กกต. มีมติเชิญ 73 พรรคการเมืองหารือ 22 เม.ย.นี้ เพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. นัดหน่วยงานความมั่นคงถกมาตรการป้องกันเหตุขวาง ลต. และลงมติกรณี ครม.ของบกลางกว่า 970 ล้านให้ ศรส. 8 เม.ย.นี้ ยกคำร้องกล่าวหา “เยาวภา” ขนคนลงคะแนน
2 เม.ย. 2557 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อเวลา 14.00 น. นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. แถลงว่า ที่ประชุม กกต. เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมามีมติให้เชิญหน่วยงานด้านความมั่นคงมาประชุมร่วมกับ กกต. ในวันที่ 8 เม.ย.นี้ เพื่อเป็นการประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง และหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการขัดขวางการเลือกตั้ง เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญระบุในคำวินิจฉัยว่าสาเหตุที่ทำให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้น สถานการณ์ทางการเมืองเป็นสิ่งสำคัญในการจัดการเลือกตั้งให้สำเร็จ โดยการนัดหมายดังกล่าวยังไม่ใช่การออกคำสั่ง แต่เป็นการเชิญชวน เพราะการออกคำสั่งนั้น กกต. จะใช้เฉพาะในการขอกำลังพลมาสนับสนุนในการจัดการเลือกตั้ง และ กกต. หวังว่าผู้บัญชาการแต่ละหน่วยงานมาด้วยตนเอง
นายภุชงค์กล่าวยืนยันว่า กกต. จะเร่งดำเนินการให้มีการตรา พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่โดยเร็ว เพื่อประโยชน์ของชาติให้มีรัฐบาลมาบริหารประเทศในเวลาที่เหมาะสม ดังนั้น กกต. จึงมีมติให้เชิญพรรคการเมืองทั้ง 73 พรรคมาหารือเพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. ที่เหมาะสมในวันที่ 22 เม.ย.นี้ ส่วนกระแสข่าวที่ว่า กกต. มีการวางรูปแบบกรอบระยะเวลาที่จะทำให้การเลือกตั้งแล้วเสร็จใน 90 วัน 120 วัน หรือ 150 วันนั้น เป็นการนำแนวทางคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งให้การเลือกตั้ง ส.ส. เป็นโมฆะเมื่อปี 49 มาเป็นรูปแบบ โดย กกต. จะนำรูปแบบนี้เสนอต่อหน่วยงานความมั่นคงและพรรคการเมืองว่าปัญหาที่ทำให้จัดเลือกตั้งไม่ได้ เพราะสถานการณ์ทางการเมืองยังมีความขัดแย้ง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีช่วงระยะเวลาที่จะทำให้สถานการณ์ต่างๆ เรียบร้อย รวมทั้งมีเวลาให้ กกต. แก้ไขระเบียบต่างๆ ของ กกต. เพื่อให้การเลือกตั้งสามารถดำเนินการได้ ไม่เป็นปัญหาเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะใช้เวลา 30-60 วัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ จากนั้นเมื่อทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าสถานการณ์ได้คลี่คลายลงก็จะออก พ.ร.ฎ.เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งและต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันหลังจากออก พ.ร.ฎ.
สำหรับกรณีกรอบระยะเวลาในการจัดเลือกตั้งนานเกินไปจะกระทบต่อสถานภาพของรัฐบาลรักษาการหรือไม่นั้น นายภุชงค์กล่าวว่า อายุของรัฐบาลรักษาการเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ในเมื่อกระบวนการเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ รัฐบาลก็ต้องรักษาการต่อไป อย่างไรก็ตาม กกต.ไม่ต้องการให้รัฐบาลรักษาการนานเกินไป เพราะรัฐบาลจะมีข้อจำกัดในการทำงาน เนื่องจากเวลาจะมีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง หรือขออนุมัติงบประมาณต่างๆ ต้องส่งเรื่องให้ กกต. เห็นชอบ แต่ในเมื่อสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ก็จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเพื่อให้การเลือกตั้งดำเนินไปด้วยความสงบเรียบร้อย
นัดลงมติกรณี ครม.ของบกลางกว่า 970 ล้านให้ ศรส. 8 เม.ย.นี้
นายภุชงค์ ยังแถลงถึงผลการประชุม กกต. ว่า ที่ประชุมได้พิจารณากรณีคณะรัฐมนตรีขอสนับสนุนงบกลางให้ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศรส.) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายของกำลังพลในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กว่า 970 ล้านบาท โดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะ รอง ผอ.ศรส. ได้ชี้แจงว่า เป็นการใช้จ่ายตามอำนาจหน้าที่และเป็นการขอเบิกงบกลางมาชดเชยค่าใช้จ่ายที่ สตช.ได้จ่ายไปแล้ว กกต.จึงมีข้อสงสัยตามกฎหมายว่า หากมีการใช้จ่ายไปแล้วจะมีการขอเบิกย้อนหลังได้หรือไม่ โดยในวันที่ 2 เม.ย. มีการเชิญผู้แทนด้านกฎหมายของสำนักงบประมาณมาชี้แจงประเด็นดังกล่าว ซึ่งระบุว่าหากมีความจำเป็นในกรณีฉุกเฉินสามารถใช้งบประมาณของหน่วยงานตนเองไปก่อนได้ แล้วมาขอเบิกงบกลางในภายหลัง ซึ่งในวันที่ 2 เม.ย. กกต.ยังไม่มีมติใดๆ ในกรณีดังกล่าว เป็นเพียงการรับทราบการชี้แจง และจะมีการลงมติในวันที่ 8 เม.ย.นี้
ยกคำร้องกล่าวหา “เยาวภา” ขนคนลงคะแนน
นายภุชงค์ แถลงถึงกรณีที่ที่ประชุม กกต.ได้มีการพิจารณาคำร้องคัดการเลือกตั้ง ส.ส. เชียงใหม่ทดแทนที่ นางเยาวภา วงส์สวัสดิ์ ได้รับเลือกตั้ง ที่นางกิ่งกาญจน์ ณ เชียงใหม่ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ร้องว่า นางเยาวภา ได้มีการจัดหารถยนต์ 20 คัน เพื่อนำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ด้วยว่าที่ประชุมกกต.พิจารณาเอกสารหลักฐานแล้วเห็นว่า ไม่มีหลักฐานทำให้เชื่อได้ว่าผู้ถือครองกรรมสิทธิ์รถยนต์ทั้ง 20 คน นั้นมีความเชื่อมโยงกับนางเยาวภา และเห็นว่าพื้นที่ อ.สันกำแพง และดอยสะเก็ด เป็นพื้นที่ภูเขา การที่ผู้ถือครองกรรมสิทธิ์พาผู้มีสิทธิไปใช้สิทธินั้นเป็นการนำเครือญาติไปใช้สิทธิโดยไม่มีการว่าจ้าง จึงมีมติเสียงข้างมาก ยกคำร้องดังกล่าว
เรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย