24 เม.ย. 56 ที่ศาลอาญารัชดา ศาลนัดสืบพยานไต่สวนการตายของนายอำพล ตั้งนพกุล หรืออากง ผู้ต้องขังตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 ที่เสียชีวิตจากการถูกคุมขังในเรือนจำ โดยมีพยานขึ้นเบิกความเพียงคนเดียว คือนายธันย์ฐวุฒิ หรือ หนุ่ม เรดนนท์ ผู้ต้องขังในคดีเดียวกัน โดยในวันนี้มีนางรสมาลิน ตั้งนพกุล ภรรยาของนายอำพล และนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมรับฟังการสืบพยานด้วย
ทั้งนี้ นายอำพล ถูกจับกุมฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาทและแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตั้งแต่กลางปี2553 จากและเสียชีวิตลงในวันที่ 8 พ.ค.55 ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
นายธันย์ฐวุฒิ เบิกความถึงสภาพความเป็นอยู่และการรักษาพยาบาลภายในเรือนจำ ว่านายอำพลถูกคุมขังสองครั้งก่อนจะเสียชีวิต โดยถูกคุมขังครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคมปี53 (ชั้นสอบสวน) โดยถูกจำแนกไปอยู่แดน 8 ภายในเรือนจำ ซึ่งแดนที่มีความมั่นคงสูงสุด ผู้ต้องขังในแดนนี้เป็นผู้ต้องขังคดีร้ายแรง และผู้ต้องขังที่ป่วยเป็นโรคติดต่อร้ายแรง เช่น วัณโรค ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น
ธันย์ฐวุฒิเบิกความว่า เมื่อเข้ามาอยู่ในเรือนจำ นายอำพลได้ทำงานปั่นแก้วกระดาษใส่น้ำดื่ม ซึ่งตามปกติแล้ว ผู้ต้องขังทุกคนจะมีหน้าที่ประจำของตัวเอง หากใครได้รับมอบหมายให้ปั่นแก้วกระดาษ จะต้องปั่นในปริมาณ 1 กิโลกรัม หรือแก้วกระดาษ 500 ใบ แต่นายอำพลถูกผู้คุมสั่งให้ปั่นถึง 5 กิโลกรัม คิดเป็นแก้วกระดาษถึง 2500 ใบตั้งแต่วันแรกที่ถูกคุมขังเป็นต้นมา และถูกสั่งให้นั่งทำหน้าห้องผู้คุม ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้ที่ถูกลงโทษจะต้องมานั่งทำงานหน้าห้องผู้คุม อย่างไรก็ตาม นายอำพลสุขภาพไม่แข็งแรงจึงไม่เคยทำสำเร็จถึง 2500 ใบ แต่ก็ไม่เคยถูกทำโทษ เนื่องจากผู้ต้องขังคนอื่นสงสารจึงแอบเข้าไปช่วยทำจนสำเร็จ สำหรับการปั่นแก้วกระดาษนี้จะได้ค่าแรง เป็นเงิน 120 บาทต่อเดือน
ในด้านการพักผ่อน นายธันย์ฐวุฒิ เบิกความว่า ห้องนอนแดน 8 มี 32 ห้อง เป็นห้องขนาด กว้าง 3 เมตร ยาว 5 เมตร มีผู้ต้องขังพักอยู่ 20 – 24 คน และหากในกรณีพิเศษ เช่นน้ำท่วม จะมีผู้ต้องขังมากที่สุด 35 คนต่อหนึ่งห้อง และมีการเปิดปิดเป็นเวลา ส่วนอาหารการกินจัดไว้วันละสามมื้อ มีการแยกประเภทอาหารตามศาสนาเท่านั้น ไม่มีการแยกประเภทแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นอาหารของผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุก็ตาม
นายธันย์ฐวุฒิกล่าวถึงการรักพยาบาลในเรือนจำว่า สถานพยาบาลในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีแห่งเดียว แต่ผู้ต้องขังในเรือนจำจากทุกแดนรวมกันมีกว่า 5,000 คน ในเรือนจำจะมีแพทย์เข้ามาวันอังคารและวันพฤหัส นอกเหนือจากนี้จะมีบุรุษพยาบาลหรือพยาบาลประจำอยู่ ในแต่ละวันหากผู้ต้องขังต้องการไปเรือนพยาบาลจะกำหนดให้ไปได้ 20 คน แต่เมื่อผู้ต้องขังคนใดออกไปแล้วครั้งหนึ่งก็จะออกไปไม่ได้อีก ในสัปดาห์นั้น หากเจ็บป่วยจะต้องรอสัปดาห์ถัดไป ตัวเขาเองเคยไปรักษาแล้วพบว่า แพทย์ไม่ตรวจอาการแบบใกล้ชิด และการร้องขอไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่รองรับเรือนจำหลายๆ แห่งที่อยู่ด้านนอกก็ยากลำบากมาก หากไม่ปรากฏอาการป่วยชัดเจนขั้นรุนแรงก็จะไม่ได้ไป ส่วนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน เช่นในเวลากลางคืน จะมีระบบแจ้งเตือนเป็นกล่องไม่ไผ่ไว้เคาะเรียกผู้คุม
นายธันย์ฐวุฒิ เคยรับฟังคำบอกเล่าของนายอำพลที่ได้ไปตรวจรักษาที่สถานพยาบาลของเรือนจำว่า ครั้งแรกที่ตรวจรรักษา แพทย์ไม่ได้วินิจฉัยอาการ แต่ให้ยาแก้ปวดท้องมา ครั้งที่สองนายอำพลโวยวายให้แพทย์ตรวจ แพทย์จึงตรวจให้ แต่มีการพูดจาเหยียดหยามดูหมิ่นก่อน แพทย์ให้นายอำพลแบมือออก เมื่อเห็นมือสั่นจึงบอกว่า “อย่าหมิ่นสิ เพราะหมิ่นเลยต้องมาอยู่ที่นี่”
หลังจากนั้นอำพลก็มีอาการปวดท้อง ท้องแข็ง ไม่สามารถขับถ่ายตามปกติ กินอาหารไม่ได้ เดินไม่ได้ ก่อนที่จะเสียชีวิตนายอำพลมีอาการตาเหลืองไร้แวว ท้องบวมใหญ่ หลังจากนั้นจึงถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในวันที่ 4 พ.ค. 55
นอกจากนี้นายธันย์ฐวุฒิ ยังเบิกความถึงการส่งยารักษาให้ผู้ต้องขังว่า ญาติสามารถส่งยาให้ได้ แต่ต้องใช้เวลาตรวจสอบนานมากกว่าที่ผู้ต้องขังจะได้รับยา ผู้ป่วยที่มีอาการรุณแรง เช่น โรคหัวใจ ก็อาจได้รับการรักษาไม่ทันเวลา นอกจากนี้ในเรือนจำยังไม่มีการตรวจสุขภาพประจำปี จะมีการตรวจบางโรค เช่น วัณโรค และภูมิคุ้มกันบกพร่อง เท่านั้น และหากเกิดโรคระบาด เช่น ตาแดง ก็อาจมีการตรวจให้
ธันย์ฐวุฒิเห็นว่า สภาพการณ์รักษาพยาบาลที่เป็นอยู่ถือว่าไม่ดี ไม่ให้เกียรติ์ความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง ทั้งที่แม้ว่าในบางคดี ผู้ต้องขังเพียงแต่ถูกคุมขัง ศาลยังไม่ได้พิพากษาว่ากระทำความผิด
ทั้งนี้ การไต่สวนการตายของนายอำพลเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ก.พ.55 และล่าสุดเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 56 มีการสืบพยาน 4 ปาก คือ นางรสมาลิน ภรรยาของนายอำพล พนักงานสอบสวน แพทย์ และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ โดยนางรสมาลินเบิกความถึงการอาการป่วยของนายอำพล การขอนำตัวออกมารักษานอกเรือนจำไม่ได้และส่งยาเข้าไปในเรือนจำไม่ได้ และจากนี้ไปจะมีการสืบพยานแพทย์ผู้ชันสูตรศพนายอำพลอีกครั้งในวันที่ 8 ส.ค. 56