หลังข้อมูลจากเรดาร์ระบุว่าเที่ยวบิน MH370 เบี่ยงจากเส้นทางเดิม บีบีซีชวนตั้งคำถามว่าเหตุใดกองทัพมาเลเซียถึงไม่มีปฏิบัติการใดๆ หลังเกิดเหตุ
17 มี.ค. 2557 สำนักข่าวบีบีซีตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อมูลล่าสุดของเที่ยวบิน MH370 ของสายการบินมาเลเซียที่ยังติดต่อไม่ได้ ว่าเหตุใดกองทัพมาเลเซียถึงไม่มีปฏิบัติการใดๆ หลังจากเกิดเหตุ
ข้อมูลดังกล่าวคือรายงานสัญญาณเรดาร์ของกองทัพมาเลเซียซึ่งระบุว่าเครื่องบินในเที่ยวบินดังกล่าวมีการเปลี่ยนทิศทางอย่างน้อย 2 ครั้ง ด้านทางการมาเลเซียกล่าวว่าพวกเขากำลังสืบสวนถึงความเป็นไปได้ว่าเหตุใดระบบการสื่อสารบนเครื่องถึงปิดลง
บีบีซีระบุว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เพียงทำให้มีการหันกลับมาเน้นสืบสวนและค้นหาเครื่องบินของเที่ยวบิน MH370 เท่านั้น แต่ยังชวนให้ตั้งคำถามว่าเหตุใดกองทัพของมาเลเซียถึงไม่สามารถสังเกตว่าเกิดอะไรขึ้นกับเครื่องบินในทันที มีช่องโหว่อะไรเกิดขึ้นระหว่างหน่วยงานป้องกันภัยทางอากาศในภูมิภาคนี้ซึ่งเรื่องการกลาโหมและเรื่องความมั่นคงเป็นเรื่องที่ถูกให้ความสำคัญอย่างมากในยุคปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังดูเหมือนว่าหลังจากที่เรดาร์กองทัพมาเลเซียตรวจจับได้ว่าเครื่องบินของสายการบิน MH370 ได้บินผ่านน่านฟ้าของมาเลเซีย แต่กองทัพอากาศของมาเลเซียยังไม่มีปฏิบัติการใดๆ แอนดรูว บรูกส์ นักวิเคราะห์และนักบินจากกองทัพอากาศอังกฤษตั้งคำถามว่าเหตุใดกองทัพอากาศของมาเลเซียถึงไม่มีปฏิบัติการใดๆ
"นับตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 การป้องกันทางอากาศทั่วโลกก็มีความตื่นตัวเพื่อเตรียมรับมือกับการถูกยึดเครื่องบินเพื่อเล็งโจมตีเป้าหมายสำคัญ"บรูกส์กล่าว เขาบอกอีกว่าเป้าหมายสำคัญในมาเลเซียคือตึกคู่ปิโตรนาสและย่านกลางเมืองกรุงกัวลาลัมเปอร์
บรูกส์กล่าวว่าเมื่อเครื่องบินของเที่ยวบิน MH370 มีการเปลี่ยนทิศทางย้อนกลับนอกเส้นทางที่กำหนดไว้โดยไม่มีการเตือนล่วงหน้าเรื่องนี้น่าจะเตือนใจให้กองทัพและนักการเมืองมาเลเซียฉุกคิดได้ บรูกส์บอกอีกว่าหลังจากเรื่องนี้จบลง รัฐบาลและกองทัพอากาศของมาเลเซียจะต้องอธิบายเรื่องนี้ให้ได้
วารสารว่าด้วยความสมดุลด้านกำลังทัพหรือ Military Balance ของสถาบันเพื่อการวิจัยยุทธวิธีนานาชาติ (International Institute of Strategic Studies หรือ IISS) ฉบับล่าสุดระบุว่าทางการมาเลเซียมีโครงการยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ที่ทำให้มีความสามารถป้องกันภัยจากภายนอกได้
อย่างไรก็ตาม บีบีซีระบุว่า กองกำลังทางอากาศของมาเลเซียยังคงค่อนข้างเล็ก
ในเรื่องนี้ทำให้มีคำถามเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบเรดาร์ของมาเลเซีย ฮิชัมมูดิน ฮุสเซน รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมที่พ่วงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปฏิเสธที่มีคนตั้งสมมติฐานว่ากระบวนการการบินตามมาตรฐานของกองทัพอากาศถูกแทรกซึม
ในตอนนี้ทางการมาเลเซียได้ขอให้ประเทศอื่นๆ ทั้งในแถบภูมิภาคและในประเทศที่ไกลออกไปช่วยตรวจสอบเรดาร์ของทางทหารและทางพลเรือนเพื่อช่วยค้นหาเครื่องบินของพวกเขา
บีบีซีระบุว่า ในภูมิภาคนี้กำลังมีการเสริมสมรรถภาพด้านกลาโหมให้มีความก้าวหน้า แต่ก็มีคำถามไม่ใช่เพียงในมาเลเซียเท่านั้นแต่กับประเทศอื่นๆ ด้วยว่า มีการจัดการด้านการป้องกันทางอากาศเช่นที่ปรากฏให้เห็นอยู่จริงหรือไม่ หรือมีช่องโหว่มากกว่าที่คิด
จากหลักฐานทางเรดาร์ดูเหมือนว่าในช่วงระยะเวลาหนึ่งเครื่องบินเที่ยวบิน MH370 จะมีการเปลี่ยนทิศทางไปทางทะเลอันดามัน ทะเลอินเดียและเกาะนิโคบาร์ จากเดิมที่มีเส้นทางไปยังกรุงปักกิ่ง แต่ก็มีรายงานว่าเรดาร์ของกองทัพอาจจะไม่ทำงานเนื่องจากมองว่าภัยความเสี่ยงอยู่ที่ระดับต่ำ
บีบีซีระบุว่าในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปที่มีการพัฒนาด้านการบินแล้วจะมีการตรวจสอบการบินอยู่ตลอดเวลา รวมถึงยังมีการร่วมมือกันระหว่างกองทัพและหน่วยควบคุมการบินพลเรือน ทำให้ถ้าหากว่าเรดาร์ของทหารค้นพบสิ่งผิดปกติก็จะดำเนินการตรวจสอบกับฝ่ายพลเรือนว่ามีช่องรับส่งสัญญาณเพื่อช่วยระบุสิ่งแปลกปลอมหรือไม่ ถ้าหากไม่มีช่องรับส่งสัญญาณก็จะพยายามติดต่อกับเครื่องบินด้วยวิทยุและถ้าหากยังไม่มีการติดต่อกลับก็จะต้องใช้วิธีสกัดกั้นทางการบิน
บีบีซีระบุว่า กระบวนการที่กล่าวมานี้เป็นสิ่งที่นำมาใช้นานแล้ว มีการปฏิบัติเป็นกิจวัตรในช่วงสงครามเย็น ก่อนจะถูกนำมาใช้อีกครั้งตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 9/11
อย่างไรก็ตามการตรวจตราผ่านเรดาร์ก็มีจุดบอดได้ เช่นการติดตามเครื่องบินที่บินในระดับต่ำมากถือเป็นเรื่องยาก และแม้แต่ระบบที่ซับซ้อนมากก็อาจมีเหตุขัดข้องไม่คาดคิดได้
บีบีซีได้ยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นในปี 2530 มีนักบินมือสมัครเล่นชื่อ มาเทียส รัสท์ ได้ใช้เครื่องบินขนาดเล็กบินฝ่าน่านฟ้าสหภาพโซเวียตซึ่งมีระบบป้องกันอากาศยานที่มีความซับซ้อนสูงที่สุดในโลกก่อนจะนำเครื่องลงจอดที่จัตุรัสเรดสแควร์ในกรุงมอสโก ทำให้เกิดความอับอายต่อกองทัพโซเวียตมาก
อีกเหตุการณ์หนึ่งคือเหตุการณ์ 9/11 ที่เครื่องบินของหน่วยป้องกันทางอากาศยานของสหรัฐฯ ถูกส่งสัญญาณรบกวนจนทำให้บินไปผิดทางออกไปยังทะเล โดยไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดภัยคุกคามทางอากาศภายในพื้นที่น่านฟ้าของสหรัฐฯ เอง
เรียบเรียงจาก
Missing Malaysia plane: MH370 and the military gaps, BBC, 16-03-2014
http://www.bbc.com/news/world-asia-26603830