ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าศาลแพ่งได้ออกหมายเรียกไปเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา ให้นางดารุณี กฤตบุญญาลัย นักธุรกิจไฮโซ แนวร่วมกลุ่มประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กับพวกรวม 3 คน มาสอบถามข้อเท็จจริงว่าได้กระทำการสร้างความวุ่นวายในบริเวณพื้นที่ศาล ซึ่งอาจจะเป็นการละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ ในวันที่ 21 เม.ย.นี้ เวลา 09.00 น. สำหรับผู้ที่ศาลแพ่งออกหมายเรียก 3 คน ประกอบด้วย นางดารุณี กฤตบุญญาลัย, นางสุดสงวน สุธีสร และนายพิชา วิจิตรศิลป์
เนื่องจากเมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา เว็บไซต์เนชั่นรายงานว่า นางดารุณี นำมวลชน นปช. ประมาณ 100 คน มาชุมนุมบริเวณหน้าศาลแพ่ง ภายหลังที่ศาล มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา ในคดี กปปส. ฟ้องเพิกถอนประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยห้าม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และศูนย์รักษาความสงบ ( ศรส.) บังคับใช้ประกาศและข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ รวม 9 ข้อ เช่น ห้ามใช้กำลังสลายการชุมนุมกับประชาชนและผู้ชุมนุม กปปส.
โดยกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ยังได้มีการชูป้ายข้อความในการประท้วงถึงคำพิพากษาของศาล และมีการนำตะเกียงส่องสว่างเป็นสัญลักษณ์และมีการนำถุงปลาร้ามาชูเป็นสัญลักษณ์ และมีการนำพวงหรีด เขียนข้อความว่า "แด่...ความอยุติธรรมของศาลแพ่ง"วางที่เสาด้านหน้าอาคารศาลแพ่ง พร้อมกันนี้ กลุ่ม นปช. ยังได้อ่านแถลงการณ์เรียกร้องความยุติธรรม และร่วมร้องเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทวงคืนความยุติธรรมด้วย โดยนางดารุณี ยังได้อ่านคำพิพากษาของศาลแพ่ง คดีฟ้องการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในปี 2553 เปรียบเทียบกับ คำพิพากษาในปี 2557
เนชั่นรายงานด้วยว่าในวันดังกล่าว นางดารุณี กล่าวว่า ในฐานะประชาชนที่ร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงเมื่อปี 53 จึงได้มาขอความยุติธรรมจากศาลแพ่งและขอคำชี้แจงจากศาล เนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี 53 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 99 ศพ และบาดเจ็บกว่า 1,000 คน ซึ่งทางพรรคฝ่ายค้านได้เคยมายื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้ยกเลิกประกาศ พ.รก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาลสมัยนั้น แต่ศาลแพ่งกลับพิพากษาว่า ศาลมิอาจก้าวล่วงในการใช้ดุลยพินิจของฝ่ายบริหาร ซึ่งแตกต่างกับคำพิพากษาในครั้งนี้ที่มีคำสั่งคุ้มครองกลุ่มผู้ชุมนุม