11 เม.ย. 2557 ตามที่ไทยและสหภาพยุโรปได้เจรจาเอฟทีเอระหว่างรอบ เมื่อวันที่ 8-11 เม.ย.ที่ผ่านมา ณ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม นั้น กลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ เรียกร้องให้ปลัดพาณิชย์จัดประชุมคณะทำงาน 3 ฝ่ายเพื่อติดตามการเจรจา หลังมีประเด็นน่าห่วงเพิ่ม คือ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาพประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) เปิดเผยว่า จากการชี้แจงของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อนเดินทางไปเจรจา ระบุว่า เป็นการเจรจาเชิงเทคนิค ไม่มีการผูกมัดใดๆเพราะเป็นช่วงรัฐบาลรักษาการ และไม่มีการเจรจาในประเด็นอ่อนไหว คือ ที่เกี่ยวกับยา ความหลากหลายทางชีวภาพ สินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น เหล้า บุหรี่ รวมถึงการคุ้มครองการลงทุนที่จะมีผลต่อการทำลายนโยบายสาธารณะคุ้มครองประชาชน แต่ภาคประชาสังคมยังมีข้อห่วงใยเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
“อยากเรียกร้องให้คุณศรีรัตน์ รัฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งไปทำหน้าที่หัวหน้าคณะเจรจารอบนี้ จัดการประชุมคณะทำงาน 3 ฝ่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้เร็วที่สุด เพราะตั้งแต่รับหน้าที่ปลัดฯ ยังไม่มีการเรียกประชุมเลย โดยเฉพาะประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Government Procurement) ซึ่งทางสหภาพยุโรปต้องการเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างทุกระดับ โดยอ้างเรื่องความโปร่งใสและขจัดการคอรัปชั่น แต่สาระหลักที่อียูต้องการ คือ การเข้าถึงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างทุกประเภท ทั้งสินค้าและบริการ ทุกระดับ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น อ้างเรื่องความโปร่งใส ห้ามเลือกปฏิบัติต่อนักลุงทุนไทย ห้ามอุดหนุน SMEs ห้ามบังคับว่าต้องใช้สินค้าที่ผลิตในไทย มาตรฐานต้องเป็นไปตามสหภาพยุโรปทั้งหมด ห้ามมีข้อยกเว้นแม้กับการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวเนื่องกับสวัสดิการสังคม ขณะที่กฎหมายอียูหลบเลี่ยงการเข้าถึงตลาดของนักธุรกิจไทยด้วย 'การแบ่งซื้อแบ่งจ้าง'ให้ก้อนงบประมาณเล็กลงไม่ต้องเปิดกว้าง ขณะที่กฎหมายไทยไม่อนุญาตให้ทำเช่นนั้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้งบประมาณแผ่นดินในการดูและประชาชนและสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการในประเทศ โดยที่อาจไม่ได้แก้ปัญหาคอรัปชั่นตามอ้างเลย”
ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวว่า จากรายงานการต่อต้านคอรัปชั่นของสหภาพยุโรป (EU Anti-Corruption Report) ที่เพิ่งเผยแพร่ชี้ให้เห็นว่า มาตรฐานแบบสหภาพยุโรปไม่ได้แปลว่า จะสามารถขจัดคอรัปชั่นได้ เพราะพบว่า การคอรัปชั่นในอียูสร้างความเสียหายถึง 120,000 ล้านยูโร
“ข้อเสนอของรายงานเพื่อการขจัดคอรัปชั่นของสหภาพยุโรปฉบับนี้ ไม่ได้เสนอให้ทำตามที่อียูต้องการใน FTA แต่เสนอให้สร้างการตรวจสอบถ่วงดุล การควบคุมภายในที่เข้มข้น การจัดการกับผลประโยชน์ทับซ้อน นี่จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ ไม่ใช่รัฐข้อเรียกร้องด้าน Government Procurement แบบที่อียูต้องการ ดังนั้น การเจรจาจึงควรทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เพลี่ยงพล้ำในการเจรจา”
ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ ยังฝากถึงภาคเอกชนไทยว่า ไม่ควรกดดันคณะเจรจาว่าต้องเร่งการเจรจาเพื่อให้สามารถต่อสิทธิพิเศษทางการค้า (จีเอสพี)ให้ได้ทันภายในปีนี้ เพราะภาคเอกชนรู้มานานแล้วว่า ไทยพัฒนาเกินกว่าที่จะได้สิทธิพิเศษที่มีให้กับประเทศด้อยพัฒนาเท่านั้นจึงควรปรับตัว แทนที่จะมากดดันและเรียกร้องให้แลกผลประโยชน์สาธารณะกับผลประโยชน์ทางธุรกิจเฉพาะกลุ่ม
ทั้งนี้ เมื่อเดือนมี.ค. มีการรายงานผลศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพจากเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป 'การประเมินผลกระทบต่อการค้าและการลงทุน’ ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติพบว่า สินค้าที่ไทยส่งออกไปอียูส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม คิดเป็นร้อยละ 93 ของสินค้าทั้งหมดในจำนวนผู้ส่งออกรายใหญ่ 25 อันดับแรก มีผู้ ส่งออกเพียง 5 รายที่เป็นบริษัทสัญชาติไทย นอกจากนี้ยังพบว่า การส่งออกไทยไม่ได้ใช้ประโยชน์จาก GSP อย่างเต็มที่ใช้สิทธิแค่ร้อยละ 63 ในส่วนการบริการ มีเพียงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ได้ดุลจากอียู นอกนั้นขาดดุลอย่างต่อเนื่อง
ส่วนที่ 2 ศึกษาบทบาทของ GSP ต่อการส่งออกของไทยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก พบว่า ปี 55 การใช้สิทธิ GSP เพื่อการส่งออกช่วยประหยัดภาษีศุลกากรคิดเป็นมูลค่า 84 ล้านดอลลาร์ แต่เมื่อวิเคราะห์สมการถดถอยเพื่อประเมินผลกระทบของ GSP ที่มีต่อการส่งออกโดยควบคุมปัจจัยอื่น เช่น GDP ของอียู ภาษีศุลกากร อัตราแลกเปลี่ยน อัตราเงินเฟ้อ พบว่า อัตราการเติบโตของ GDP ของอียูมีผลต่อการส่งออกไทยอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่พบว่า GSP มีผลต่อการส่งออกอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด แต่ในรายอุตสาหกรรม GSP มีผลกับอุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์
การศึกษาส่วนที่ 3 ไปดูประสบการณ์หลังทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปใน 4 ประเทศ คือ ชิลี เม็กซิโก แอฟริกาใต้ และเกาหลีใต้ พบว่าแม้ว่า การค้าและการลงทุนของทั้ง 4 ประเทศจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ผลคาดการณ์โดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ชี้ว่า การเจรจาการค้าเสรีไม่ใช่ปัจจัยที่ส่งผลต่อการส่งออกไปยังยุโรป และการลงทุนจากสหภาพยุโรปอย่างมีนัยสำคัญ และมีผลในทางลบด้วยซ้ำ
งานวิจัยผลกระทบด้านสุขภาพจากเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป: การประเมินผลกระทบต่อการค้าและการลงทุน'ดำเนินโดย หัวหน้าทีมผู้วิจัย ดร.อินทิรา ยมาภัย โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai