เนื่องในวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย 30 เมษายน 2557 ซึ่งตรงกับวันนี้นั้น เมื่อวันที่ 28 – 29 เมษายนที่ผ่านมา ในการประชุมสมัชชาผู้บริโภคประจำปี 2557 มีการอภิปรายเรื่องฉลากอาหารในขนมเด็ก โดย จุฑา สังขชาติ ตัวแทนจากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ กล่าวว่า จากการสำรวจในพื้นที่เทศบาลหาดใหญ่ พบว่าขนมเด็กนั้นมีขายจำนวนมากทั้งในและนอกโรงเรียน จาก 200 ตัวอย่างพบว่ามีฉลากถูกต้องครบถ้วนน้อยมาก ร้อยละ 42 ของตัวอย่างขนมทั้งหมดไม่แสดงวันเดือนปีหมดอายุ ร้อยละ 25 ไม่แสดงชื่อที่อยู่ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย นอกจากนี้จำนวนมายังมี เลขอย.ปลอม, ไม่มีฉลากภาษาไทย, ไม่มีการบรรยายสารอาหาร และพบว่าคุณครูหรือทางโรงเรียนหลายแห่งจัดการปัญหาขนมเหล่านี้ได้ภายในโรงเรียน เช่น มีนโยบายห้ามขายขนมเหล่านี้ แต่ไม่สามารถจัดการนอกโรงเรียนได้
จุฑา กล่าวว่า กฎหมายนั้นมีอยู่แล้วแต่การบังคับใช้ยังคงเป็นไปได้ยากในความเป็นจริง จึงอยากเสนอให้มีความร่วมมือหลายส่วน ทั้งโรงเรียน สาธารณสุขจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง รวมถึงให้พ่อค้าแม่ค้ามีความรู้ด้วย เพราะพวกเขาก็อาจไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาเพราะเห็นขายกันอยู่มากมาย
พงษภัทร หงส์สุขสวัสดิ์ นักวิจัยจากโครงการศึกษาเบื้องต้นในการทดลองปฏิบัติการใช้ฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจรในโรงเรียน3 แห่งในจ.สมุทรสงคราม ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จากการสำรวจพบว่า เด็กอ่านข้อมูลปริมาณสารอาหารที่มีอยู่ไม่เข้าใจ และไม่ทราบว่าควรต้องบริโภคขนมเท่าไรจึงจะไม่ได้สารอาหารบางอย่างเกินมาตรฐาน ข้อมูลที่น่าตกใจคือ จากการเก็บแบบสำรวจพฤติกรรมการบริโภคของเด็กครั้งแรกพบว่า คนหนึ่งกินขนมอย่างน้อย 5 ซองต่อวัน (ซองละประมาณ 5-10 บาท) ทำให้ได้รับปริมาณโซเดียม น้ำตาล ฯลฯ เกินปริมาณที่ควรได้รับ เมื่อเริ่มให้ข้อมูลเรื่องฉลากรูปแบบใหม่โดยใช้สีสัญญาณไฟจราจรมาจับ ทำให้เด็กตื่นตัวมากขึ้น และพบว่าทั้ง 3 โรงเรียน เด็กๆ จัดกิจกรรมกันเองในการติดฉลาก แบ่งเป็น เขียวสำหรับขนมที่ส่วนประกอบต่างๆ ไม่เกินปริมาณมาตรฐาน สีเหลืองขนมที่ต้องระมัดระวังในการบริโภค และสีแดงขนมที่มีกปริมาณส่วนประกอบที่เกินมาตรฐานเช่น โซเดียม ผลคือทำให้เด็กๆ เลือกรับประทานขนมที่เข้าข่ายสีแดงน้อยลงมาก และในภาพรวมเด็กๆ ก็รับประทานขนมกรุบกรอบน้อยลงด้วย
“พอเรามีการให้ข้อมูลกับเขา เด็กจะเริ่มรู้ว่าขนมแต่ละประเภทควรกินปริมาณเท่าไร เรามีกิจกรรมให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ทำให้เด็กตัดสินใจที่จะซื้อได้มากขึ้น”
รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าเคยทำการศึกษาเรื่องฉลากสัญญาณไฟจราจรและอบรมให้กับโรงเรียน 41 แห่งทั่วประเทศ โดยให้นักเรียนเป็นคนเผยแพร่ความรู้เอง ปรากฏว่าขนมที่เข้าข่ายสีแดงยอดขายตก ทำให้ผู้ประกอบการไม่เห็นด้วย แม้แต่ในยุโรปผู้ประกอบการก็ต่อต้านเรื่องสลากสัญญาณไฟจราจรเพราะทำให้เขาเป็นผู้ร้าย
“ขอยืนยันว่าไม่มีผลิตภัณฑ์ไหนจะเขียวหมดในทุกส่วนประกอบ แต่นี่จะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการมีโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเขา เราไม่ได้คาดหวังว่าต้องเป็นเขียวทั้งหมด อาจมีเขียวบ้าง เหลืองบ้าง แดงบ้าง แต่เราต้องสอนผู้บริโภคเข้าใจว่า ถ้ากินโซเดียมแดงไปแล้ว มื้อหน้าจะกินให้น้อยลง”รศ.ดร.ประไพศรีกล่าว
พรพรรณ สุนทรธรรม จากองค์การอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า โครงการฉลากไฟสัญญาณจราจรในขนมเด็กนนั้นเป็นงานวิจัยที่มีเสน่ห์ที่เด็กร่วมคิดร่วมทำด้วย อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างไม่มีดีทั้งหมดหรือเสียทั้งหมด เราต้องเปรียบเทียบให้เห็นชัด แม้สัญญาณไฟจะเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดและง่ายที่สุด แต่ก็อาจทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจทันทีโดยขาดการคิดวิเคราะห์และบริโภคมากจนเกินไปเนื่องจากเห็นว่าได้สีเขียวแล้ว ส่วนผลิตภัณฑ์ใดที่เป็นสีแดงก็เหมือนเป็นตราบาป จึงอยากให้ลองพูดคุยกันทุกฝ่ายเพื่อหาทางออกที่ทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้