(22 เม.ย.56) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ จัดการสัมมนา เรื่อง จรรยาบรรณในมุมมองของสื่อและองค์กรกำกับดูแลในต่างประเทศ โดย รดี ธนารักษ์ อาจารย์ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ระบุว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้เพื่อพัฒนาแนวทางจรรยาบรรณและจริยธรรมและแนวทางกำกับดูแลกันเองขององค์กรวิชาชีพด้านกระจายเสียงและโทรทัศน์ ให้เป็นคู่มือกลางสำหรับองค์กรวิชาชีพต่างๆ ที่จะตั้งขึ้นใหม่ในอนาคต โดยมีการจัดแลกเปลี่ยนความรู้กับองค์กรกำกับดูแลในต่างประเทศ เช่น จากอังกฤษ ออสเตรเลีย หลังจากนี้จะถอดบทเรียน นำเสนอในเวทีไตรภาคี เสนอต่อองค์กรสื่อดั้งเดิม รวมถึงจัดเวทีสี่ภาค ให้สื่อท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม ก่อนจะสรุปเสนอต่อบอร์ด กสท. ซึ่งหากผ่านก็จะมีการนำไปประชาพิจารณ์ต่อไป
กายาทรี เวนกิทสวารัน ผู้อำนวยการสมาพันธ์ผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) กล่าวถึงความท้าทายของการกำกับดูแลสื่อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า ได้แก่ หนึ่ง ความเป็นเจ้าของและการถือครองข้ามสื่อ ซึ่งยังไม่มีกฎหมายกำหนดชัดเจน ทำให้ 20 ปีที่ผ่านมา เกิดบริษัทใหญ่ที่มีทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อทีวี อินเทอร์เน็ต รวมถึงเอเจนซีโฆษณา ส่งผลให้มีเจ้าของสื่อไม่กี่รายที่เข้ามากำหนดมาตรฐานการกำกับดูแล นอกจากนี้ บริษัทใหญ่หลายแห่งก็ยังมีบทบาททางการเมืองด้วย
ผู้อำนวยการ SEAPA กล่าวต่อว่า ความท้าทายอีกข้อคือ หากมีองค์กรกำกับดูแลกันเอง แต่ไม่มีการจูงใจให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมก็คงเปล่าประโยชน์ พร้อมยกตัวอย่างองค์กรวิชาชีพของสื่อทีวีในฟิลิปปินส์ที่มีสมาชิกเพียง 10 สถานี ทั้งที่มีกว่า 800 สถานี ซึ่งส่งผลให้การตัดสินใจขององค์กรวิชาชีพ ไม่อาจเป็นตัวแทนเสียงของอุตสาหกรรมได้
กายาทรีระบุด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่มีอำนาจเหนือการกำกับดูแลกันเอง เช่น เรื่องความมั่นคงภายใน กบฏ การลบหลู่ศาสนา แนวปฏิบัติ กฎกระทรวง ทำให้รัฐเข้ามาแทรกแซงได้เสมอ ดังนั้น หากไม่ทบทวนกฎหมายเหล่านี้ด้วย เรื่องของจรรยาบรรณที่พูดกันก็ไม่มีความหมาย
ด้านพิรงรอง รามสูต ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การกำกับดูแลกันเองของสื่อไทย เริ่มขึ้นหลังจากการยกเลิกคณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กบว.) ในปี 2535 และตั้งคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กกช.) ขึ้น ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า หลังยกเลิก กบว.แล้วพบฉากแสดงความรัก เช่น ฉากจูบ ในละครมากขึ้น ด้านโฆษณา มีการตั้งคณะกรรมการตรวจพิจารณาโฆษณาทางโทรทัศน์ในปี 2537 ซึ่งมีการตรวจทั้งเนื้อหาก่อนและหลังผลิต โดยในการกำกับดูแลกันเองนี้ หลายครั้งมีการเซ็นเซอร์ตัวเอง สะท้อนให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สื่อยังเป็นสัมปทานที่ได้จากรัฐ ทำให้สื่อวิตกเกินเหตุว่าภาครัฐจะไม่พอใจจึงเซ็นเซอร์ตัวเอง
พิรงรอง กล่าวด้วยว่า เมื่อวิเคราะห์ในแง่ผู้เล่นต่างๆ มองว่า กสทช. น่าจะมีบทบาทจัดสรรกองทุนเพื่อช่วยให้สื่อกำกับดูแลกันเองได้ ขณะที่อุตสาหกรรมทีวีซึ่งแบ่งเป็นฟรีทีวีและเปย์ทีวี (ทีวีแบบเสียเงิน) นั้น ฟรีทีวี มีตลาดขนาดใหญ่ที่มีผู้เล่นไม่กี่ราย มีประสบการณ์กำกับตัวเองมาระยะหนึ่ง แต่เปย์ทีวี มีจำนวนผู้เล่นรายเล็กจำนวนมาก ไม่เหมาะจะกำกับกันเอง ทั้งยังมีรูปแบบธุรกิจและจุดยืนที่ไม่ชัดเจน เห็นได้จากในการทำแบบสำรวจ เมื่อให้เลือกว่า ช่องของตัวเองประกอบกิจการประเภทใด กลับมีการเลือกตอบทั้งธุรกิจ สาธารณะ ชุมชน คละกันไป ส่วนองค์กรวิชาชีพที่ตั้งขึ้นเพื่อกำกับดูแลยังเป็นการรวมตัวเพื่อต่อรองผลประโยชน์มากกว่าจะดูแลรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งยังไม่มีกลไกรับเรื่องร้องเรียน ขณะที่ผู้บริโภคเองดูเหมือนยังไม่เห็นความสำคัญของการกำกับดูแล
พิรงรอง กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตอลนี้ มองว่าจะเกิดการทำลายอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างต่างๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดการกำกับดูแลกันเองแบบใหม่ๆ ขึ้นได้ ความท้าทายและโอกาสจึงขึ้นกับผู้เล่นต่างๆ ว่าจะแบ่งความรับผิดชอบต่อกันแค่ไหน ทั้งนี้ ย้ำว่า องค์กรวิชาชีพที่ทำหน้าที่กำกับดูแลต้องเร่งเรียนรู้ ดูแลตัวเอง เพื่อไม่ให้รัฐเข้ามายุ่งได้
หมายเหตุ:ติดตามประสบการณ์กำกับดูแลสื่อจากประเทศอื่นๆ ได้ที่นี่เร็วๆ นี้