Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

'เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป'เสนอทางออกวางกลไกบังคับรัฐบาลใหม่ปฏิรูป

$
0
0

 

30 เม.ย.2557  “เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป” ซึ่งประกอบด้วยองค์กรวิชาชีพกว่า 70  องค์กร จัดเวทีความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศครั้งที่ 4 หัวข้อ การปฏิรูปประเทศบนวิถีประชาธิปไตย โดยเชิญตัวแทนองค์กรวิชาชีพจากภาคส่วนต่างๆ มาแสดงความคิดเห็น เพื่อหาทางออกของประเทศ  โดยก่อนหน้านี้เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปได้รับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  รวมทั้งความเห็นจากคู่ขัดแย้ง ผ่านเวทีเสวนา ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามประชาชน

ทาง“เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป”จึงจัดทำสรุปข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าว แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนมีรายละเอียดดังนี้

1.   การปฏิรูปประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เป็นเป้าหมายร่วมกันของคู่ขัดแย้ง และประชาชนทุกฝ่ายมีความสอดคล้องตรงกันในหลายๆ ด้าน จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะนำพาประเทศออกจากกับดักความขัดแย้ง และสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศไทยอย่างยั่งยืน

2. พลังทางสังคมที่เกิดจากทุกภาคส่วนตื่นตัว และต้องการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งนี้มีมากพอที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปภายใต้วิถีของประชาธิปไตย เพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งและเดินหน้าปฏิรูปประเทศที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย

3.  ระบอบประชาธิปไตยของไทย ยังเดินมาไม่ถึงทางตัน แต่ยังสามารถอาศัยกลไกภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เพื่อร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง และเดินหน้าเข้าสู่การปฏิรูปประเทศได้

4.  การกำหนดวันเลือกตั้ง และกระบวนการเลือกตั้ง เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้มีการเจรจาหาทางออกจากความขัดแย้ง โดยกำหนดกรอบ กลไก และการปฏิรูปประเทศจนเป็นที่ยอมรับร่วมกัน นอกจากจะไม่ใช่แนวทางในการแก้ไขปัญหาแล้ว ยังสร้างประเด็นปัญหาเพิ่มมากขึ้น เหมือนกันที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปยังขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายลดเงื่อนไขข้อเรียกร้องทางการเมืองถอยคนละก้าว แล้วหันมาร่วมคิดร่วมคุย โดยใช้กลไกประชาธิปไตย เพื่อหาทางออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมือง ลดความขัดแย้ง แตกแยกในสังคม และเร่งสร้างหลักประกันที่มีพันธะผูกพันทางการเมือง เพื่อนำพาประเทศก้าวสู่การปฏิรูปพื้นฐานแห่งประโยชน์ของประเทศและประชาชนโดยเร็ว

จากนั้นบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้ดำเนินการอภิปราย เปิดเวที “ชวนคิด..ชวนคุย การปฏิรูปและการเลือกตั้งที่เป็นทางออกร่วมกันของสังคม”โดยกำหนดประเด็นอภิปรายไว้ 3 หัวข้อ 1. เรื่องการเลือกตั้ง 2. เรื่องการปฏิรูป และ 3.เรื่องความขัดแย้งทางการเมืองที่ส่งผลต่อการเลือกตั้งและการปฏิรูปประเทศ มีผู้แสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย ดังนี้

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ สรุปว่าทุกฝ่ายมีความคิดเห็นตรงกัน คือต้องปฏิรูปประเทศ แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่าหลังการเลือกตั้งแล้วจะมีการปฏิรูปประเทศแน่นอน ซึ่งข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆ ก็มีหลายรูปแบบ เช่น การให้พรรคการเมืองมาทำสัตยาบัน หรือ ร่วมกันออกแบบกลไกที่จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศอย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้น  หากต้องให้การปฏิรูปประเทศเดินหน้าได้อย่างรวดเร็วควบคู่ไปกับการเลือกตั้ง ต้องมาตกลงกันว่ารัฐบาลรักษาการก่อนการเลือกตั้งหน้าตาควรเป็นอย่างไร และถ้าต้องให้การเลือกตั้งมีความยุติธรรม รายละเอียดเป็นอย่างไร

นายปรเมศวร์ มินศิริ ตัวแทนจากสภาพลเมืองเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายองค์กรจัดทำเนื้อหาของการปฏิรูปประเทศที่ดีมากมาย อย่างเช่น กกปส.ก็จัดระดมความคิดเห็นปฏิรูปประเทศในหลายเวที  ซึ่งตรงนี้เปรียบเสมือนสัมภาระ  แต่ที่ยังขาด คือ พาหนะ หรือ องค์กรขับเคลื่อน หากต้องการให้มีผลผูกพันทางกฎหมาย ก็อาจจะใช้กลไกรัฐสภา ขณะเดียวกันต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมด้วย

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคือผู้ที่ได้เปรียบจากโครงสร้างอำนาจทางสังคมในปัจจุบัน ไม่ต้องการให้เกิดการปฏิรูป จึงเป็นสาเหตุให้กกปส.ต้องออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ผลักดันให้เกิดการปฏิรูป แต่จะทำให้เกิดความมั่นใจได้อย่างไรว่ามีการปฏิรูปแน่นอน อย่างปี 2549 ทุกพรรคการเมืองเคยลงสัตยาบันที่จะปฏิรูปประเทศ แต่หลังจากนั้น ก็ไม่มีปฏิรูป   เพราะฉะนั้นการออกแบบกระบวนการ และกลไกที่จะนำไปสู่การปฏิรูป จึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจในอนาคตมีการปฏิรูปแน่นอนได้รัฐบาลไหนเข้ามาก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้   อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งทางการเมือง คงไม่สามารถหาข้อยุติลงได้ง่าย แต่ที่สำคัญเราจะอยู่ร่วมกันโดยยึดมั่นในระเบียบกติกาของกฎหมายได้อย่างไร

นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้งในอดีตทีไม่ประสบความสำเร็จ เพราะนักการเมืองไม่จริงใจที่จะให้มีการปฏิรูป  บทเรียนความขัดแย้งในต่างประเทศ มักจะเกิดความสูญเสียก่อน ถึงจะให้ความสำคัญมาดูที่ต้นเหตุของปัญหา หากต้องการยุติความขัดแย้งอย่างถาวร ต้องปฏิรูปโครงสร้างอำนาจกันใหม่ หรือ ปฏิรูปประเทศ  ปัญหาคนที่มีอำนาจอยู่ในมือ ไม่ยอมสูญเสียอำนาจ  แต่ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของนักการเมืองด้วยว่าจะเลือกประเทศชาติก่อน หรือ เลือกผลประโยชน์ของพรรคการเมืองก่อน   หากเลือกประเทศชาติ นักการเมืองที่เป็นคู่ขัดแย้งกัน ต้องเสียสละ ยอมเว้นวรรคทางการเมือง เปิดทางให้มีการปฏิรูป เพื่อนำไปสู่การยุติปัญหาอย่างถาวร

ดร.ธวัชชัย ยงกิตติคุณ ตัวแทนจากสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ทางออกของประเทศในขณะนี้ ทุกฝ่ายต้องมาเจรจาหาข้อสรุปให้ได้ จำเป็นต้องจัดให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ ถ้าจำเป็นต้องกำหนดกติกาอย่างไรให้มีความยุติธรรม พร้อมกำหนดแนวทางในการปฏิรูปประเทศ โดยมีองค์กรมาขับเคลื่อนในรายละเอียดของแผนการปฏิรูป เช่น เรื่องการกระจายอำนาจ ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาคอรัปชั่น ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนได้เป็นรัฐบาล ก็ต้องทำคำมั่นสัญญา ปฏิเสธไม่ได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles