Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

‘เด็ก-ภาคใต้-112’ ประเด็นอ่อนไหวในการรายงานข่าวความขัดแย้ง

$
0
0
นักวิชาการตอบคำถามทำไมสื่อต้องแคร์เด็ก ด้านนักกิจกรรมจาก ilaw ชี้คำตัดสินคดีสนธิ-ภูเก็ตหวาน ทำเส้นแบ่งรายงานข่าว 112 สั่นคลอน ส่วนบรรณาธิการศูนย์ข่าวภาคใต้แนะรายงานเหตุการณ์ความรุนแรงใต้ไม่ควรด่วนสรุป
 
19 มี.ค. 2557 เสวนา ‘ความอ่อนไหวหลากมิติ: ทำไมต้องแคร์และควรรายงานอย่างไร’ ในการอบรมเรื่องการรายงานข่าวประเด็นอ่อนไหวในสถานการณ์ความขัดแย้ง ระหว่างวันที่ 18 – 19 มี.ค. 2557 ณ โรงแรมดิเอทัส กรุงเทพฯ จัดโดยโครงการสะพาน-เสริมสร้างประชาธิปไตย (Sapan-Strengthening Democracy) โดยความสนับสนุนของ USAID
 
 
 
ตอบคำถามทำไมสื่อต้องแคร์เด็ก
 
ประไพพิศ มุทิตาเจริญ อาจารย์คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ เมื่อ พ.ศ.2535 ทำให้ต้องปฏิบัติตามเพื่อดูแลสิทธิเด็กให้เป็นจริง ส่วนสื่อมวลชนนั้นถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะก่อให้เกิดบรรยากาศที่เอื้อต่อการคืนสิทธิให้เด็ก โดยเคารพเด็กในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง และยังเป็นตัวกลางที่สามารถโน้มน้าวให้คนในสังคมสนใจเรื่องการละเมิดสิทธิที่เด็กพึงมีพึงได้ รวมทั้งสามารถกระตุ้นให้รัฐบาลตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ดำเนินนโยบายเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงชีวิตผู้คนให้ดีขึ้นได้
 
อาจารย์คณะวารสารศาสตร์ กล่าวด้วยว่า ในสังคมไทยเด็กยังขาดอำนาจและมีเด็กน้อยคนนักที่สามารถใช้สิทธิได้เองโดยปราศจากความช่วยเหลือในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ตามสิทธิเด็กมีเงื่อนไขอยู่ตรงที่ผู้ใหญ่จะต้องเป็นผู้มอบสิทธินั้นให้แก่เด็ก
 
สำหรับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ประไพพิศยกตัวอย่างข่าวเด็กชายโต๊ดและวลีดัง “เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่” โดยตั้งคำถามว่า การนำเสนอข่าวนี้เป็นการนำเด็กขึ้นมาหยอกล้อ เสียดสี ประชดประชันหรือไม่ ให้อะไรกับสังคม และได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็กหรือไม่ นอกจากนั้นยังมีกรณีการนำเสนอภาพเด็กในม็อบ ซึ่งพบว่าสื่อเลือกฉายภาพให้เห็นว่าเด็กในม็อบแดงมีสถานภาพทางสังคม ครอบครัว และเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าเด็กในม็อบเหลือง เพื่อสื่อสารข้อมูลบางอย่าง แต่ตรงนี้อาจไม่ได้สะท้อนความจริงทั้งหมด
 
ประไพพิศ ยังกล่าวถึงผลการศึกษา ‘การนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเด็กผ่านสื่อมวลชน’ เมื่อปี พ.ศ.2552 พบว่า สื่อไม่ให้ความสำคัญ ข่าวเกี่ยวกับเด็กปรากฏในหน้าในมากกว่าหน้าแรกและเนื้อหามักเป็นไปในทางลบ การรายงานข่าวที่ละเมิดสิทธิเด็กในหนังสือพิมพ์พบร้อยละ 36 ของข่าวและภาพข่าว ส่วนโทรทัศน์พบร้อยละ 34 ของข่าว
 
ของจากนั้น ยังมีงานวิจัยของยุโรปที่ระบุว่า เด็กทั้งโลกโดยเฉพาะในยุโรปตะวันออกเห็นว่า “ผู้ใหญ่ไม่ค่อยฟังเรา” เพราะผู้ใหญ่มักมองเด็กในฐานะคนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร อย่างในสังคมไทยก็จะมีสำนวนที่ว่า “เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด” “ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน” ซึ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ท่ามกลางสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป สื่อจะสะท้อนข้อเท็จจริงอย่างไรในฐานะผู้มีหน้าที่สื่อสาร
 
 
คำตัดสินคดีสนธิ-ภูเก็ตหวาน ทำเส้นแบ่งรายงานข่าว 112 สั่นคลอน
 
ส่วนยิ่งชีพ อัฌชานนท์ โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวถึงการนำเสนอข่าวผ่านเว็บไซต์ของ iLaw ในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ มาตรา112 และคดีหมิ่นประมาท ซึ่งมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ 1.ข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ไม่ได้ ต้องไม่เผยแพร่ซ้ำเพื่อเคารพสิทธิของผู้เสียหายด้วย 2.คำพูดที่ถูกกล่าวหา ต้องระวังว่าการเผยแพร่ซ้ำจะเป็นความผิดหรือไม่ และ 3.ต้องระวังความเกลียดชังในสังคม คิดถึงสิทธิของจำเลยและครอบครัว ซึ่งข้อนี้ต้องคำนึงถึงมากในคดี 112 เพราะสังคมพร้อมประณาม รังเกียจผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้โดยไม่ตรวจสอบ
 
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีคดี 2 คดีที่ทำให้ iLaw ต้องระมัดระวังในการรายงานข่าวมากยิ่งขึ้น คดีแรกคือ คดีสำนักข่าวภูเก็ตหวานซึ่งเป็นเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ในภูเก็ตถูกกองทัพเรือฟ้องหมิ่นประมาท หลังเผยแพร่รายงานของรอยเตอร์ที่ระบุว่าบุคลากรของกองทัพเรือบางส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ทั้งที่รายงานที่นำไปสู่การฟ้องร้องนั้นเป็นการแปลรายงานที่จัดทำโดยสำนักข่าวต่างประเทศซึ่งมีการเผยแพร่อยู่แล้ว
 
คดีต่อมาคือ คดีฟ้องสนธิ ลิ้มทองกุลอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ข้อหาหมิ่นสถาบันฯ จากการนำคำพูดของดา ตอร์ปิโด ขึ้นปราศรัยซ้ำบนเวทีพันธมิตรฯ เมื่อปี 2551 ซึ่งเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2556 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี โดยศาลเห็นว่า จำเลยหมิ่นประมาทซ้ำ แม้ไม่เจตนา แต่เป็นการกระทำที่ไม่ระวังระวังอย่างเพียงพอ ทำให้ส่งผลกระทบต่อสถาบัน จากที่ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเนื่องจากเห็นว่าไม่มีเจตนา
 
อย่างไรก็ตาม iLaw ยังคงหามาตรฐานการรายงานข่าวเกี่ยวกับ ม.112 และคดีหมิ่นประมาท เพื่อขยับเส้นแบ่งที่อ่อนไหวทางสังคม
 
 
ความรุนแรงในภาคใต้ สถานการณ์ข่าวที่ไม่ควรด่วนสรุป
 
ปกรณ์ พึ่งเนตร บรรณาธิการศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา กล่าวถึงการรายงานข่าวประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า มีความพยายามมาอย่างยาวนานในการแก้ไขปัญหาของสื่อหลักที่ถูกวิจารณ์ว่าไม่มีความรู้ รายงานข่าวซ้ำเติมสถานการณ์ โดยเมื่อปี 2548 หลังเหตุการณ์ปล้นปืนปี 2547 มีการนำนักข่าวทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ลงพื้นที่ และต่อมาได้มีการตั้งสำนักข่าวอิศรา โต๊ะข่าวภาคใต้ขึ้น โดยพยายามนำเสนอข่าวสารเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ไม่ซ้ำเติมปัญหา มีการลงพื้นที่พูดคุยเรื่องสื่อสันติภาพ และไม่มุ่งเน้นการนำเสนอข่าวความรุนแรงรายวัน
 
ปกรณ์ ยกตัวอย่างว่า ล่าสุดมีนักข่าวในพื้นที่ส่งข่าวเหตุฆ่าเผาอดีตตำรวจเกษียณอายุราชการที่ จ.ยะลา นักข่าวรายงานโดยระบุผู้ก่อเหตุว่าเป็นสมุนของกลุ่มก่อการร้ายในพื้นที่ทันทีหลังเกิดเหตุ ทั้งที่เป็นไปได้ยาก ต้องรู้จากฐานข้อมูลการข่าว จึงไม่ได้นำรายงานข่าวดังกล่าวขึ้นเผยแพร่ เนื่องจากนักข่าวอาจยังไม่ได้ค้นหาข้อมูลเพียงพอ ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ หรือฟังแต่สิ่งที่ตำรวจสรุปแล้วมารายงาน
 
พร้อมระบุว่า “การฆ่าด้วยวิธีของกลุ่มก่อความไม่สงบ ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นฝีมือของลุ่มก่อความไม่สงบ” และยกตัวอย่างเหตุรุนแรงในภาคใต้มีหลายกรณีที่เกิดจากความขัดแย้งส่วนบุคคล
 
ทั้งนี้ ปกรณ์กล่าวถึงหลักการของศูนย์ข่าวภาคใต้ว่า 1.ไม่ด่วนสรุป ต้องไปค้นหาข้อมูลก่อน 2.การนำเสนอข่าวตามคุณค่าแบบเก่า เน้นเลือด ความรุนแรง ขณะที่เรื่องดีๆ ไม่เป็นข่าว ไม่เหมาะสมแล้วในสถานการณ์ปัจจุบัน และพยายามนำเสนอประเด็นวิถีชีวิต ผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ฯลฯ ให้นอกเหนือไปจากเรื่องความรุนแรง
 
ปกรณ์กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ในพื้นที่ยังคงมีปัญหาการเคารพสิทธิผู้ถูกกล่าวหาในคดีความมั่นคงต่างๆ ถูกละเลย ผู้สื่อข่าวไม่สนใจติดตามรายงานข่าวความคืบหน้าคดี ทั้งที่หลายกรณีมีบทสรุปคือศาลยกฟ้อง เพราะจมอยู่กับการรายงานข่าวรายวัน  อีกทั้งจุดอ่อนของสื่อคือการต้องแข่งขันกันด้วยความเร็วเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโซเชียลมีเดียเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การเมืองปัจจุบันทำให้ข่าวในภาคใต้ลดความสำคัญในพื้นที่สื่อลง จะถูกนำเสนอในหน้า 1 ก็เมื่อมีเหตุการณ์รุนแรง
 
 
ผู้สื่อข่าวอาวุโสแนะหลักการเสนอข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง
 
ด้านสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น กล่าวถึงหลักการเสนอข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งว่า 1.ดูบริบทของความขัดแย้ง 2.ดึงตัวเองออกมาจากบริบท วางตัวเองในฐานะผู้สังเกตการณ์ พยายามอธิบายให้คนเข้าใจ อ้างทุกๆ คนเท่าที่จะทำได้ และอย่าก๊อปปี้ไฟล์ตำรวจมานำเสนอ 3.เขียนอย่างไม่เชื่อในข้อมูล ซึ่งคนเขียนข่าวภาษาอังกฤษอาจทำได้ง่ายกว่าเพราะสามารถพาตัวเองออกจากบริบทสังคมไทยที่กำกับอยู่ได้มากกว่า

4.อย่ารายงานโดยใช้อารมณ์ เช่น พวกเขาเป็นโจรใต้ พวกเขาจะแบ่งแยกดินแดนอันเป็นที่รักของเราไป และ 5.ไม่ควรตัดสินคุณค่าบางอย่างด้วยมาตรฐานทางศีลธรรม สิ่งเดียวที่จะต้องทำคือรายงานข้อเท็จจริงอย่างเดียว แต่สิ่งที่สื่อเป็นอยู่ในปัจจุบันคือข้อเท็จจริงยังไม่ได้ แต่ไปรายงานเชิงคุณค่าทางศีลธรรมก่อน
 
นอกจากนี้ หลักที่สำคัญคือพยายามหาสมดุลจากทุกฝ่าย อย่ามองว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิด อาจจะผิดทั้งคู่ก็ได้
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles