Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

เรื่องของพระวีระธุผู้ยุยงให้เกิดความรุนแรงทางศาสนาในพม่า

$
0
0

พระผู้เรียกตัวเองว่า 'บิน ลาเดน แห่งพม่า'ผู้เผยแพร่คำสอนสร้างความเกลียดชังศาสนาผ่านโซเชียลเนตเวิร์กที่มีคนติดตามหลายพัน และแม้ว่าไม่ใช่ชาวพุทธทุกคนที่จะเชื่อคำยุยงอย่างเผ็ดร้อนของเขา แต่ก็ถือว่าเขาเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดอย่างน่าเป็นห่วงในเรื่องการใช้วาจาโกรธแค้นเกลียดชัง (hate speech)

พระวีระธุ (แฟ้มภาพ/ที่มา: moemaka.blogspot.com)

จากเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมในพม่าจนกระทั่งลุกลามเป็นเหตุรุนแรงเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา กลายเป็นเรื่องชวนตั้งคำถามว่าปมความขัดแย้งดังกล่าวมีที่มาอย่างไร และอะไรเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดการใช้ความรุนแรงจากคนในชุมชน

ในวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา สำนักข่าว The Guardian ได้นำเสนอเรื่องของพระรูปหนึ่งชื่อ วีระธุ ผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็น 'บิน ลาเดน แห่งพม่า'ซึ่ง The Guardian เชื่อว่าเขาเป็นผู้ที่เผยแพร่ความเกลียดชังทางศาสนาไปทั่วประเทศพม่า

วีระธุ เป็นพระอายุ 45 ปี ผู้ที่นำเสนอความเห็นผ่านทาง DVD และสื่อโซเชียลมีเดีย โดยกล่าวหาว่ากลุ่มชาวมุสลิมเป็นผู้ข่มขืนหญิงชาวพุทธและมีการเล่นพรรคเล่นพวก The Guardian กล่าวว่าการเทศนาเป็นภาษาพม่าของวีระธุดูสงบนิ่งจนเหมือนเข้าฌาน ขณะเทศนาพระวีระธุจะเอนตัวไปมาและตามองต่ำ แม้ว่าคำพูดจะดูนุ่มนวลแต่เนื้อหาที่เขาเทศนาก็เป็นเรื่องความหวาดระแวงและความกลัว เต็มไปด้วยการเหมารวมทางเชื้อชาติ และเป็นข่าวลือที่ไม่ได้รับการพิสูจน์ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการแพร่กระจายของข็อมูลผิดๆ และเป็นการยุยงให้เกิดความรุนแรง

"พวกเราถูกช่มชืนในทุกๆ เมือง ถูกล่วงละเมิดทางเพศในทุกๆ เมือง ถูกรุมรังแกในทุก ๆ เมือง"วีระธุกล่าวให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ขณะอยู่ที่วัดมะซอเหย่น ในเมืองมัณฑะเลย์ "ในทุกๆ เมืองจะมีกลุ่มชาวมุสลิมส่วนมากที่ป่าเถื่อนและหยาบคาย"

เป็นเรื่องง่ายที่จะมองว่าวีระธุเป็นแค่พระหัวรุนแรงที่ได้รับข้อมูลผิดๆ แต่ว่าพระวีระธุเป็นคนที่มีความนิยมสูงมาก นอกเหนือจากพระในวัดเดียวกันซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาแล้ว วีระธุมีผู้ติดตามจำนวนหลายพันคนในเฟซบุ๊คและวีดิโอของเขาในยูทูบก็มีผู้ชมมากกว่าหมื่นครั้ง

The Guardian ระบุว่า ท่ามกลางการเปิดเสรีมากขึ้นในพม่า กระแสแนวคิดต่อต้านมุสลิมของชาวพุทธในพม่าซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ 60 ล้านคน ก็แพร่ไปทั่ว และวีระธุก็เป็นคนที่มีส่วนในการเผยแพร่แนวคิดนี้อย่างมาก

วีระธุเริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่ปี 2001 เมื่อเขาเป็นผู้รณรงค์ให้มีการบอยคอตต์ธุรกิจของชาวมุสลิม เขาถูกสั่งจำคุก 25 ปี ในปี 2003 ข้อหายุยงให้เกิดความรุนแรงต่อชาวมุสลิม แต่ถูกปล่อยตัวในช่วงที่มีการนิรโทษกรรมขนานใหญ่ในปี 2010

หลังจากเขาถูกปล่อยตัวแล้วก็ยังทำการเทศนาเผยแพร่ความเกลียดชังต่อไป คนจำนวนมากเชื่อว่าคำพูดของเขาเป็นสิ่งปลุกระดมให้เกิดการปะทะกันระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมชาติพันธุ์โรฮิงยาในรัฐอาระกันเมื่อเดือน มิ.ย. 2012 ซึ่งทำให้ประชาชนราว 200 รายถูกสังหาร และมากกว่า 100,000 คนไม่มีที่อยู่อาศัย

ในเดือน ก.ย. 2012 วีระธุเป็นคนที่นำพระสงฆ์ออกมาเดินขบวนในมัณฑะเลย์เพื่อปกป้องแผนการส่งตัวชาวโรฮิงยาไปยังประเทศที่ 3 ของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เขายังเป็นคนสนับสนุนโครงการ "969"ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนให้ชาวพุทธซื้อของจากร้านค้าชาวพุทธด้วยกันด้วย

พระวีระธุกล่าวว่าเหตุรุนแรงในรัฐอาระกันเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดการใน้ความรุนแรงล่าสุดในเมืองมิตติลา ซึ่งข้อพิพาทในร้านทองกลายเป็นการจลาจลทำลายข้าวของ จนทำให้มีคนถูกสังหาร 40 คน อีก 13,000 คนถูกบังคับให้ต้องหลบหนี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม หลังจากที่มัสยิด ร้านค้า และบ้านเรือนถูกเผาทำลายทั่วเมือง

วีระธุกล่าวอีกว่าสิ่งที่เขาเป็นห่วงคือการใช้กำลังบังคับหญิงชาวพุทธให้นับถือศาสนาหลังจากนั้นก็สังหารเมื่อไม่ปฏิบัติตามศาสนาอิสลาม วีระธุเชื่ออีกว่าการสังหารวัวด้วยวิธีการฮาลาลทำให้เกิดความคุ้นชินกับเลือด และอาจขยายไปสู่ความรุนแรงที่เป็นภัยคุกคามความสงบสุขของโลก เขายังกล่าวหาอีกว่าประชากรชาวมุสลิมซึ่งมีอยู่ร้อยละ 5 ของประเทศพม่าเป็นคนที่ได้รับการสนับสนุนและถูกชักใยจากกลุ่มอำนาจในตะวันออกกลาง

 

ไม่ใช่ชาวพุทธทุกคนที่เชื่อคำสอนของวีระธุ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับคำสอนของวีระธุ แม้กระทั่งชาวพุทธด้วยกัน ดังเช่นเจ้าอาวาส อริยะ วุธะ ปีวันทา จากวัดเมียวดีสะยาดอว์ ในมัณฑะเลย์ กล่าวว่า คำสอนของวีระธุโน้มเอียงไปในเรื่องความเกลียดชัด "นี่ไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนคือความเกลียดเป็นสิ่งไม่ดี เพราะว่าพระพุทธเจ้ามองว่าคนทุกคนเท่าเทียมกัน พระองค์ไม่ได้ตัดสินคนผ่านศาสนาที่นับถือ"

มีนักวิจารณ์บางคนชี้ว่าวีระธุขาดการศึกษาทำให้เขากลายเป็นคนสุดโต่งและไม่มีความรู้ แต่ความเห็นของเขากลับมีอิทธิพลในประเทศที่ชาวมุสลิมประสบความสำเร็จด้านการค้าขาย

วีระธุเกิดเมื่อปี 1968 ในเมืองใกล้กับมัณฑะเลย์ เขาออกจากโรงเรียนเมื่ออายุ 14 ปี แล้วมาเป็นพระ เขาบอกว่าที่มาเบวชเป็นพระเพราะต้องการออกจากชีวิตแบบฆราวาสที่มีแต่ความโลภและความมุ่งร้าย และบอกว่าเขาไม่อยากแต่งงานเพราะไม่อยากอยู่กับผู้หญิง เขาอ้างว่าเคยอ่านคัมภีร์อัลกุรอานและมีเพื่อเป็นชาวมุสลิม แต่ก็บอกว่าไม่ได้สนิทสนมด้วยเพราะเพื่อนชาวมุสลิมของเขาไม่รู้จักวิธีพูดกับพระ "ผมจะยอมรับพวกเขาเป็นเพื่อนได้ถ้าหากพวกเขาเห็นว่าผมเป็นบุคคลทางศาสนาที่เป็นที่เคารพและมีความสำคัญ"

แม้ว่าเขาจะเคยติดคุก 7 ปี จากข้อหายุยงให้เกิดความรุนแรงทางศาสนา แต่เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา วีระธุก็เพิ่งได้รับรางวัล "เสรีภาพในการนับถือศาสนา"จากวัดศาสนรามสี (Sasana Ramsi) ซึ่งเป็นวัดพม่าชั้นนำตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในสัปดาห์เดียวกับที่เขาแพร่ข่าวลือเรื่องโรงเรียงย่างกุ้งกำลังถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นมัสยิด

นักวิเคราะห์เตือนว่า สิ่งที่ดูเหมือนเป็นเสรีภาพในการเทศนาตามใจชอบของวีระธุ นอกจากจะสร้างอิทธิพลให้พระรายอื่นๆ เริ่มเทศนาให้เกิดความเกลียดชังอิสลามในลักษณะเดียวกันแล้ว ยังเป็นเรื่องที่น่าจะต้องมีการจัดการอะไรบางอย่าง

"ถ้าหากการเคลื่อนไหวสร้างความเกลียดชังอย่างแนวทาง '969'ที่เป็นโทสะวาทะ (hate speech) และเป็นสัญลักษณ์แสดงความเกลียดชัง (hate symbol) เกิดขึ้นกับกลุ่มคนชาวยิวในยุโรป รัฐบาลของยุโรปในประเทศใดก็ตามคงไม่ยอมทนกับมัน"หม่อง ซาร์นี นักกิจกรรมชาวพม่าผู้ได้รับทุนศึกษาต่อที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ลอนดอนกล่าว เขาตั้งคำถามอีกว่าเหตุใดสหภาพยุโรปถึงไม่จริงจังกับเรื่องนี้ ทั้งที่พม่าเป็นประเทศรับความช่วยเหลือจากอียู

ทั้งประธานาธิบดีเต็ง เส่ง และอองซาน ซูจี ต่างก็ถูกวิจารณ์ว่าไม่ได้ออกมาแสดงการต่อต้านความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพม่าเมื่อช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ขณะที่บางคนชี้ให้เห็นว่าการโจมตีในช่วงที่ผ่านมามีการวางแผนไว้ก่อน วิเจย์ นัมบิยาร์ ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติกล่าวว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายอย่าง 'มีประสิทธิภาพ'และอ้างว่าการโฆษณาชวนเชื่อที่ลามไปทั่วเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปัญหา

เมื่อไม่นานมานี้ นักกิจกรรมหลากศาสนาในพม่าออกมาตามท้องถนนเพื่อประท้วงต่อต้านความรุนแรง  มีการแจกจ่างเสื้อยืดและสติกเกอร์ที่มีข้อความว่า "ฉันจะไม่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนา"แต่ดูเหมือนว่าความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมในพม่าจะแพร่ไปทั่วแล้ว

The Guardian เปิดเผยว่าในกรุงย่างกุ้งเมื่อไม่นานมานี้มีเหตุไฟไหม้มัสยิดจนทำให้มีเด็กเสียชีวิต 13 คน เชื่อว่าเป็นเหตุการวางเพลิง ขณะที่ในอินโดนีเซียมีชาวพุทธสามคนถูกทุบตีจนเสียชีวิตโดยชาวมุสลิมโรฮิงยาที่ทัณฑสถาน ซึ่งดูเหมือนเป็นการตอบโต้เหตุการณ์ที่ชาวพุทธรายหนึ่งในทัณฑสถานกระทำอนาจารต่อผู้หญิงชาวโรฮิงยา

ขณะเดียวกันก็มีข่าวลือว่า คนที่ยุยงให้เกิดการต่อสู้กันเช่นคนอย่างวีระธุเป็นเพียงแค่ตัวเบี้ยหมากของทหารพม่าระดับสูงในการสร้างปัญหาให้กับประชาธิปไตยในพม่าที่เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่วีระธุยืนยันว่าเขาไม่ได้ทำงานให้ใคร เขามีความเชื่อของตัวเองและต้องการให้โลกรับรู้เรื่องนี้

และเช่นเดียวกับชื่อที่เขาตั้งให้ตัวเองว่า 'บิน ลาเดน แห่งพม่า'เขาก็มักจะเรียกร้องให้เกิดการต่อสู้รุนแรง

 

เรียบเรียงจาก Buddhist monk uses racism and rumours to spread hatred in Burma, The Guardian, 18-04-2013 http://www.guardian.co.uk/world/2013/apr/18/buddhist-monk-spreads-hatred-burma

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles