8 มี.ค.2557 เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี บริษัท แกรนท์ ธอนตัน บริษัทผู้ให้บริการด้านการตรวจสอบบัญชี บริการให้คำปรึกษาทางด้านภาษี และบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจรายใหญ่ของโลก เผยผลสำรวจการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนและบทบาทผู้บริหารหญิงจากทั่วโลกอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 10 ปี ผ่านรายงาน Women in business: from classroom to boardroom โดยทำการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารมากกว่า 12,500 คน ใน 45 ประเทศทั่วโลกเกี่ยวกับบทบาท ปัญหา สัดส่วนจำนวน และแนวทางในการสนับสนุนผู้หญิงสู่การเป็นผู้บริหารในโลกธุรกิจ พบว่า แม้จะมีข้อถกเถียงในเรื่องของสัดส่วนผู้หญิงที่เป็นผู้บริหารระดับสูงทั่วโลกต่ำกว่า 1 ใน 4 แต่ยังคงมีการสนับสนุนในเรื่องของจำนวนผู้หญิงในฐานะคณะกรรมการบริหารมีเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมาตรการหลายอย่างในองค์กรที่ช่วยอำนวยความสะดวกในเส้นทางอาชีพของผู้หญิง
ผลสำรวจพบว่า ในปี 2557 นี้ สัดส่วนของนักบริหารหญิงทั่วโลกมีเพียงร้อยละ 24 ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกันกับในปี 2556, 2552 และ 2549 และมีเพียงแค่ร้อยละ 5 ของประเทศที่เข้าร่วมสำรวจ ที่มีจำนวนนักบริหารหญิงสูงกว่าร้อยละ 19 ซึ่งเป็นผลสำรวจที่ถูกบันทึกไว้เมื่อ 10 ปีก่อนในปี 2547 (หมายเหตุ: รายงานผลสำรวจ IBR ยังไม่ได้ครอบคลุมประเทศเศรษฐกิจอย่างบราซิล สาธาณรัฐประชาชนจีน และอินโดนีเซีย ในปี 2547) โดยในแต่ละภูมิภาคเองก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญทีละน้อยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการเปลี่ยนแปลงที่ดี โดยมีถึง 3 ประเทศที่อยู่ใน 6 อันดับแรกของโลก ซึ่งประเทศอินโดนีเซียมีสัดส่วนของนักบริหารหญิงที่ร้อยละ 41 ทะยานสู่อันดับ 2 ส่วนฟิลิปปินส์มีสัดส่วนถึงร้อยละ 40 อยู่ในอันดับ 4 ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 6 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 38 ซึ่งเพิ่มจากปีก่อนเพียงเล็กน้อย
สุมาลี โชคดีอนันต์ หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชีของแกรนท์ ธอนตัน ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า “ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเลยสำหรับประเทศไทยและอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ผู้หญิงจะอยู่ในบทบาทของผู้บริหารระดับสูง ชาวเอเชียล้วนให้ความสำคัญกับครอบครัวอย่างมาก และผู้หญิงมักจะมีบทบาทสำคัญในบ้านมาเสมอ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไป โลกธุรกิจมีการเติบโตขึ้น บทบาทเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นความคุ้นเคยสำหรับผู้หญิงเรา แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผู้หญิงในบทบาทของผู้บริหารในไทยจึงกลายเป็นข้อพิสูจน์ และสิ่งเหล่านี้ยังคงแผ่ขยายไปทั่วอาเซียน เช่นเดียวกับที่เราเห็นโอกาสที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งส่งผลให้เกิดความต้องการในการจ้างงานมากขึ้น รวมถึงความจำเป็นในการเพิ่มความหลากหลายในที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง”
ฟรานเชสก้า ลาเกอร์เบิร์ก หัวหน้าสายงานบริการด้านภาษีทั่วโลกของแกรนท์ ธอนตัน กล่าวว่า "คงไม่มีใครปฏิเสธว่าการแสดงความเห็นที่หลากหลายมากขึ้นจะช่วยให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่า ในโลกธุรกิจการตัดสินใจที่ดีย่อมหมายถึงการเจริญเติบโตที่แข็งแกร่ง ดังนั้นองค์กรควรใส่ใจในการปูทางเพื่อส่งเสริมผู้หญิง ตั้งแต่ช่วงกำลังศึกษาไปจนถึงการก้าวสู่ตำแหน่งผู้บริหาร"
ผลการสำรวจฯ ยังแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนส่งเสริมให้มีสัดส่วนผู้หญิงในคณะกรรมการบริหารทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้น โดยร้อยละ 45 หรือเกือบ 1 ใน 2 ของผู้บริหาร อยากเห็นจำนวนสัดส่วนคณะกรรมการบริหารที่เป็นผู้หญิงในบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ ซึ่งมากกว่าผลสำรวจในปี 2556 ซึ่งมีแค่ร้อยละ 37 หรือแค่เพียง 1 ใน 3 เท่านั้น โดยจุดที่น่าสนใจ คือการสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสหภาพยุโรป จากร้อยละ 33 เป็นร้อยละ 41 ในปีนี้ เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว (BRIC) ที่เพิ่มจากร้อยละ 41 เป็นร้อยละ 72 ในขณะที่การสนับสนุนยังคงสูงสำหรับประเทศในแถบลาตินอเมริกา (ร้อยละ 68) และเอเชียแปซิฟิก (ร้อยละ 57) ส่วนกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม G7 มีผู้ให้การสนับสนุนในเรื่องดังกล่าวอยู่ร้อยละ 33
"หลายประเทศทั่วโลก ต่างตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างความสมดุลของสัดส่วนผู้บริหาร ระหว่างผู้ชายและผู้หญิง แม้แต่ในประเทศญี่ปุ่น ที่แม้จะมีสัดส่วนของผู้บริหารหญิงเพียงแค่ร้อยละ 9 รั้งอันดับสุดท้ายของผลสำรวจ แต่กว่า 1 ใน 5 ของผู้ถูกสำรวจต่างสนับสนุนการเพิ่มอัตราส่วนผู้หญิงในคณะกรรมการบริหารหรือมีแผนที่จะส่งเสริมให้กลายเป็นผู้บริหารระดับสูง ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีทั่วโลกสำหรับทีมบริหารที่มีความหลากหลาย"จุฬาภรณ์ นำชัยศิริ กรรมการผู้จัดการ – วาณิชธนกิจ ของแกรนท์ ธอนตัน ประเทศไทย กล่าว
ฟรานเชสก้า ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “เรื่องสัดส่วนดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยังต้องถกเถียงกัน แต่อาจเป็นเรื่องดีที่เราได้มาถึงจุดเปลี่ยนแปลงนี้ และองค์กรธุรกิจจำเป็นต้องมีการผลักดัน หากเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง”
"แต่องค์กรเองก็ยังสามารถออกมาตรการที่ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ จากผลสำรวจของเราแสดงให้เห็นว่า โดยเฉลี่ยเพียงแค่ 1 ใน 5 ของนักศึกษาจบใหม่ที่เข้าทำงานทั่วโลกเป็นผู้หญิง หากคุณหวังที่จะเห็นสัดส่วนจำนวนที่เหมาะสมของผู้บริหารหญิงในอนาคตจากเด็กเหล่านี้ คุณก็ควรเพิ่มโอกาสในการรับเข้ามาให้มากขึ้น ซึ่งก็มองว่าเป็นข้อดีสำหรับธุรกิจ เพราะการมีตัวเลือกผู้สมัครจำนวนมาก ย่อมหมายถึงโอกาสที่มากขึ้นในการจ้างผู้ที่มีความสามารถ ตลอดจนสิ่งอื่นที่อาจทำได้ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่พนักงานที่อาจมีครอบครัวและกลายเป็นคุณแม่ในอนาคต เช่น การยืดหยุ่นเวลาเข้าออกงาน แม้จะเป็นสิ่งที่ดีแต่ก็อาจยังไม่เพียงพอ เราอาจต้องพิจารณาการให้ความสนับสนุนที่ชัดเจนสำหรับการช่วยดูแลเด็กด้วย หากยังอยากจะรักษาผู้หญิงที่มีความสามารถเอาไว้”
ไฮไลท์ผลสำรวจ
- ภาพรวมผู้บริหารหญิงในประเทศไทยยังคงมีโอกาสเติบโต ในขณะที่ทั่วโลกยังซบเซา
- สัดส่วนผู้หญิงในบทบาทผู้บริหารระดับสูงทั่วโลกไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 24 เช่นเดียวกับที่ 2556, 2552, 2550 ที่ผ่านมา
- จาก 45 ประเทศที่เข้าร่วมสำรวจ รัสเซียเป็นประเทศมีสัดส่วนผู้บริหารหญิงสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งที่ร้อยละ 43 ในขณะที่ประเทศไทยมีอัตราเฉลี่ยที่ร้อยละ 38 อยู่ในอันดับที่ 6
- สัดส่วนของผู้หญิงในคณะกรรมการบริษัททั่วโลกเฉลี่ยที่ร้อยละ 17 ลดลงจากร้อยละ 19 ในปี 2556 ที่ผ่านมา
- อัตราส่วนผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือกรรมการผู้จัดการทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 12 โดยในปีนี้สายงานด้านทรัพยากรบุคคล เป็นสายงานที่มีจำนวนผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงมากที่สุดถึงร้อยละ 25
- ร้อยละ 45 ต้องการสนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนของผู้หญิงในคณะกรรมการบริหารของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 37 ในปีก่อน ซึ่งแรงขับเคลื่อนตัวเลขดังกล่าว ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว (BRIC) ซึ่งประกอบด้วยประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน
- ธุรกิจการศึกษาและให้บริการสังคม มีสัดส่วนส่วนจำนวนผู้บริหารหญิงมากที่สุดถึงร้อยละ 51 ในขณะที่อุตสาหกรรมทางด้านเหมืองแร่ มีสัดส่วนน้อยที่สุดเพียงแค่ร้อยละ 12 เท่านั้น