สืบเนื่องจากเหตุการณ์ความสูญเสียของผู้ป่วยและผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินอย่างต่อเนื่องในอุบัติเหตุบนท้องถนนขณะที่ต้องดูแลและนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งจากจุดเกิดเหตุหรือการส่งต่อระหว่างโรงพยาบาลโดยเหตุการณ์ล่าสุดนั้นเกิดขึ้นกับรถพยาบาลฉุกเฉินของเกาะลันตาจังหวัดกระบี่จนส่งผลให้พยาบาลและผู้ป่วยเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดในแต่ละครั้งนั้นนำไปสู่ความเศร้าใจของทุกฝ่ายซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเราและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหามาตรการแก้ไขโดยเร่งด่วน ซึ่งเรื่องแรกที่ปรับปรุงได้ทันทีคือการขับขี่รถพยาบาลอย่างปลอดภัยของพนักงานขับรถ ทั้งนี้ตามมาตรฐานของการรับรองรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาตินั้นได้ระบุถึงแนวทางในการขับขี่รถกู้ชีพ และรถพยาบาลฉุกเฉินอย่างปลอดภัยดังนี้ 1. ขอให้งดพฤติกรรมการเปิดสัญญาณไซเรน และสัญญาณไฟวับวาบ เพียงเพื่อนำขบวนหรือนำหน้าเพื่อนำทางรถอื่นที่ไม่เกี่ยวกับปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน 2. จะต้องมีสัญลักษณ์บ่งบอกการเป็นรถปฏิบัติการฉุกเฉินตามที่กำหนดไว้ในส่วนของมาตรฐานการแสดงสัญลักษณ์และเครื่องหมายในข้อกำหนดของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 3.อุปกรณ์ภายในรถกู้ชีพนั้นจะต้องมีเข็มขัดนิรภัยทุกจุดที่นั่งและสายรัดเข็มขัดโยงตัวเพื่อให้ทำการฟื้นคืนชีพหรือการทำ CPR ได้สะดวก 4.ภายในรถจะต้องมีราวยึดจับสำหรับเจ้าหน้าที่และญาติที่มีความแข็งแรงทนทาน 5. ผู้ขับพาหนะฉุกเฉินจะต้องได้รับอนุญาตให้นำรถปฏิบัติการฉุกเฉินมาใช้ในการบริการการแพทย์ฉุกเฉินจากหน่วยปฏิบัติการอย่างถูกต้อง รวมทั้งมีใบอนุญาตขับขี่ที่ถูกต้องด้วย 5 ขับขี่ด้วยความระมัดระวังเป็นที่สุดเปิดสัญญาณไฟและเสียงตามข้อกำหนดทุกประการ ลดความเร็วลงในพื้นที่เสี่ยงและทางร่วมทางแยก
“นอกจากนี้แล้วอยากให้ประชาชนทั่วไปให้ความร่วมมือ กรณีรถพยาบาลฉุกเฉินจำเป็นต้องขอทางด้วยสัญญาณไฟและไซเรนเพื่อนำส่งผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ควรรีบหลีกทางให้กับรถพยาบาลคันดังกล่าวเหมือนประหนึ่งมีพี่น้องพ่อแม่เราป่วยฉุกเฉินต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนและเป็นการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุกับรถพยาบาลเหล่านั้นด้วย” เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินกล่าว