พรรคประชาธิปัตย์โต้แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย ไม่รับคำวินิจฉัยศษาลรัฐธรรมนูญ อ้างทฤษฎีสมคบคิดระหว่าง ปชป. กปปส. และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เป็นจิตนการเลื่อนลอยปราศจากข้อเท็จจริง 'อภิสิทธิ์'แนะ 'นายก-สุเทพ'เจรจาลดความขัดแย้ง เรียกประชุม กก.บห.ชุดใหญ่ 25 มี.ค.
22 มี.ค. 2557 เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์รายงานว่านายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีส่วนร่วมใดใดในทฤษฎีสมคบคิด กับ กปปส. และองค์กรตามรัฐธนรรมนูญแต่อย่างใด พรรคประชาธิปัตย์มีความเห็นต่อแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยที่ไม่รับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังต่อไปนี้.-
1.พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าคำร้องที่ผู้ตรวจการณ์แผ่นดินเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด รวมทั้งไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อระบบการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ตามที่บัญญัติไว้ ในมาตรา 197 และมาตรา 3 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อีกทั้งไม่ได้เป็นการเวรคืนอำนาจอธิปไตยของประชาชนไปเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ อำนาจอธิปไตยยังคงเป็นของประชาชนอยู่เหมือนเดิม
2.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมิได้เป็นการสร้างปัญหาและมีผลกระทบต่อส่วนร่วมตามที่พรรคเพื่อไทยกล่าวอ้าง การตัดสินว่าการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญจะเป็นบรรทัดฐานให้มีการขัดขวางการเลือกตั้งอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้ ถ้าการเลือกตั้งสุจริต เที่ยงธรรม และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย และไม่มีการดำเนินการที่ขัดรัฐธรรมนูญก็จะไม่มีความจำเป็นใดใด ที่จะนำไปสู่การร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีการวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่แต่อย่างใด
3.ที่พรรคเพื่อไทยกล่าวว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจนส่งผลกระทบต่อบ้านเมืองขณะนี้ เป็นความต้องการการเมืองนอกระบบของ กปปส. ที่ทำผิดกฎหมายและขัดขวางการเลือกตั้งจนเป็นที่มาของศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้เป็นโมฆะนั้นไม่เป็นความจริง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นจนส่งผลกระทบต่อบ้านเมืองในขณะนี้ เกิดขึ้นจากการกระทำของคุณยิ่งลักษณ์ และคณะ ตลอด 2 ปี ที่มีการบริหารแผ่นดิน ที่ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตจำนำข้าว การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและการออกกฎหมายการนิรโทษกรรมล้างผิดคนโกง เป็นต้น จนประชาชนจำนวนมากออกมาคัดค้านขับไล่รัฐบาล และคัดค้านการเลือกตั้งที่มิชอบตามรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งนำไปสู่การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่าการเลือกตั้ง 2 กพ. 2557 เป็นโมฆะในที่สุด
4.กรณีทีพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ทัศนคติของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่มีปัญหาเพราะสร้างผลงานที่กระทบฝ่ายพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ถูกกระทบนั้นไม่เป็นข้อสันนิษฐานที่ถูกต้องแต่อย่างใด พรรคประชาธิปัตย์มองว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่ทำความผิดศาลรัฐธรรมนูญก็คงไม่สามารถตัดสินให้มีความผิดได้ ส่วนที่กล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ถูกกระทบต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นก็ไม่เป็นความจริง เพราะหลายกรณีพรรคประชาธิปัตย์ยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้วินิจฉัยให้เป็นไปตามคำร้องของพรรคประชาธิปัตย์ และมีหลายกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้พึงพอใจต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เราเคารพในการตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในทุกครั้ง ไม่แสดงอาการข่มขู่ คุกคาม ดูหมิ่นศาลแต่อย่างใด
5.กรณีที่พรรคเพื่อไทยกล่าวหาว่า การไม่ส่งผู้สมัครเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ และการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกพรรรคประชาธิปัตย์ เป็นผลให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่คนไม่สุจริต และไม่มีปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญต้องการนั้น พรรคประชาธิปัตย์ขอยืนยันว่า เราไม่ได้ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ การเลือกตั้งจะเป็นโมฆะหรือไม่เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย ผลออกมาอย่างไรเราพร้อมน้อมรับเพราะฉะนั้นการไมส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นการปฏิบัติภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ไม่มีการกระทำใดใดที่มีการขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
นายองอาจกล่าวเพิ่มเติมว่า การออกแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญและกล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์ใช้ทฤษฎีสมคบคิดกับ กปปส. และองค์กรตามรัฐธรรมนูญเพื่อช่วงชิงอำนาจทางการเมือง ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทำลายทางการเมืองจึงเป็นข้อกล่าวหาที่จินตนาการ เลื่อนลอย ปราศจากข้อเท็จจริง ในทางตรงกันข้ามพรรคเพื่อไทยเป็นผู้ที่ใช้ทฤษฎีเจตนาคิด เพื่อให้ได้อำนาจทางการเมืองแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ถูกจับได้ไล่ทันในที่สุดจนถูกศาลและองค์กรอิสระตัดสินว่าผิดในหลายกรณี พรรคเพื่อไทยจึงยอมรับผลของการกระทำของตนโดยดุษฎีจะดีกว่า มากกว่าที่จะออกมาไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลและกล่าวหากลุ่มองค์กรอื่นๆ และพรรคประชาธิปัตย์ โดยไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด ซึ่งถ้าพรรคเพื่อไทยยังดำเนินการในลักษณะนี้อยู่ต่อไป ก็จะมีส่วนอย่างสำคัญในการซ้ำเติมปัญหาของประเทศให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เตือน “ยิ่งลักษณ์ – เพื่อไทย” หยุดซ้ำเติมวิกฤตบ้านเมืองใช้ 2 ก.พ. เป็นบทเรียน
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวต่อว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและพลพรรคเพื่อไทย ต้องมีบทบาทสำคัญกับโอกาสที่จะปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปในทางที่ดี เพราะวันนี้ หากรัฐบาลยึดแนวทางเดิม คือมุ่งแต่จะเลือกตั้งให้ได้ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านอื่น และไม่คำนึงว่าผลการเลือกตั้งนั้นเป็นทางออกของประเทศหรือไม่ การเลือกตั้งก็ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์และไม่แตกต่างจากการเลือกตั้ง 2 ก.พ. ที่ผ่านมา ดังนั้นตนอยากให้นางสาวยิ่งลักษณ์และรัฐบาลนำเอาการเลือกตั้ง 2 ก.พ.มาเป็นบทเรียน แต่ถ้ายังดึงดันจะทำเหมือนเดิม ตนขอถามว่า รัฐบาลมีวัตถุประสงค์อะไรที่จะมาซ้ำเติมวิกฤตของบ้านเมืองให้เพิ่มขึ้น “คุณยิ่งลักษณ์ ควรใช้โอกาสนี้เป็นการเริ่มต้นให้กับบ้านเมือง เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม ในการพาบ้านเมืองออกจากวิกฤต การมาตั้งคำถามหรือมาเรียกร้องว่าพรรคประชาธิปัตย์จะลงเลือกตั้งหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่คำตอบของปัญหา แต่สิ่งที่เป็นโจทย์ที่มีคำตอบที่เป็นทางออกคือ การจัดการเลือกตั้งจะต้องไม่ซ้ำรอย 2 ก.พ. วันนี้ฝากไปถึงรัฐบาลเพื่อไทยว่า จะเลือกทางออกของบ้านเมือง หรือจะเดินไปสู่ทางตัน” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
'อภิสิทธิ์'แนะ 'นายก-สุเทพ'เจรจาลดความขัดแย้ง
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมาไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.57 เป็นโมฆะว่า ทุกฝ่ายต้องเคารพคำวินิจฉัยศาล และเป็นโอกาสในการคลี่คลายปัญหาบ้านเมือง เพื่อหาทางให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อเดินหน้าไปสู่สิ่งที่ดีกว่า โดยกกต.จะต้องเป็นเจ้าภาพร่วมกับรัฐบาล ระดมความคิดว่า การจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเกิดความเรียบร้อย ไม่มีปัญหาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จะทำอย่างไร จึงขอให้รัฐบาลปรับท่าทีใหม่ จากที่เคยแสดงออกว่า จะไม่มีการเจรจา แต่จะกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ทันที เพราะไม่ทราบว่า จะทำไปทำไม หากตั้งใจจะให้กระบวนการประชาธิปไตยเดินหน้า ก็ต้องทำให้กระบวนการราบรื่น คือ ทุกฝ่ายยอมรับเพื่อกำหนดเส้นทางให้บ้านเมืองร่วมกัน โดยไม่ขัดกฎกติกา จึงไม่เห็นเหตุผลใดที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาฯ กปปส. จะคุยกันไม่ได้
เพราะ นายสุเทพ บอกว่า พร้อมคุยแต่ขอให้มีการถ่ายทอดสด เพื่อให้ประชาชนสบายใจ แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เคยตั้งเงื่อนไขสองเรื่อง คือ ให้เลือกตั้งให้เสร็จ ตอนนี้จบแล้ว และให้นายสุเทพกลับบ้าน ซึ่งตอนนี้ นายสุเทพ อยู่ในสวนลุมฯ ก็ไม่มีประเด็นที่จะต้องตั้งเงื่อนไขอะไรแล้ว จึงควรที่จะคุยกันเพื่อกำหนดแนวทางว่า มีอะไรต้องดำเนินการก่อนการเลือกตั้งบ้าง แต่ถ้าบรรยากาศยังเป็นแบบนี้ ก็ไม่มีใครตอบได้ว่า การเลือกตั้งจะสำเร็จหรือไม่ และจะมีคำถามเกิดขึ้นว่าจะมีหลักประกันความเรียบร้อยในการเลือกตั้งอย่างไร
เมื่อถามว่า จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ จะเป็นอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พรรคต้องการเห็นการเลือกตั้งที่เรียบร้อย เมื่อมีสิ่งนั้นเกิดขึ้นพรรคก็พร้อม ไม่ใช่กำหนดการเลือกตั้งโดยรัฐบาลฝ่ายเดียว เพราะโดยหน้าที่ต้องทำร่วมกับ กกต. เพราะเวลามีปัญหารัฐบาลก็บอกว่า เป็นเรื่องของ กกต. แต่เวลาที่จะไปสร้างเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรค รัฐบาลกลับไปกำหนดก็ไม่ถูกต้อง จึงต้องปรับท่าทีใหม่ เพราะถ้ารัฐบาลกับ กกต.ไม่ร่วมกัน ทำให้การจัดการเลือกตั้งเรียบร้อย จะเกิดปัญหาเดิมขึ้นอีก ส่วนพรรคจะเว้นวรรคทางการเมืองโดยไม่ส่งผู้สมัครลงอีกครั้งหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่เงื่อนไขการกำหนดแนวทางที่จะไปสู่การเลือกตั้ง ยังตอบอะไรในขณะนี้ไม่ได้ แต่พรรคการเมือง ต้องทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของการปฏิรูปประเทศด้วย เพราะปัญหาที่ผ่านมาคนมองว่า พรรคการเมือง สนใจแต่การแย่งชิงอำนาจ โดยไม่สามารถทำให้บ้านเมืองหลุดพ้นจากปัญหาเดิมๆ ได้ จึงเป็นที่มาที่การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น พรรคการเมือง ต้องมาทำหน้าที่เป็นเครื่องมือรับใช้การปฏิรูปประเทศ เพื่อให้เกิดความมั่นใจ การมีจุดยืนอย่างเป็นรูปธรรมจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าพรรคการเมือง พร้อมที่จะเป็นเครื่องมือในการปฏิรูป แต่จะเริ่มต้นไม่ได้เลยหากยังไม่มีการคุยกันขอใช้วิกฤติเป็นโอกาส นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ตนมองในเชิงบวกว่า ขณะนี้เป็นโอกาสรัฐบาลกับกกต. อย่าเพิ่งผลีผลามกำหนดวันเลือกตั้ง ขอให้ใช่คำวินิจฉัยของศาลครั้งนี้เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จของประเทศจะดีที่สุด หากมีการวางหลักเกณฑ์เลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย มีหลักประกันเรื่องความเป็นธรรม ไม่อุปสรรคในการจัดการเลือกตั้ง รัฐบาลกับ กปปส.ก็พูดคุยกันว่า มีเงื่อนไขอะไรบ้าง เพราะต้องสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้มีการเลือกตั้ง ส.ว. แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ตื่นตัวน้อยมาก กฎหมายกติกา ที่มีอยู่ สามารถที่จะสร้างความมั่นใจในกระบวนการเลือกตั้งได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องนำปัญหามาวางบนโต๊ะเพื่อหาทางออก แต่ถ้าคิดที่จะปรับโครงสร้างระบบเลือกตั้งก็จะเป็นปัญหาเพราะต้องแก้รัฐธรรมนูญ หรือ แก้ไขกฎหมาย ซึ่งจะมีคำถกเถียงอีกว่า ใครมีอำนาจนิติบัญญัติ ดังนั้น เบื้องต้นต้องไม่ยึดติดในเรื่องรูปแบบ แต่ดูว่าอะไรจะทำให้การเลือกตั้งเดินหน้าเพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับบอกสื่ออย่าถามมาก หากตอบไม่ตรงอาจแท้งก่อนถกนาย
อภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้อย่าใช้วิธีการเค้นหาคำตอบ จากแต่ละฝ่าย เพราะหากคำตอบไม่ตรงกัน บ้านเมืองก็เดินไม่ได้ จึงควรตั้งต้นว่า ความห่วงใยของประชาชนจำนวนมากที่แสดงออก และทำให้การเลือกตั้งไม่สำเร็จ จะขจัดเงื่อนไขเหล่านี้อย่างไร เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาธิปไตย อย่าถามรายละเอียดมาก เพราะถ้าตนพูดมากแล้วไม่ตรงกับกับฝ่ายนั้น ฝ่ายนี้ ก็จะไม่ยอมคุยกันอีก จึงต้องเริ่มถามทุกคนก่อนว่า พร้อมที่จะคุยหรือไม่ พรรคประชาธิปัตย์พร้อมเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้า อย่าเพิ่งถามว่า จะคุยอะไร โดยอะไรก็ตามที่จะเป็นปัจจัยให้ทุกฝ่ายยอมรับเลือกตั้ง นำไปสู่การปฏิรูปเป็นโจทย์ที่ต้องนำมาตั้งต้นก่อน แต่ถ้ายังปฏิเสธปิดประตูอีก เพียงเพื่อเอาชนะคะคานกัน ก็ไม่เป็นประโยชน์กับใคร
ปชป.เรียกประชุม "กก.บห.ชุดใหญ่" 25 มี.ค.
เนชั่นทันข่าวรายงานเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2557 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังได้เรียกประชุมเป็นการภายในกับรองหัวหน้าภาคต่างๆ , รองเลขาธิการภาคและกรรมการบริหารพรรคบางส่วน โดยใช้เวลาประชุมประมาณ 1 ชม. เรื่องการเตรียมความพร้อมในการลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยมีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบให้รองเลขาธิการภาค เน้นทำพื้นที่และรับผิดชอบพื้นที่ตามรายภาค อาทิ นายอัศวิน วิภูศิริ รองหัวหน้าภาคเหนือร่วมดูแลพื้นที่กับนายนราพัฒน์ แก้วทอง รองเลขาธิการพรรคภาคเหนือ , คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รองหัวหน้าภาคอีสาน ร่วมดูแลพื้นที่กับ นายวิรัช ร่มเย็น และ นายศุภชัย ศรีหล้า
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ส่วนนายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าภาคกลาง รับผิดชอบพื้นที่กับนายศิริโชค โสภา รองเลขาธิการพรรคภาคกลาง , นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าภาคกทม. ดูแลภาคกทม.และนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคพื้นที่ภาคใต้ ดูแลพื้นที่ร่วมกับนายเทพไท เสนพงศ์ รองเลขาธิการภาคใต้ ในกรณีที่พรรคส่งคนลงสมัครับเลือกตั้ง ซึ่งจะมีการประชุมกรรมการบริหารพรรคชุดใหญ่อีกครั้งในวันที่ 25 มี.ค. นี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai