"เจมส์ แมคคอร์มิค"ซึ่งค้าเครื่องที่อ้างสรรพคุณว่าสามารถตรวจระเบิดและวัตถุนานาชนิด ในนาม ADE651 - Alpha6 - GT200 ฯลฯ ล่าสุดศาลอังกฤษได้ตัดสินว่ามีความผิดฐานฉ้อโกง โดยจะพิพากษาลงโทษในวันที่ 2 พ.ค. นี้ ขณะที่ในไทยมีผู้ถูกดำเนินคดีความมั่นคงหลังถูกค้นบ้านแล้วชี้ด้วยเครื่อง GT200
ภาพเผยแพร่โดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เมื่อเดือนมีนาคมปี 2550 เป็นภาพทหารไทยในพื้นที่ชายแดนใต้ระหว่างสาธิตการใช้อุปกรณ์ GT200 ล่าสุดศาลอังกฤษตัดสินให้นายเจมส์ แมคคอร์มิค ผู้ที่จำหน่ายอุปกรณ์ดังกล่าวมีความผิดฐานฉ้อโกง (แฟ้มภาพ/ประชาไท/กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า)
The Independentรายงานวานนี้ (23 เม.ย.) ว่าอดีตตำรวจ ซึ่งผันตัวมาเป็นนักธุรกิจชาวอังกฤษ "เจมส์ แมคคอร์มิค"อายุ 57 ปี ถูกศาลอาญากลางของอังกฤษและเวลส์ ตัดสินให้มีความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งสร้างรายได้จากการขายอุปกรณ์ที่ตั้งต้นมาจาก "ไม้หาลูกกอล์ฟ"ซึ่งราคาขายอยู่ที่ 20 เหรียญสหรัฐ หรือราว 600 บาท แต่นำไปขายกว่าชิ้นละ 40,000 เหรียญสหรัฐ หรือกว่า 1.2 ล้านบาท โดยกำไรสูงสุดเกิดจากการขายในสงครามอิรัก ซึ่งเขาขายได้ถึง 75 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2,250 ล้านบาท
โดยนายเจมส์ แมคคอร์มิค อ้างด้วยว่าเครื่องตรวจขอบเขาสามารถตรวจจับได้ทุกสิ่งตั้งแต่ระเบิดจนถึงช้าง รวมถึงสารเสพติด ของเหลวหลายชนิด อัญมณี งาช้าง และคนหาย และอุปกณ์สามารถตรวจทะลุกำแพง ใต้น้ำ และใต้ดิน อย่างไรก็ตามอุปกรณ์ที่ระบุว่าสามารถช่วยให้ผู้คนปลอดภัยจากการวางระเบิดนั้นไร้ประโยชน์ โดยสายอากาศที่อ้างว่าใช้ตรวจจับวัตถุต่างๆ ก็ไม่ได้มีวงจรเชื่อมต่ออะไร และไม่มีแหล่งพลังงาน และมีการทดสอบจากนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากและพบว่าเครื่องดังกล่าวไม่อาจใช้ได้จริงอย่างที่มีการอ้างคุณสมบัติโดยบริษัท ATSC ของนายเจมส์ แมคคอร์มิค
นอกจากอิรักแล้ว ปากีสถาน เลบานอน เม็กซิโก และไทย ซึ่งมีเหตุฆาตกรรม และความรุนแรงทางการเมือง ก็เป็นลูกค้าของเจมส์ แมคคอร์มิคด้วย นอกจากนี้ อย่างน้อยในกรณีของอิรัก ยังพบการติดสินบนในการซื้อขายอุปกรณ์นี้ด้วย โดย พล.ต.ญิฮัด อัล จาบิรี หัวหน้าศูนย์เก็บกู้วัตถุระเบิด ของกระทรวงมหาดไทยอิรัก ขณะนี้ต้องโทษจำคุกในข้อหาคอรัปชั่น โดยตัวเขาเคยกล่าวปกป้องอุปกรณ์นี้ว่า "ผมไม่แคร์ว่าพวกเขาจะพูดว่าอะไร ผมรู้จักเรื่องระเบิดมากกว่าพวกอเมริกัน และในข้อเท็จจริงผมรู้เรื่องระเบิดมากกว่าใครในโลก"
ไนเจล ร็อค ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนประจำสถานีตำรวจ Avon and Somerset ซึ่งสืบสวนในคดีดังกล่าวได้เตือนว่า "อุปกรณ์ตรวจจับ"ยังคงถูกใช้ในบางประเทศ "อุปกรณ์ตรวจจับซึ่งถูกใช้และยังคงใช้ที่จุดตรวจนั้น คนที่ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวยังเชื่อว่ามันใช้งานได้ จริงๆ มันใช้งานไม่ได้ พวกเรารับทราบหลักฐานจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ และผู้นำในสาขานั้นๆ จำนวนมาก และผู้ที่ระบุว่าอุปกรณ์นี้เป็นการฉ้อโกงและปลอมแปลง"
โดยนายเจมส์ แมคคอร์มิค เป็นเจ้าของบ้านมูลค่า 3.5 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 155.75 ล้านบาท ที่เซอร์คัส เมืองซัมเมอร์เซ็ท ซึ่งมีนิโคลัส เคทเป็นเพื่อนบ้าน เขายังเป็นเจ้าของเรือยอร์ชมูลค่า 6 แสนปอนด์ หรือ 26.7 ล้านบาท และยังเป็นเจ้าของบ้านไร่พร้อมคอกม้ามูลค่า 2 ล้านปอนด์ หรือ 89 ล้านบาท ทั้งนี้ศาลตั้งวงเงินของคำสั่งห้ามเอาไว้ 7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ทรัพย์สินอื่นๆ ของเขากำลังถูกสืบสวน อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่พบทรัพย์สินที่เป็นเงินสดจำนวนมาก
ขณะที่ ศาลกำหนดอ่านคำพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีนี้ ในวันที่ 2 พ.ค.
GT200 ในกองทัพไทย และผู้ได้รับผลกระทบ
ก่อนหน้านี้ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ให้สัมภาษณ์เรื่อง GT200 ในรายการ เรื่องเด่นเย็นนี้ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เมื่อปี 2553 ว่า "ผมอยากขยายความหลักการทำงานนิดหนึ่ง สสารทุกอย่างในโลกมนุษย์ จะมีสนามแม่เหล็กของมัน ซึ่งจะแตกต่างกัน หลักการของการใช้เครื่อง GT200 ก็คือ เราจะตรวจหาอะไร เราก็เอาสารชนิดนั้นมาทำเป็นเซ็นเซอร์การ์ดแล้วใส่เข้าไปในนี้ ซึ่งก็จะมีสนามแม่เหล็กเกิดขึ้น สมมติว่าเราใส่เรื่องของยาเสพติด ยาไอซ์เข้าไป เมื่อเครื่องทำงานก็จะไปตรงกับยาไอซ์ ซึ่งอยู่ในภูมิประเทศที่เรากำลังหา เนื่องจากมีสนามแม่เหล็กที่ตรงกัน ตัวเสาสัญญาณจะเบนไปหา แต่ลักษณะการใช้เครื่อง GT200 จะเหมือนการใช้แผนที่เข็มทิศ ก็คือต้องเดินสอบ เขาเรียกสอบแนวเส้นเล็ง เดินตามแกน X แกน Y เพื่อให้แนวเส้นเล็กตัดกัน จะกำหนดเป็นพื้นที่คร่าวๆ ได้ อาจจะรัศมี 3 เมตร จริงๆ แล้วในการปฏิบัติเพื่อกำหนดพื้นที่ให้แคบลง ว่าตรงไหนมีความน่าจะเป็นที่จะมีวัตถุระเบิดหรือวัสดุที่เราจะหาอยู่"
อนึ่ง เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 53 พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เคยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ทีวีไทยช่วงทันข่าวเด่น โดยยืนยันว่าทางหน่วยงานจะยังใช้เครื่อง จีที 200 ต่อไปเป็นส่วนเสริม เพื่อตีวงการตรวจสอบวัตถุระเบิดให้แคบลง และว่าเครื่องจีที 200 นั้นหน่วยงานยังใช้ได้ผล และยืนยันว่าหน่วยงานจะยังใช้ต่อไป ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นห้ามซื้อ แต่ไม่ได้ห้ามใช้ ในปัจจุบันยังไม่มีอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพมาทดแทน นอกจากนี้มีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ดังกล่าว เพราะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถตรวจสอบวัตถุระเบิดได้ยาก
ขณะเดียวกัน มีราษฎรใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา อย่างน้อย 4 ราย เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องตรวจวัตถุระเบิด หรือ จีที 200 ด้วย โดยถูกออกหมายจับและดำเนินคดี เนื่องจากถูกตรวจค้นบ้านและถูกชี้ด้วยเครื่องจีที 200 โดยประชาไทเคยนำเสนอเรื่องมาแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2553 (อ่านต่อที่นี่)
โดยนายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ หัวหน้าศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดยะลา เคยให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่เครื่อง GT 200 ชี้ไปยังบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการตั้งข้อสมมติฐานว่า น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดคือมีการพบสารระเบิดติดอยู่ที่เสื้อผ้า จากนั้นผู้ที่ถูกเครื่อง GT200 ชี้ จะถูกนำตัวไปสอบสวนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยบุคคลเหล่านั้นจะถูกข่มขู่ หรือบังคับให้รับสารภาพ หรือบางกรณีก็ถูกทำร้ายร่างกาย โดยไม่สามารถหาข้อมูลมาหักล้างได้เลย ขณะที่ไม่มีการกล่าวอ้างในชั้นศาล ว่าได้ตัวบุคคลเหล่านี้มาดำเนินคดีด้วยการใช้ GT 200 แต่อย่างใด
โพสต์ทูเดย์ ระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐที่จัดซื้อเครื่อง GT 200 และ ALPHA 6 มีทั้งสิ้น 13 หน่วยงาน คือ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จังหวัดพิษณุโลก กรมการปกครอง กรมศุลกากร กรมสรรพาวุธทหารบก ตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท ตำรวจภูธรจังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดยะลา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดเพชรบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กองบัญชาการกองทัพไทยโดยศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และกรมราชองครักษ์
ส่วน พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ในวันนี้ก็ระบุว่า ผบ.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ระบุว่ามีคำสั่งให้เลิกใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว และขณะนี้มีการจัดหาเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด Fido มาทดแทน GT 200