ประท้วงหน้าศาลอาญา ประกาศไม่เห็นด้วยข้อเสนอสรรหาคนกลาง ระบุ6 องค์กรอิสระรับลูกต่อ กปปส. เรียกร้องให้ยุติการกระทำใดๆ ที่อาจสนับสนุนการรัฐประหาร ชี้กองทัพต้องเคารพแนวทางประชาธิปไตย
18 มีนาคม 2557 เวลา14.00น. บริเวณหน้าศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก น.ศ.กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย นักกิจกรรมทางการเมืองจากกลุ่มจับตาองค์กร(ไม่)อิสระ และกลุ่มวันใหม่ ประมาณ10 คน ได้เดินทางมา จัดกิจกรรม'ชงเอง กินเอง'บริเวณบังเกอร์ทหารจากสังกัดหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ หน้าทางเข้าศาลอาญา โดยมีการแต่งตัวและสวมหน้ากากเลียนแบบตัวแทนจาก 6 องค์กรอิสระ อาทิ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร จาก กกต.นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม.ฯลฯ หลังมีข้อเสนอให้คู่ขัดแย้งสรรหาคนกลางแก้วิกฤตชาติ โดยทำท่าทางชงโอวัลติน พร้อมมีป้ายเขียนข้อความ'ชงเอง กินเอง'
นอกจากกิจกรรมเต่งตัว ใส่หน้าการล้อเลียนแล้ว กลุ่มผู้จัดกิจกรรมยังได้อ่านแถลงการณ์ ใจความว่า องค์กรอิสระทั้ง 6 องค์กร คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เข้ามาแทรกแซงทางการเมือง กระทำการนอกเหนืออำนาจที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เป็นองค์กรภายใต้กฎหมายถือเป็นการใช้บทบาทหน้าที่ขององค์กรอิสระที่ไม่เหมาะสม จึงขอประณามการกระทำดังกล่าว และคัดค้านความพยายามใดๆ ในการยั่วยุให้เกิดการรัฐประหาร
ในตอนท้าย แถลงการณ์ยังเรียกร้องให้สถาบันทหารยึดแนวทางประชาธิปไตย ยุติการกระทำใดๆ ที่อาจสนับสนุนการรัฐประหาร
รัฐพล ศุภโสภณ นักศึกษาชั้นปี ที่ 3 คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ตัวแทนผู้ชุมนุมกล่าวว่า สาเหตุที่แต่งตัวเลียนแบบและอ่านแถลงที่หน้าศาลอาญา เนื่องจากจุดที่ต้องไปอยู่ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ แต่ถูกกลุ่มมวลชนของหลวงปู่พุทธะอิสระชุมนุมอยู่ จึงเลี่ยงมาใช้พื้นที่นี้แทน ซึ่งมีศาลและบังเกอร์ทหารเป็นฉากหลัง และพฤติกรรมของ 6 องค์กรที่ได้แถลงเมื่อวานนี้ ก็สอดคล้องกับแนวคิดกลุ่ม กปปส.ที่ละเมิดสิทธิของประชาชนในการเลือกตั้ง โดยเฉพาะ กกต.ที่ไม่จริงใจในการจัดการเลือกตั้ง หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ทางกลุ่มอาจจะมีแนวทางการเคลื่อนไหวต่อไป
๐๐๐๐
แถลงการณ์ประณามองค์กรอิสระ 6 องค์กร และขอคัดค้านความพยายามใดๆในการยั่วยุให้เกิดการรัฐประหาร
สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยปัจจุบันได้ตกอยู่ภายใต้สภาวะที่ตึงเครียดและขัดแย้งต่อมาเป็นเวลานานและทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และแม้ว่ารัฐบาลจะได้พยายามแสวงหาทางออกจากวิกฤตทางการเมืองด้วยการยุบสภาและเปิดให้ประชาชนทั่วประเทศได้มีการเลือกตั้งใหม่เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อนำความขัดแย้งกลับเข้าสู่ระบบรัฐสภา อันเป็นครรลองตามระบอบประชาธิปไตยที่ยึดถือกันในนานาประเทศ แต่แนวทางดังกล่าว กลับถูกขัดขวางและทำลายโดยกลุ่มกปปส. เป็นที่น่าสังเกตว่า ในท่ามกลางภาวะวิกฤตดังกล่าว องค์กรอิสระ ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่ที่สำคัญในด้านต่างๆ ในการตรวจสอบ ถ่วงดุล และสร้างหลักประกันให้ประเทศได้ดำเนินไปตามครรลองประชาธิปไตย ตลอดจนคุ้มครองและรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่องค์กรเหล่านี้กลับมิได้ทำหน้าที่ของตนตามบทบาทที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ บางองค์กรกลับแสดงท่าทีและเจตนาที่ขัดต่อสวนทางต่อระบอบประชาธิปไตย และกลายเป็นชนวนสำคัญของวิกฤตทางการเมืองเสียเอง เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ได้แสดงท่าทีมาโดยตลอดในการที่จะเลื่อนและต้องการให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เป็นต้น
แถลงการณ์ของ 6 องค์กรอิสระเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ที่เสนอให้รัฐบาลและฝ่ายผู้ชุมนุมเสนอชื่อคนกลางเข้ามาทำหน้าที่แก้ไขความขัดแย้งของประเทศ ไม่เพียงแต่เป็นการกระทำที่ขัดต่ออำนาจหน้าที่ของตนที่กำหนดไว้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่ยังเป็นการละเมิดเจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ได้ไปใช้สิทธิของตนในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อเลือกผู้แทนราษฎรให้ทำหน้าที่แทนตนในระบอบรัฐสภา อันเป็นครรลองที่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย การเรียกหาคนกลางที่ไม่ได้มาจากเสียงและความเห็นชอบของประชาชน จึงเป็นแนวทางที่ขัดต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง และเป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อเสนอดังกล่าว เกิดขึ้นและสอดรับเป็นอย่างดีกับสถานการณ์ก่อนหน้านี้ ในการเรียกร้องให้ทหารเข้าแทรกแซงทางการเมือง โดยผู้ที่มิได้มีอำนาจหน้าที่ใดๆทางการเมือง อันเป็นแนวทางโดยชัดเจนที่ต้องการทำลายระบอบประชาธิปไตยของประเทศ
กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มจับตาองค์กร(ไม่)อิสระ จึงขอประณามองค์กรอิสระทั้ง 6 องค์กร อันได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ไม่เพียงแต่ไม่ทำหน้าที่ของตนในการจรรโลงระบอบประชาธิปไตยอย่างสุจริตและเป็นธรรม หากแต่ยังมีข้อเสนอที่ขัดต่อเจตจำนงของประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การำลายระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ กลุ่มฯยังขอเรียกร้องให้สถาบันทหารได้ยึดกรอบและแนวทางประชาธิปไตย เคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ยุติความคิดใดๆที่เกี่ยวข้อง หรือนำไปสู่การทำการรัฐประหาร อันจะเป็นการนำพาประเทศไปสู่วิกฤตทางการเมืองที่เลวร้ายยิ่งขึ้น พร้อมทั้งขอประณามบุคคลและสถาบันใดๆที่พยายามยั่วยุ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมให้เกิดการรัฐประหารขึ้นในประเทศ
กลุ่มจับตาองค์กร(ไม่)อิสระ
กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย
๐๐๐๐
จดหมายเปิดผนึกถึงศาลรัฐธรรมนูญ
เรียน ศาลรัฐธรรมนูญ
เรื่อง คัดค้านคำร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การเลือกตั้งนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับกันในสากลประเทศว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้โดยเป็นกระบวนการคัดสรรบุคคลที่จะเข้าไปทำหน้าที่แทนประชาชนในสถาบันนิติบัญญัติ และสถาบันบริหาร การเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยจะต้องประกอบไปด้วยหลักการสำคัญที่ยึดถือกันทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก อันได้แก่ เป็นการเลือกตั้งที่มีลักษณะทั่วไป กล่าวคือบุคคลที่อายุเข้าเกณฑ์มีสิทธิออกเสียงได้ทุกคนอย่างเสมอภาค เป็นการเลือกตั้งที่เป็นอิสระ ไม่มีการบังคับขู่เข็ญ กดดันหรือชักจูงใดๆ เป็นการเลือกตั้งที่มีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน เป็นการเลือกตั้งแบบลงคะแนนลับ เป็นการเลือกตั้งแบบหนึ่งคนหนึ่งเสียง และเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม
รัฐบาลรักษาการณ์ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาและกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะเต็มไปด้วยอุปสรรค และปัญหาต่างๆในตลอดช่วงเวลาของการเลือกตั้ง แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งก็สามารถดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งที่สำเร็จลุล่วงลงด้วยดี เป็นไปตามหลักการว่าด้วยการเลือกตั้งที่ได้กำหนดไว้ จากคำแถลงของประธานกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้สรุปว่า จากจำนวนหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 93,952 หน่วย สามารถเปิดลงคะแนนได้ 83,813 หน่วย คิดเป็น 89.2% จาก 77 จังหวัด งดลงคะแนน 18 จังหวัด รวม 69 เขต โดยมีจำนวนผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจำนวน 20,468,686 คน หรือคิดเป็น 45.84% ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ ซึ่งหากพิจารณาจากค่าเฉลี่ยของจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในประเทศในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของการเลือกตั้งในประเทศไทย ถือได้ว่าจำนวนคะแนนเสียงดังกล่าวเป็นสัดส่วนที่สำคัญที่สามารถเป็นตัวแทนของเสียงส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศ
การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จึงถือว่าเป็นการแสดงออกถึงเจตจำนงของประชาชนทั่วประเทศตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญของประเทศ ในการเลือกตัวแทนเพื่อทำหน้าที่แทนตนในรัฐสภา กลุ่มจับตาองค์กร (ไม่) อิสระ และกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย ในฐานะตัวแทนของประชาชน 20 ล้านเสียง จึงขอคัดค้านคำร้องของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินที่ได้ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพราะนอกจากจะเป็นคำร้องที่ขัดต่ออำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 244 และ 245 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 แล้ว ยังเป็นการไม่เคารพต่อเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนกว่า 20 ล้านเสียงที่ได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างสุจริตใจ ทั้งยังเป็นสร้างเงื่อนไขให้สังคมไทยต้องตกอยู่ในภาวะของวิกฤตทางการเมืองและความขัดแย้งรุนแรงอันไม่สิ้นสุดต่อไป กลุ่มฯขอเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ธำรงไว้ซึ่งความเที่ยงธรรม เป็นกลาง และเห็นแก่ประโยชน์สุขของสังคมโดยรวม ทำหน้าที่ในการจรรโลงระบอบเลือกตั้ง อันเป็นรากฐานสำคัญของประชาธิปไตยของประเทศไทยอย่างบริสุทธิ์และยุติธรรม
ขอแสดงความนับถือ
กลุ่มจับตาองค์กร (ไม่) อิสระ
กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย
หมายเหตุ: ภาพประกอบจาก Jean Chinese Panumas Khodchadat