บทเสวนาว่าด้วยข้อเสนอต่อกระบวนการสันติภาพและอนาคตของจังหวัดชายแดนใต้ในมุมมองของข้าราชการในพื้นที่
รายงานชิ้นนี้ได้นำมาจาก "บทสนทนาในห้วงยามเปลี่ยน(ไม่)ผ่าน"กระบวนการสันติภาพในมุมมองของข้าราชการ ในวันที่ 11 เม.ย. 2556 ณ ร้านบูคู ปัตตานี |
หลังจากที่ทางกองบรรณาธิการได้นำเสนอกระบวนการสันติภาพในมุมมองของข้าราชการ ตอนแรกไปแล้วนั้น ยังคงมีประเด็นที่น่าสนใจอีกมากมายจากการเสวนาของกลุ่มข้าราชการต่อกระบวนการสันติภาพ โดยมีผู้เข้าร่วมจากวงเสวนาได้ตั้งคำถามไว้น่าสนใจก็คือ หากมีการปรับโครงสร้างการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว กลุ่มข้าราชการมีความคิดว่า อนาคตทางราชการของตนเองยังคงมีความมั่นคงหรือไม่
ข้าราชการท่านแรกได้ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า ภายในรูปแบบการปกครองของไทยแบ่งเป็นส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ในส่วนที่กล่าวถึงในที่นี้คือ ส่วนท้องถิ่น ซึ่งการปกครองในลักษณะเช่นนี้จะเริ่มมาในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนของมั่นคงในอาชีพของข้าราชการ โดยส่วนตัวคิดว่า สามารถที่จะมีการโอนย้ายได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของราชการ
ข้าราชการท่านต่อมา ได้นำเสนอเพิ่มเติมว่า หากมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างแล้ว หากมีข้าราชการที่รับไม่ได้กับโครงสร้างใหม่ ก็สามารถจะโอนย้ายไปที่อื่นได้ แต่สถานการณ์การปรับเปลี่ยนโครงสร้างอาจจะไปสร้างผลกระทบให้แก่ผู้ที่ต้องการตำแหน่งในส่วนของทวีคูณ
ต่อจากนั้นในวงเสวนาได้มีการตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาของรัฐไว้ว่า ในการแก้ไขปัญหาของรัฐตอนนี้ได้ดำเนินงานอยู่ 2 ยุทธศาสตร์ ก็คือ รัฐใช้การทหารกับการเมืองในเวลาเดียวกันเพื่อแก้ไขปัญหา โดยในขณะที่มีการเจรจาอยู่นั้น ก็ยังคงมีการปฏิบัติหน้าที่ของทหาร ในมุมมองของราชการ ในส่วนตรงนี้จะแนะนำให้รัฐดำเนินงานอย่างไร และอันที่สองหากมีการเจรจาแล้ว ปลายทางเกิดความสงบภายในพื้นที่ รากเหง้าของปัญหาสามจังหวัดนั้นจะได้รับการแก้ไขปัญหาหรือไม่ เช่น ปัญหาการศึกษา ปัญหาคอรัปชั่น ซึ่งทุกวันนี้จะเห็นได้ว่า น้ำหล่อเลี้ยงของปัญหาเหล่านี้ยังคงมีอยู่
ข้าราชการได้นำเสนอจากประเด็นดังกล่าวข้างต้นไว้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาเหล่านี้ก็มีในระดับประเทศ เช่น ปัญหาการเมือง ปัญหาการทุจริต ความขัดแย้งระหว่างผู้นำกับประชาชน แต่ที่พิเศษในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือ มีการก่อเหตุความรุนแรง ซึ่งได้นำไปสู่การเจรจา การเจรจาเปรียบเสมือนกับยาฉุกเฉิน รัฐบาลใช้แก้ปัญหาในระยะสั้น สิ่งที่จะแก้ปัญหาในระยะกลางนั้นก็คือ การแก้ไขปัญหาจากรัฐด้วยความจริงใจ บริการด้วยความเป็นกันเองและเท่าเทียม ทางด้านการแก้ไขปัญหาระยะยาวก็คือเรื่องของการศึกษา และที่สำคัญที่สุดก็คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน และอยากให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นต้นแบบในการมีส่วนร่วมของประชาชน
ข้อเสนอของกลุ่มข้าราชการต่อกระบวนการสันติภาพเป็นอย่างไร
ข้าราชการท่านแรกได้ให้ข้อเสนอต่อกระบวนการสันติภาพไว้ว่า รัฐควรที่จะมีความจริงใจในการแก้ปัญหา และนำปัญหาของชาวบ้าน มาเป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหาโดยแท้จริง ไม่ใช่นำสิ่งที่ไม่ต้องการของชาวบ้านมาใช้ในการแก้ปัญหา สิ่งความไม่ต้องการของชาวบ้านในตรงนี้อาจจะกลับกลายเป็นปัญหาให้กับประชาชนได้
ข้าราชการท่านต่อมาได้นำเสนอว่า ควรที่จะมีการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจัง จะทำอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนมีปากมีเสียง ถ้าไม่ทำเช่นนี้เราก็จะไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่นั้นเป็นอย่างไร มันก็จะเกิดเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซาก
ข้าราชการท่านต่อมา ได้เสนอถึงรัฐบาล สิ่งแรกควรจะจัดระบบ บริหารจัดการบุคคลให้สอดคล้องกันบริบทของพื้นที่ให้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น รับคนในพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น และสิ่งสำคัญอีกประการก็คือ การส่งเสริมการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ผู้เข้าร่วมท่านต่อมาได้นำเสนอถึงกระบวนการพูดคุยที่เกิดขึ้นว่า ณ ตอนนี้ยังคงไม่มีการเสนอเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ข้อสังเกตของพวกเราก็คือว่า ตอนนี้ทำไมความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นนั้น มันยังไม่มีการตกลงใดๆ เพราะฉะนั้นจะเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ให้เกิดความรุนแรง การพูดคุยในตอนนี้ก็คือ การสร้างความมั่นใจและการไว้ใจซึ่งกันและกัน ตอนนี้ประชาชนต้องมีความอดทน สรุปก็คือ ตอนนี้การเจรจายังไม่เกิดขึ้น
ข้อเสนอไปยังสื่อต่างๆ ที่ได้ตั้งประเด็นไว้อย่างไร้สาระก็คือว่า คนที่เข้ามาในการเจรจานั้นเป็นตัวจริงหรือไม่ อยากกล่าวเป็น ตัวจริง ขอยืนยันจากคำพูดของ อ.ศรีสมภพ เป็นบุคคลที่เข้าร่วมในการเจรจาแล้ว หะซัน ตอยยิบ เป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายของบีอาร์เอ็นแล้ว หะซัน ตอยยิบ จากข้อมูลที่ได้รับจากทหารว่า หะซัน ตอยยิบมีตำแหน่งที่ไม่น้อยกว่าระดับแกนนำของพรรค หะซัน ตอยยิบสามารถควบคุมทหารได้หรือไม่ ควรที่จะมองย้อนมาถึงตัวแทนของรัฐบาลไทยว่า ภราดรสามารถที่จะควบคุมกองทัพได้หรือไม่ แต่การพูดคุยในครั้งนี้ภราดรไปในนามของรัฐ เมื่อมีการพูดคุยกันแล้วนายทวีกับนายภราดร จะไปนำเสนอยังรัฐ เช่นเดียวกัน หะซัน ตอยยิบ ก็จะมานำเสนอกับกลุ่มของตนเอง หากขบวนการเห็นด้วยกับข้อยุติความรุนแรง ก็สามารถที่จะยุติได้
ที่มา:PATANI FORUM
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai