นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์ข้อความแสดงความเห็น เกี่ยวกับนโยบายจ่ายค่าตอบแทนตามผลงาน หรือ พีฟอร์พี ของนพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุขว่า “ประวัติศาสตร์ได้จารึกความแตกแยกในกระทรวงสาธารณะสุขไว้แล้วด้วยความขมขื่น ผู้บริหารทั้งการเมืองและข้าราชการประจำ ยังภูมิใจในการเป็นผู้นำองค์กรที่แตกแยกอยู่หรือ ใครผิดใครถูกยังไม่ต้องพิสูจน์ แต่การรักษาความเป็นเอกภาพทางการบริหารองค์กรเป็นบทบาทหลักของผู้บริหารมิใช่หรือ หากยังฝืนยื้อให้กลุ่มต่างๆ มาชนกันจะยิ่งสร้างความเสียหายให้ใหญ่หลวงยิ่งขึ้น ถอยออกมาอย่างผู้ที่มีสติสูง หาทางพูดคุยกันใหม่ระหว่างผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย หากปล่อยให้ผู้ที่ไม่เคยสัมผัสการทำงานบริการสาธารณสุขในชนบท มาให้ความเห็นจะทำให้หลงทางกันไปใหญ่”
อดีต รมว.สาธารณสุขให้ความเห็นต่อนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการให้บริการว่า “อยากยกตัวอย่างการแก้ปัญหาวัยรุ่นท้องก่อนวัยอันควร ที่มีสถิติว่าการคลอดอายุต่ำกว่า 20 ปี มีวันละ 370 ราย 10ราย อายุต่ำกว่า 15 ปี ผู้อำนวยการ รพ.ชุมชนต้องไปทำงานร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม ชุมชน ท้องถิ่น วัด โรงเรียน เพื่อแก้ปัญหาที่ยากสาหัส ใช้เวลา ประสานงานหลายทิศ ถามว่ามีตัวชี้วัดไหม ถ้ามีให้แต้มเท่าไร งานอย่างนี้มีมากในชนบท แม้แต่งานบวช งานศพ งานแต่งงาน ผู้อำนวยการ รพ.ชุมชนจะได้รับเชิญ และต้องไปร่วม เพราะต้องเชื่อมไว้ประสานงานแก้ปัญหาสาธารณะสุขในชุมชน จะทำตัวชี้วัดให้ครอบคลุม และให้แต้มที่เป็นธรรมทำได้ยาก”
“การถอยอย่างผู้เจริญแล้วในขณะนี้ดูเหมือนจะสายเกินไป แต่เชื่อว่าจะได้รับการยกย่องมากกว่าปล่อยให้ทุกอย่างพังทลายลงไป” นพ.มงคลกล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ขณะนี้มีการเคลื่อนไหวของผู้อาวุโสในระบบสาธารณสุข ที่เคยเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันการพัฒนาระบบบริการ ส่งต่อแบบเครือข่ายของ รพ. ระดับต่างๆ และบุกเบิกงานสาธารณสุขมูลฐานในยุคสมัย นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว อดีต รมว.สาธารณสุข ต่อเนื่องถึงสมัย นพ.อมร นนทสุต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำลังหารือเพื่อปกป้องระบบสาธารณสุขของไทยที่เคยเป็นเอกภาพ โดยหลายคนเป็นห่วงว่าการปล่อยให้อำนาจทางการเมืองเข้าแทรกแซงหน่วยงานต่างๆ และผลักดันนโยบายจ่ายค่าตอบแทนตามผลงาน หรือ พีฟอร์พี แบบไม่มีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ และอาจไม่สอดคล้องกับสภาพงานของพื้นที่ รวมทั้งนโยบายเมดิคอลฮับจะเอื้อประโยชน์กับธุรกิจเอกชน และทำให้ระบบสาธารณสุขของรัฐอ่อนแอลง ประชาชน ผู้ป่วยในชนบทเดือดร้อน ซึ่งจะกระทบต่อความมั่นคงของสังคม โดยเฉพาะความมั่นคงในสามจังหวัดภาคใต้ โดยจะมีการเคลื่อนไหวให้รัฐบาลทบทวนนโยบายดังกล่าว
มีรายงานข่าวว่ากลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคไต ผู้ติดเชื้อ HIV และเครือข่ายคนพิการกำลังจะเคลื่อนไหวขอให้ รมว.สาธารณสุข ทบทวนบทบาทของตัวเอง เพราะความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการออกนโยบายที่ผิดพลาดมีผลโดยตรงต่อผู้ป่วยและประชาชน