ในประเทศที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องการประหารชีวิตต่อหน้าสาธารณชนอย่างอิหร่าน เกิดเหตุไม่คาดฝันเมื่อพ่อแม่ของผู้ถูกสังหารได้ยับยั้งการประหารชีวิตผู้ต้องหาในนาทีสุดท้าย พร้อมทั้งกอดคอร่ำไห้กับมารดาของฝ่ายผู้ต้องหา
18 เม.ย.2557 สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานเรื่องของชายชาวอิหร่านที่กำลังจะถูกแขวนคอต่อหน้าสาธารณชนในข้อหาฆาตกรรม แต่กลับไปรับการไว้ชีวิตจากมารดาของเหยื่อในวินาทีสุดท้าย เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา
เหตุการณ์ย้อนความจากเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ชายที่ชื่อบาลัล ราว อายุ 20 กว่าปี แทงชายที่ชื่อ อับดอลลาห์ ฮอสเซนซาดีห์ เสียชีวิตขณะที่มีเรื่องชกต่อยกันกลางท้องถนนในเมืองเล็กๆ ของจังหวัดมาซานดารัน ทางตอนเหนือของอิหร่าน
เดอะการ์เดียนระบุว่า ในอิหร่านมีการนำส่วนหนึ่งของกฎหมายชะรีอะฮ์มาใช้อย่างตรงไปตรงมาคือกฎข้อที่ให้ครอบครัวของเหยื่ออาชญากรรมมีส่วนร่วมในการประหารชีวิตแแบบแขวนคอ โดยให้ครอบครัวเหยื่อเป็นผู้ดันเก้าอี้เพื่อให้อาชญากรถูกเชือกรัดคอ
แต่กรณีของบาลัลกลับเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด โดยระหว่างการประหารชีวิตต่อหน้าสาธารณะ แม่ของเหยื่อโผเข้าไปตบหน้าผู้ต้องหาและยอมให้อภัยผู้ที่สังหารลูกชายเธอ ส่วนพ่อของบาลัลก็เข้าไปนำห่วงคล้องคอออกเพื่อไว้ชีวิตเขา
ภาพถ่ายของ อาราช กามูจี ผู้ทำงานให้กับสำนักข่าวอิสนาแสดงให้เห็นภาพแม่ของบาลัลกอดคอแม่ของเหยื่อผู้เสียใจต่อการจากไปของลูกชาย ทั้งสองคนต่างก็ร้องไห้ ก่อนหน้านี้แม่ของฮอสเซนซาดีห์ก็เคยสูญเสียลูกชายอายุ 11 ปีจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์
กามูจี เล่าฉากเหตุการณ์ว่าขณะที่รอการประหาร แม่ของบาลัลลงไปนั่งอยู่กับพื้นเหมือนคนไม่มีเรี่ยวแรงเมื่อได้รู้ว่าลูกของตนกำลังจะถูกสังหาร ขณะที่บาลัลถูกนำตัวมาที่ลานประหาร เขาก็ร้องตะโกนและสวดภาวนาเสียงดังจนกระทั่งเงียบไป
แม่ของเหยื่อบอกกับกามูจีว่าเธอฝันร้ายมาโดยตลอดหลังจากเสียลูกชายทำให้เธอไม่สามารถให้อภัยผู้สังหารลูกชายเธอได้ จากนั้นเธอจึงเดินไปที่บาลัล ขอเก้าอี้ให้เธอยืนสูงขึ้น เธอก้าวขึ้นบนเก้าอี้แล้วตบหน้าบาลัลก่อนจะบอกว่า "ให้อภัยแล้ว"
แม่ของเหยื่อเล่าถึงเหตุการณ์ที่ลูกชายถูกสังหารว่า ขณะที่อับดอลลาห์กำลังเดินอยู่ในตลาดกับเพื่อน บาลัลก็เป็นคนผลักเขา ทำให้อับดอลลาห์รู้สึกไม่พอใจจึงได้เตะบาลัล แต่บาลัลก็ตอบโต้ด้วยการนำมีดที่ซ่อนอยู่ในถุงเท้าทำร้ายอับดอลลาห์จนเสียชีวิต ก่อนที่จะพยายามหลบหนีแต่ก็ถูกตำรวจจับกุมตัวไว้ได้ มีการดำเนินคดีในชั้นศาลเป็นเวลา 6 ปีถึงได้มีการตัดสินโทษประหารชีวิตในที่สุด
อย่างไรก็ตามพ่อของเหยื่อคิดว่าบาลัลก่อเหตุโดยไม่ได้เจตนา นอกจากนี้ยังบอกอีกว่าก่อนหน้ากำหนดการประหาร 3 วัน ภรรยาของเขาฝันว่าได้พบลูกชายที่ถูกสังหารเขาบอกว่าได้อยู่ในที่ๆ ดีแล้ว และไม่อยากให้แก้แค้นแทน ซึ่งเรื่องนี้ทำให้แม่ของเหยื่อได้ไตร่ตรองถึงเรื่องการประหารชีวิต ผู้มีชื่อเสียงในอิหร่านหลายคนยังได้เรียกร้องให้พวกเขาให้อภัยผู้ต้องหาด้วย
อย่างไรก็ตามแม้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตจะไม่ปฏิบัติตามกระบวนการประหาร แต่บาลัลก็อาจจะไม่ถูกปล่อยตัว เนื่องจากภายใต้กฎหมายของอิหร่านครอบครัวของเหยื่อมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการประหารเท่านั้น แต่ไม่มีส่วนในกระบวนการกุมขัง
นักสิทธิฯ วิจารณ์ทางการอิหร่านเรื่องโทษประหารชีวิต
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทางการอิหร่านถูกวิจารณ์โดยนักสิทธิมนุษยชนเรื่องอัตราการประหารชีวิตที่สูง บัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติก็กล่าวโทษว่า ฮัสซัน รูฮานี ประธานาธิบดีของอิหร่านทำให้ประเทศมีพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนต่ำมากโดยเฉพาะเรื่องโทษประหารชีวิต
องค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลเปิดเผยว่าในปี 2557 ที่เพิ่งผ่านมาเกือบ 4 เดือนมีการประหารชีวิตไปแล้ว 199 กรณี ซึ่งคิดเฉลี่ยราว 2 กรณีต่อวัน เมื่อปี 2556 ทางการอิหร่านเปิดเผยว่ามีการประหารชีวิต 369 กรณี แต่แอมเนสตี้ฯ บอกว่ามีประชาชนอีกหลายร้อยคนถูกประหารอย่างลับๆ ทำให้ตัวเลขน่าจะอยู่ที่ราว 700 กรณี นอกจากนี้อิหร่านยังถูกวิจารณ์เรื่องการประหารต่อหน้าสาธารณชนซึ่งมีคนมาชมการประหารรวมถึงเด็กด้วย
บาฮาเรห์ ดาวิส เจ้าหน้าที่องค์กรแอมเนสตี้กล่าวแสดงความยินดีที่บาลัลได้รับการไว้ชีวิต เธอยังวิจารณ์กฎหมายของอิหร่านอีกว่าเป็นการตัดสินประหารชีวิตโดยไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาเรียกร้องลดโทษหรือขออภัยโทษจากทางการได้ อีกทั้งการตัดสินประหารชีวิตยังมีความโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ การให้สาธารณชนเข้าชมการประหารยังถือว่าเป็นการสร้างวัฒนธรรมให้ยอมรับความรุนแรง
เรียบเรียงจาก
Iranian killer's execution halted at last minute by victim's parents, The Guardian, 16-04-2014
Photos show victim's mother forgive killer, halt hanging in Iran, CNN, 18-04-2014
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai