คลิปจากการเสวนา "ความหลากหลายทางเพศกับกฎหมายการจดทะเบียนคู่ชีวิตของไทย"เมื่อ 19 เม.ย. ที่ห้องโถง อาคารรัฐสภา และการยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ สำหรับ พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิตฯ โดยเครือข่ายความหลากหลายทางเพศแห่่งประเทศไทย
คณะกรรมาธิการการกฏหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน จัดงานเสวนา "ความหลากหลายทางเพศกับกฎหมายการจดทะเบียนคู่ชีวิตของไทย"เมื่อ 19 เม.ย. ที่ห้องโถง อาคารรัฐสภา (ภาพ: อรทัย ตามยุทธ)
เครือข่ายความหลากหลายทางเพศแห่่งประเทศไทยยื่นจดหมายเปิดผนึกยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ สำหรับร่าง พ.ร.บ.จดทะเบียนคู่ชีวิต (ภาพ: อรทัย ตามยุทธ)
เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมา ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการกฏหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ "ร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิตของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ"หรือ พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต โดยจัดรับฟังเป็นครั้งที่ 5 หลังจากก่อนหน้านี้ได้ตระเวนรับฟังความคิดเห็นมาทั่วประเทศ
สำหรับกฎหมายดังกล่าวโดยสาระสำคัญของกฎหมายนี้เพื่อรับรองสถานภาพของผู้มีความหลากหลายทางเพศในฐานะที่เป็นคู่ชีวิตเยี่ยงคู่สามีภรรยาทั่วไป ขณะที่เครือข่ายความหลากหลายทางเพศแห่งประเทศไทย ได้มายื่นข้อเสนอเพิ่มเติมกับรัฐสภาผ่าน พล.ต.อ.วิรุณห์ พื้นแสน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ ด้วย โดยพวกเขาเห็นว่าร่างปัจจุบันยังมีข้อจำกัดหลายเรื่อง โดยเฉพาะ "ข้อกำหนดเรื่องบุตร"ที่ยังไม่ถูกระบุ นอกจากนี้ยังหวังให้กฎหมายดังกล่าวสามารถขจัดการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศได้อย่างแท้จริง
โดยข้อเสนอของเครือข่ายความหลากหลายทางเพศแห่งประเทศไทยมี 5 ข้อ ประกอบด้วย 1. ร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิตดังกล่าวจะต้องระบุถึงหลักการที่จะสร้างความเท่าเทียมและยุติการเลือกปฏิบัติที่มีอยู่ในระบบกฎหมายและสังคมไทย เพื่อให้มีการรับรองทางกฎหมายแก่คู่ชีวิตและครอบครัวของคนทุกเพศอย่างเท่าเทียมกันในทุกด้าน เนื่องจากในปัจจุบันระบบกฎหมายยังคงรับรองคู่ชีวิตและครอบครัวเฉพาะคู่ชายหญิงต่างเพศเท่านั้น เป็นเหตุให้คู่ชีวิตและครอบครัวที่ประกอบด้วยเพศอื่นจำนวนมากไม่สามารถได้รับการคุ้มครองและเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ เช่นเดียวกับคู่ที่ได้รับการรับรองทางกฎหมาย
2. ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังขาดข้อกำหนดเรื่องบุตร ทำให้เกิดช่องว่างทางกฎหมายและไม่สามารถนำมาใช้แก้ไขสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากบุคคลจำนวนมากที่สามารถจดทะเบียนตาม พ.ร.บ. นี้มีบุตร ซึ่งอาจจะเป็นบุตรจากการสมรสครั้งก่อน บุตรบุญธรรม หรือบุตรทางสายเลือดที่เกิดขึ้นในระหว่างการใช้ชีวิตคู่กับคู่ที่จดทะเบียนคู่ชีวิต
3. เงื่อนไขเกี่ยวกับอายุของบุคคลที่จะจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ ควรใช้เงื่อนไขเดียวกับบุคคลที่จะจดทะเบียนสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดย 1) ให้ผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว จดทะเบียนคู่ชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ได้ และ 2) ให้ผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะแต่มีอายุ 17 ปีขึ้นไปสามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ โดยใช้หลักการเดียวกับการจดทะเบียนสมรสในปัจจุบัน
4. ดังที่ปรากฏในมาตรา 4 ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ว่าด้วยการที่กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินั้น ขอให้เพิ่มเติมว่า "โดยมิให้มีความแตกต่างจากระเบียบขั้นตอนการจดทะเบียนสมรสที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน"เพื่อมิให้เกิดมาตรฐานการปฏิบัติที่แตกต่างกันสำหรับประชากรสองกลุ่มสืบไป
และ 5. มีการใช้คำว่า "อนุโลม"หลายครั้งในร่าง พ.ร.บ. นี้ ซึ่งแม้ว่าในทางกฎหมาย การนำกฎหมายอื่นมาใช้บังคับโดยอนุโลมนั้นจะหมายถึงการนำหลักการและรายละเอียดของกฎหมายอื่นมาใช้บังคับเพื่อให้การดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัตินี้บรรลุผล โดยไม่ขัดหรือแย้งกับเจตนารมณ์และหลักการของร่างพระราชบัญญัตินี้ก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติ การระบุเช่นนี้อาจเป็นให้เกิดการตีความผ่านดุลยพินิจส่วนบุคคลของผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดการตีความไปในเชิงจำกัดสิทธิ เนื่องจากสังคมในวงกว้างยังไม่ได้รับการสนับสนุนให้มีความเข้าใจในความหลากหลายทางเพศวิถี อัตลักษณ์ทางเพศ ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายไปในทางที่รับรองคุ้มครองความเสมอภาคทางเพศในทุกกรณี ดังนั้น ภาครัฐควรจัดการอบรมในเรื่องดังกล่าวกับผู้บังคับใช้กฎหมายในทุกระดับ อันจะยังให้การบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองสิทธิเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศเป็นไปได้จริง อย่างยุติธรรม