ศาลรธน.มีมติเอกฉันท์สั่งไม่รับคำร้อง ‘เฉลิม’ กรณีขอให้วินิจฉับ ‘สุเทพ’ และพวกล้มล้างการปกครองฯ-เพื่อให้ได้มาซึ้งอำนาจในการปกครองโดยไม่เป็นไปตาม รธน. ระบุเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมทางอาญาแล้ว
2 เม.ย.2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีการพิจารณาคดีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ในฐานะส่วนตัวและฐานะ ผอ.ศูนย์รักษาความสงบ(ศรส.) ผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ ม.68 ว่า ผู้ถูกร้อง คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวกรวม 54 คน กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ้งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ หรือไม่
ผลการพิจารณา ศาล รธน. มีมติเอกฉันท์สั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา
โดย ศาล รธน.พิจารณาคำร้องที่ผู้ร้องกล่าวอ้างการกระทำขอผู้ถูกร้องที่เกี่ยวกับการปิดเส้นทางจราจรและจัดการชุมนุมในลักษณะดาวกระจายไปตามเส้นทางต่างๆ การนำกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ายึดพื้นที่ของหน่วยงานราชการเพื่อมิให้ข้าราชการเข้าทำงาน การปิดล้อมสถานที่รับสมัคร ส.ส.และปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งเพื่อขัดขวางไม่ให้มีการใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. การทำร้ายร่างกายประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งการสะสมอาวุธปืนและวัตถุระเบิดและอาวุธอื่นๆ โดยมีการพกพาไปตามสถานที่สาธารณะต่างๆ แล้ว เห็นว่าเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ถูกร้องกระทำการที่เป็นความผิดทางอาญาละกฏหมายฉบับต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ซึ่งต้องรับผิดชอบในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฏหมายนั้น และได้มีการดำเนินการจนกระทั่งศาลอาญาได้ออกหมายจับผู้ถูกร้องจำนวนหนึ่งไว้แล้ว กรณีตามคำร้องจึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ ม. 68 วรรคหนึ่ง ที่ศาล รธน. จะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ ม. 68 วรรคสอง ได้ และเมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉับแล้ว คำขออื่นก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณา
ทั้งนี้คำร้องดังกล่าว ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกร้องได้จัดให้มีการชุมนุมเพื่อคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แม้ต่อมาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมิได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา แต่ผู้ชุมนุมทั้งหมดไม่ได้ยุติการชุมนุมกลับสร้างเงื่อนไขเพิ่มเติม และบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมต่อไป และจัดตั้งคณะบุคคลที่เรียกว่า “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือ “กปปส.” ได้ยกระดับการชุมนุมโดยประกาศกำหนดเป้าหมายของการชุมนุมต่อไปว่าต้องการขับไล่ระบอบทักษิณและล้มล้างอำนาจฝ่ายบริหาร
โดยผู้ร้องอ้างว่าผู้ถูกร้องกระทำการต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. ผู้ถูกร้องได้ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมขับไล่โค่งล้มรัฐบาลโดยผู้ถูกร้องที่ 1 กับพวก ได้สลับกันขึ้นเวทีปราศรัยขับไล่รัฐบาลและทำการปฏิรูปการปกครองประเทศใหม่ และจะทำการจัดตั้งรัฐบาลของประชาชน สภาของประชาชนและศาลประชาชน
2. การปิดเส้นทางการจราจร รวมทั้งมีการชุมนุมกระจายไปยังเส้นทางต่างๆ
3. การบุกยึดและปิดล้อมสถานที่ต่างๆ
4. การขัดขวางการเลือกตั้ง
5. การปิดกรุงเทพมหานคร
6. การฝ่าฝืนการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
7. และการใช้กำลังประทุษร้ายและกรทำความผิดตามประมวลกฏหมายอาญาหลายประการ
ผู้ร้องเห็นรว่า แม้รัฐธรรมนูญ ม. 63 วรรคหนีง จะบัญญัติให้บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ แต่การชุมนุมในที่สาธารณะจะต้องไม่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และมิได้หมายความว่าประชาชนจะสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพโดยปราศจากขอบเขต หรือไปละเมิดสิทธิของประชาชนผู้อื่นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่ใช้เสรีภาพดังกล่าวถึงขั้นละเมิดต่อกฏหมายบ้านเมือง เพราะกฏหมายที่ตราออกมาใช้บังคับต่อประชาชนทุกคนย่อมมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจัดระเบียบและรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและประชาชนเป็นสำคัญ ดังนั้นการอ้างว่ามีเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แจต่มีการกระทำอันละเมิดต่อกฏหมายจะถือว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบหาได้ไม่
ผู้ร้องจึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ ขัดต่อรัฐธรรมนุฯ ม. 63 และเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และขอให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องเลิกกระทำการดังกล่าวและกระทำการอื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน อันเป็นการกระทำเพื่อนำไปสู่การล้มล้างรัฐบาล ล้มล้างรัฐธรรมนุญและการปกครอง และเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิใช่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ตามรัฐธรรมนูญ ม. 68 วรรคสอง