. 2557 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยเหตุผลคัดค้าน ต่อกรณีการสนับสนุนนำเงินจาก กองทุนวิจัยฯ ตามที่คณะกรรมการบริการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ได้เสนอให้พิจารณากรอบวงเงินราว 427 ล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้แก่ บริษัทอาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมแนจเม้นท์ จำกัด ในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์ ถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2014 รวม 64 นัด เนื่องจาก ความกังวลต่อความสอดคล้องของวัตถุประสงค์ของกองทุนวิจัยฯ ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553
 
รวมทั้งการพิจารณาครั้งนี้เป็นกระบวนการพิจารณาอย่างกะทันหัน ในระยะเวลาที่กระชั้นชิด โดยที่ยังไม่ได้มีการการประเมินผลกระทบอย่างรอบคอบรอบด้าน โดยก่อนหน้านี้ ตนได้ทำหนังสือถึง เลขาธิการ กสทช. ลงวันที่ 28 เม.ย. 2557 เพื่อเสนอให้สำนักงานดำเนินการเจรจากับ อาร์เอส เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนและผู้บริโภคในการรับชมกีฬาดังกล่าว
 
“เงินกองทุนเป็นเงินสาธารณะ ไม่ใช่เงินส่วนตัวเหมือนเงินในตู้เอทีเอ็มที่เราจะกดใช้เมื่อไหร่ก็ได้ มันจะต้องมีธรรมาภิบาลความโปร่งใส ยิ่งในยุคนี้ที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ อยากให้หน่วยงานรัฐบริหารงบอย่างมีเหตุผล ส่วนตัวคิดว่า กระบวนการพิจารณาให้เงินอาร์เอสภายในวันเดียว น่าจะขัดหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และประสิทธิภาพการใช้เงินต่อการตอบสนองผลประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง” สุภิญญา กล่าว
 
ทั้งนี้ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินคดี โดยได้ระบุว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กรรมการ กสทช. ควรจะต้องกำหนดบทเฉพาะกาล หรือมาตรการชดเชย หรือบรรเทาความเสียหายของผู้ฟ้องคดีที่มีสิทธิอยู่เดิม ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มีใจความว่า เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการและคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการฯ ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการพื้นฐานบางประการ เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตจัดให้มีบริการที่เหมาะสมเพื่อประโยชน์ต่อกลุ่มบุคคลดังกล่าว โดยอาจกำหนดมาตรการใดๆเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตพิจารณาปฏิบัติตามเหมาะสม โดยอาจพิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากกองทุนหรือวิธีอื่นๆ
 
ซึ่งการพิจารณาให้งบครั้งนี้ เป็นการให้เงินแก่ บ.อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนลฯ ที่ไม่ใช่เป็นผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ตามมติ กสท. ครั้งที่ 16 วันที่ 29 เม.ย. 2556
 
ส่วนที่มาการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายนั้น สำนักงานได้คำนวณมาจาก คณะทำงานเพื่อประเมินมูลค่ากล่องรับสัญญาณสัญญาณโทรทัศน์ฯ ได้ทำการศึกษาพบว่า ต้นทุนกล่องราคาที่ 475 บาท ประกอบกับค่าเฉลี่ยค่าจัดการและกำไรอยู่ที่ 33% และต้นทุนอยู่ที่ 67% ของราคาขาย ดังนั้นค่าบริหารจัดการและกำไรควรไม่เกิน 233 บาทต่อกล่อง ซึ่งจากนี้จะชวนสาธารณะช่วยกันตรวจสอบการใช้งบประมาณของกองทุนวิจัยฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบต่อการใช้คูปองต่อไปในอนาคต
 
นางสาวสุภิญญา ระบุด้วยว่า ในวันพรุ่งนี้ (13 มิ.ย.57) เวลา 14.30 ณ ชั้น 22 ตึกเอ็กซิมแบงก์ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ได้มีมติ เชิญตัวแทนอาร์เอส PSI และทรูวิชั่นส์ มาร่วมหาแนวทางเยียวยาผู้บริโภคที่ซื้อสิทธิไป
 
 
ผู้บริโภคเสนอให้ใช้เงินค่าโฆษณาจ่ายสมทบค่าลิขสิทธิ์ให้กับ RS พร้อมขอ RS คืนเงินค่ากล่องให้กับผู้บริโภค
 
ด้าน นางสาวสารี อ่องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงกรณีถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ว่า แน่นอนว่า มีทั้งคนดีใจและเสียใจ เมื่อศาลปกครองสูงสุดยืนยันตามศาลปกครองกลางให้อาร์เอส ชนะคดีนี้ ซึ่งหมายความว่าคนไทยจะได้ชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกผ่านทางฟรีทีวี 22 แม็ทช์ ตามแผนการตลาดเดิมของบริษัท อาร์เอส ส่วนผู้ที่ต้องการชมครบทั้ง 64 แม็ทช์ คงจะต้องไปชมผ่านทางกล่องรับสัญญาณต่างๆ ที่ถูกเข้ารหัสไว้ 

นางสาวสารี กล่าวด้วยว่า มีข้อเสนอให้ใช้เงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทสป.) จ่ายสมทบค่าใช้จ่ายให้กับอาร์เอส (RS) ให้ถ่ายทอดฟุตบอลโลกในสถานีโทรทัศน์ ช่อง 5 และช่อง 7 แต่มีคนคัดค้านกันมากว่า สมควรที่จะใช้เงินกองทุนฯ ในการจ่ายตอบแทนค่าลิขสิทธิ์ให้ RS หรือไม่
 
ผลที่เกิดขึ้นก็มีพอควร นอกเหนือจากต้องตัดสินว่า เงินกองทุนฯสามารถใช้เพื่อจ่ายสมทบค่าลิขสิทธิ์ในครั้งนี้ได้หรือไม่ และหากบังคับให้ถ่ายทอดทั้งหมดในช่อง 5 และ 7 จะเกิดปัญหากับผู้บริโภคที่ซื้อกล่อง RS ไปว่าจะขอเงินคืนได้จากใครเพราะถึงไม่มีกล่องก็สามารถดูได้อยู่แล้ว
 
ข้อเสนอทางออกเรื่องนี้ที่พอจะเป็นธรรมกับทุกฝ่ายในสายตาผู้บริโภค คือ 1.ใช้งบโฆษณาที่ได้รับจากทั้งช่อง 5 และช่อง 7 จ่ายสมทบค่า ลิขสิทธิ์ให้กับ RS เพราะการถ่ายทอดสดที่เกิดขึ้น ย่อม มีผลประโยชน์เกิดขึ้น สัดส่วนของผลประโยชน์จะจัดสรรสมทบให้กับRS อย่างไร โดยไม่ต้องใช้เงินกองทุนฯ 2.RS รับผิดชอบคืนเงินค่ากล่องให้กับผู้บริโภคที่ต้องการเอาเงินคืน 
 
3.การหามาตรการป้องกันการทำสัญญาที่เกินเลยกฎหมายภายในประเทศ หรือ การจัดซื้อลิขสิทธิ์ร่วมกัน เหมือนอย่างที่เคยดำเนินการ 4.การปรับแก้ไขกฎหมาย ลิขสิทธิ์ให้เกิดสมดุล ระหว่างการคุ้มครองเจ้าของสิทธิและการคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาทั้งของไทยและต่างประเทศในปัจจุบัน ต่างกำหนดข้อยึดหยุ่นเพื่อไม่ให้การคุ้มครองสิทธิมาลุกล้ำสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารการศึกษาและประโยชน์ของสาธารณะ
 
5.พึงระวังในการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไม่ว่ากับทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา และ TPP ที่ต้องไม่เกินเลย WTO โดยเฉพาะ ไม่ให้การคุ้มครองความตกลงใหม่ ACTA (Anti Counterfeit Trade Agreement) เพราะละเมิดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารความรู้ของประชาชนผู้บริโภค
 

 
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ประกอบด้วย 1.ดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อย่างทั่วถึง ตลอดจนส่งเสริมชุมชนและสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน ตามมาตรา 51
 
2.ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร การวิจัยและพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อเทคโนโลยีด้านการใช้คลื่นความถี่ เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
 
3.ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลาการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนการดำเนินการขององค์กรซึ่งทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
 
4.สนับสนุน ส่งเสริม และคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และ 5.สนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยจัดสรรเงินให้แก่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles