ชาวกะเหรี่ยง 6 หมู่บ้านที่อาศัยในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ยื่นข้อเสนอ 6 ด้านให้รัฐเร่งสนับสนุนเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ให้เป็นจริง มีรูปธรรมที่ชัดเจน
12 มิ.ย. 2557 นายสุรพงษ์ กองจันทึก รองประธานอนุกรรมการอำนวยการเพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ในวันที่ 5 - 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา ชาวกะเหรี่ยงและนักวิชาการกว่า 200 คนจากทั่วประเทศได้จัดการประชุมเพื่อสืบสานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมเขตวัฒนธรรมพิเศษ ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 ส.ค. 2553 เรื่องแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ที่ศูนย์วัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนตำบลไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี โดยที่ประชุมได้มีมติในหลักการ "ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้"เป็นข้อเสนอ 6 ด้านแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1.ด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ต้องการการคมนาคมที่สะดวก มีถนนที่ได้รับการซ่อมแซมให้รถวิ่งสัญจรได้ต้องการไฟฟ้า โซล่าเซลล์ ไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก หรือไฟฟ้าจากภายนอก ต้องการสะพานข้ามแม่น้ำที่แข็งแรงสามารถใช้ได้ทุกฤดูกาล ต้องการสถานีอนามัยให้ทั่วถึง และต้องการสัญญาณโทรศัพท์เข้าถึงพื้นที่เพื่อติดต่อสื่อสาร
2.ด้านการจัดการทรัพยากรและที่ทำกิน ให้รัฐยอมรับและสนับสนุน"ไร่หมุนเวียน"ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ให้รัฐกำหนดขอบเขตที่ทำกินที่ชัดเจน ให้ชุมชนจัดการทรัพยากรธรรมชาติและมีสิทธิดูแลพื้นที่ด้วยตนเอง
3.ด้านสิทธิในสัญชาติ ให้รัฐดำเนินการทำบัตรประชาชนแก่ชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมติดแผ่นดินโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
4.ด้านการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม ให้รัฐและบุคคลภายนอกยอมรับกฎเกณฑ์ระเบียบของหมู่บ้าน ให้รัฐส่งเสริมวัฒนธรรมการแต่งกาย การทอผ้า ภาษา และศิลปะพื้นบ้านกะเหรี่ยง
5.ด้านการศึกษา ให้รัฐส่งเสริมการศึกษาในระบบของรัฐเพิ่มเติมชั้นเรียนและขยายโอกาสให้เรียนสูงขึ้นในโรงเรียน ส่งเสริมระบบการศึกษาเป็นระบบชุมชนจัดการศึกษาด้วยตนเอง สนับสนุนครูภูมิปัญญาในชุมชนโดยไม่จำกัดวุฒิ ส่งเสริมและสนับสนุนหลักสูตรของชุมชนเอง สนับสนุนทุนการศึกษาแก่เด็กในพื้นที่ กำหนดให้ชุดกะเหรี่ยงเป็นเครื่องแบบนักเรียน รวมทั้งสนับสนุนผู้ที่จบการศึกษาสามารถ กลับมาทำงานในชุมชน
6.ด้านกลไกการขับเคลื่อน ให้รัฐมีกลไกและหน่วยงานเข้ามาขับเคลื่อนมติคณะรัฐมนตรี 3 ส.ค. 2553โดยตรง ให้มีศูนย์วัฒนธรรมธรรมประจำในหมู่บ้าน และสนับสนุนองค์กรภายนอกต้องเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนากับหมู่บ้าน
นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ของประเทศไทย ได้รับความเดือดร้อนในปัญหาต่างๆ ที่สะสมมายาวนานเกี่ยวกับความไม่เข้าใจในวิถีชีวิตแบบกะเหรี่ยงซึ่งครอบคลุมถึงการจัดการทรัพยากรแบบธรรมชาติด้วยการทำไร่หมุนเวียน การผลิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง การให้คุณค่ากับป่าวิธีคิดในเรื่องสิทธิ ที่มิใช่เป็นกรรมสิทธิ์ และยังไม่เห็นความสำคัญของวัฒนธรรมและภาษาของชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศ ตลอดจนการจัดการระบบการศึกษาของท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 ส.ค. 2553 ได้พยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้ รวมทั้งกำหนดพื้นที่นำร่องเขตวัฒนธรรมพิเศษ กระทรวงวัฒนธรรมซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการจะต้องนำข้อเสนอเหล่านี้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการให้พื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนต่อไป
ทั้งนี้ แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ส.ค. 2553 ได้กำหนดพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโดยมีพื้นที่นำร่อง คือ 1.บ้านห้วยหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย 2.ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี 3.บ้านหนองมณฑา (มอวาคี) ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ และ 4.บ้านเลตองคุ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก โดยมอบหมายให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai