17 เม.ย.56 เนชั่นแชลแนลรายนงานว่า นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า หม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ได้เสียชีวิตลงแล้วเนื่องจากอาการป่วยเส้นเลือดในสมองตีบ เมื่อวันที่ 16 เม.ย. เวลาประมาณ 17.45 น. ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า สิริรวมอายุ 83 ปี ซึ่งขณะนี้ทายาทและลูกศิษย์ได้กำหนดจัดสวดพระอภิธรรมที่ ณ ศาลาภาณุรังษี วัดเทพศิรินทราวาส แขวงเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ ในระหว่างวันที่ 18- 24 เม.ย. เวลา 19.00 น. ทั้งนี้ จะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ในวันพฤหัสบดีที่ 18 เม.ย. เวลา 18.30 น. ซึ่งทายาทจะเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศลเป็นเวลา 100 วัน และจะขอพระราชทานเพลิงศพต่อไป
"รู้สึกเสียใจที่ได้สูญเสียบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิที่อุทิศตนทำงานเพื่อสังคม ทั้งในด้านวรรณศิลป์ อีกทั้งยังมีความคิดริเริ่ม มีคุณธรรม เสียสละเพื่อส่วนรวม ในการนี้ สวธ. ได้จัดสวัสดิการช่วยเหลือเพื่อร่วมบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน 20,000 บาท และเงินค่าช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท"นายชาย กล่าว
หม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2539 เกิดเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2473 ที่วังมหาสวัสดิ์ เป็นธิดาของหม่อมราชวงศ์สนั่น ลดาวัลย์ กับนางบัวจันทร์ ลดาวัลย์ ณ อยุธยา หม่อมหลวงศรีฟ้าเขียนนวนิยายไว้ประมาณกว่า 100 เรื่องโดยเริ่มงานเขียนเรื่องสั้นตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมปลายเมื่อ พ.ศ. 2489 ใช้นามปากกา "ภัฏฏินวดี"ตีพิมพ์ในนิตยสารเดลิเมล์ และไทยใหม่ ต่อมาได้ใช้นามปากกา "จุลลดา ภักดีภูมินทร์"เขียนนวนิยายเรื่อง "ปราสาทมืด"ตีพิมพ์ในนิตยสารศรีสัปดาห์ เมื่อ พ.ศ. 2498 ได้รับความนิยมมาก ตีพิมพ์ใหม่หลายสิบครั้ง และมีผู้นำไปสร้างภาพยนตร์ไทยและละครโทรทัศน์หลายครั้ง ต่อมาได้ใช้นามปากกา "ศรีฟ้า ลดาวัลย์"เขียนเรื่องสั้น และนวนิยาย ส่วนนามปากกา จุลลดา ภักดีภูมินทร์ ใช้เขียนนวนิยายชีวิตครอบครัว ในระยะหลังได้ใช้นามปากกานี้ เขียนสารคดีเกี่ยวกับชีวิตของเชื้อพระวงศ์ในวัง ตีพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทย
หม่อมหลวงศรีฟ้าเขียนนวนิยายสะท้อนสังคม โดยใช้นามปากกาว่า "สีฟ้า"ตั้งแต่ พ.ศ. 2499 ตั้งให้โดย มานิต ศรีสาคร (สีน้ำ) เป็นนามปากกาที่สร้างชื่อเสียง ผลงานได้รับรางวัล และถูกนำไปสร้างภาพยนตร์เป็นจำนวนมาก เช่นเรื่อง วงเวียนชีวิต ข้าวนอกนา ทำไม แผ่นดินนี้ยังรื่นรมย์ ใต้ฟ้าสีคราม เศรษฐีนี ตะวันไม่เคยเลยลับ โดยเฉพาะเรื่องข้าวนอกนา และใต้ฟ้าสีคราม ได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นโดยมูลนิธิโตโยต้า และถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ สำหรับผลงานที่มีชื่อเสียงเช่น ขมิ้นกับปูน ปราสาทมืด บ่วง ข้าวนอกนา ใต้ฟ้าสีคราม กนกลายโบตั๋น อรุณสวัสดิ์ คนกลางเมือง