Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

ปูดงานวิชาการปลอม (เมด อิน ไชน่า) ในวารสารงานวิชาการระดับโลก

$
0
0

อวัตถุศึกษากับอธิป จิตตฤกษ์ สัปดาห์นี้ พบกับข่าวนักวิชาการฝรั่งเศสพบงานวิชาการปลอมกว่า 120 ชิ้นในวารสารวิชาการ, WhatsApp เวอร์ชั่นรัสเซียต่อต้านการดักฟัง, uArm แขนหุ่นยนต์เพื่อสาธารณชน

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต"เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก
 

 

นักวิชาการฝรั่งเศสพบงานวิชาการปลอม (ทำในจีน !!!) กว่า 120 ชิ้นในวารสารวิชาการระดับโลก

นักวิจัยฝรั่งเศสพบงานวิชาการที่ถูกเขียนขึ้นโดยคอมพิวเตอร์จำนวนมากกว่าร้อยชิ้นในสารบบงานวิชาการสายวิทยาศาสตร์ ซึ่งกว่า 100 ขึ้นถูกตีพิมพ์โดย Institute of Electrical and Electronic Engineers จากนิวยอร์ค และอีก 16 ชิ้นถูกตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วิชาการข้ามชาติชื่อดังอย่าง Springer อันมีสำนักงานใหญ่ที่เยอรมนี

Cyril Labbé นักวิชาการฝรั่งเศสผู้คนพบงานวิชาการปลอมดังกล่าว กล่าวว่างานวิจัยปลอมเหล่านี้ถูกเขียนขึ้นมาโดยโปรแกรม SCIgen ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยนักวิจัยจาก MIT ในปี 2005 เพื่อพิสูจน์ว่าการเขียนงานวิชาการส่งงานสัมมนานี่มันทำได้ง่ายแค่ไหน

Labbé บอกว่างานวิชาการพวกนี้มองง่ายมาก เพราะมันจะใช้คำซ้ำๆ อย่างไรก็ดีทาง Springer เองก็ยืนยันว่างานวิชาการปลอมเหล่านี้ก่อนจะผ่านมาพิมพ์ได้ต้องผ่านกระบวนการอ่านทบทวนและวิจารณ์โดยนักวิชาการคนอื่นหรือกระบวนการ "เพียร์รีวิว" (peer-review) มาแล้ว พูดง่ายๆ คือ ถ้าเป็นดังนี้ก็หมายความว่าแม้แต่วารสารวิชาการของสำนักพิมพ์ระดับท็อปของโลกที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบทางวิชาการอย่างเคร่งครัดโดยนักวิชาการ ก็ยังไม่สามารถตรวจพบว่าบทความที่ส่งไปไม่ได้ถูกเขียนขึ้นโดยมนุษย์

นี่ดูจะเป็นการพิสูจน์ว่า ไม่ว่าจะวารสารแบบปิด หรือวารสารวิชาการแบบเปิด (open access) ก็ไม่รอดจากการส่งงานวิชาการปลอมเหมือนกัน ซึ่งก็น่าจะลบคำครหาความ “ไร้มาตรฐาน” ของวารสารวิชาการแบบเปิดที่บางฉบับไม่มีกระบวนการเพียร์รีวิวด้วยซ้ำ เพราะเอาเข้าจริงแม้แต่กระบวนการอันเป็นพิธีกรรมสำคัญในการรับรองงานวิชาการอย่างเพียร์รีวิวก็ไม่ได้ช่วยอะไรในการระบุว่างานชิ้นไหนเป็นงานจริง ชิ้นไหนเป็นงานปลอม

นอกจากนี้ สิ่งเหล่านี้ยังชี้ว่างานวิชาการในสายวิทยาศาสตร์ธรรมชาติเองมีความเสี่ยงที่จะมีการผลิตงานของปลอมไม่น้อยไปกว่างานสายสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ ดังที่คนอย่าง Alan Sokal ได้เคยพิสูจน์เมื่อนานมาแล้วกับการเขียนงานวิชาการ “หลังสมัยใหม่” แบบมั่วๆ ส่งไปให้วารสาร Social Text แล้วได้ตีพิมพ์

หากจะมองข้ามไปอีกระดับ ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การที่แม้แต่นักวิชาการเองก็ไม่สามารถแยกแยะงานวิชาการที่ผลิตขึ้นมาโดยมนุษย์หรือเครื่องจักรได้แล้ว (อย่างน้อยก็ในบางสาขาวิชา) ดูจะไม่ใช่ข้อพิสูจน์ความโง่เขลาเบาปัญญาของมนุษย์เท่ากับ ข้อพิสูจน์ว่าภูมิปัญญาของเครื่องจักรนั้นเพิ่มขึ้นอย่างน่าทึ่ง

สุดท้าย ข้อสังเกตคืองานวิชาการปลอมส่วนใหญ่ที่ Labbé พบเป็นงานที่มาจากเปเปอร์สัมมนาหลายครั้งที่จีน ซึ่งเกี่ยวข้องกับจีนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้นจะกล่าวว่าเปเปอร์วิชาการ "ปลอม"เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผลิตมาจากจีนก็ว่าได้ และมันอาจจะเป็นเพียงแค่ของ "ปลอม"ชนิดหนึ่งในบรรดาของ "ปลอม"นับไม่ถ้วนที่จีนผลิตมาเท่านั้นเอง

Source:

 

รู้จักกับ Telegram: WhatsApp ฉบับโซเวียตรัสเซียที่ปลอดภัยต่อการดักข้อมูล

หลังจากทาง Facebook ได้ซื้อ WhatsApp ไปด้วยเงินมหาศาลระดับมากกว่ารายได้ทั้งปีของอุตสาหกรรมดนตรีในอเมริกา ผลก็คือคนแห่กันไปใช้จนเซอร์เวอร์ล่ม

ในขณะที่เซอร์เวอร์ล่มนั่นเอง คนเกือบ 5 ล้านคนทั่วโลกก็ได้หันไปโหลดแอปป์ฟรีเพื่อ "การส่งข้อความฉับพลัน" (instant messaging) ที่ต่างออกไปจากที่หลายๆ คนคุ้นหูกันอย่าง Telegram จนส่งผลให้แอปป์ตัวนี้เป็นแอปป์ฟรีระดับท็อปไปใน 46 ประเทศ และกลายเป็นเป็นแอปป์เครือข่ายสังคมอันดับ 1 ไปในอเมริกาและหลายๆ ประเทศ

เอาจริงๆ Telegram ก็ไม่ใช่แอปป์หน้าใหม่อะไรมันเป็นแอปป์อันดับหนึ่งในสเปน โลกอาหรับ และลาตินอเมริกามาหลายสัปดาห์ก่อนที่ Facebook จะซื้อ WhatsApp แล้ว มัน “ใหม่” เพราะโลกภาษาอังกฤษเพิ่งรู้จัก Telegram เท่านั้นเอง

แอปป์ที่รูปร่างหน้าตาไม่ได้ต่างอะไรจาก WhatsApp นี้ ถูกสร้างขึ้นมาโดยพี่น้อง Durov เจ้าของเว็บ VKontakte หรือที่รู้จักกันในนาม Facebook ฉบับรัสเซียเนื่องจากมันเป็นเว็บเครือข่ายสังคมที่ใหญ่ที่สุดในรัสเซีย

เนื่องจากทั้งสองอยู่ในรัสเซียที่การดักข้อมูลเอาดื้อๆ โดยหน่วยงานความมั่นคงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน พวกเขาซึ่งเป็นผู้ออกแบบ Telegram จึงออกแบบ Telegram โดยจงใจจะสร้างกลไกการสื่อสารให้ทางต้นทางและปลายทางส่งและรับข้อความเข้ารหัสเท่านั้น จะไม่มีการส่งข้อความดิบๆ (ภาษา Cryptography เรียกว่า Plaintext หรือ “ข้อความไม่เข้ารหัส”) ให้ดักเอาได้ระหว่างทาง และจะไม่เหลือร่องรอยข้อความใดๆ ในเซิร์ฟเวอร์ นอกจากนี้ผู้ใช้ก็ตั้งให้ข้อความทำลายตัวเองได้ในสองวินาทีหรือเป็นสัปดาห์ก็ได้ตามแต่จะปรารถนา ซึ่งกลไกทั้งหมดลดความเสี่ยงการเข้าถึงข้อมูลของรัฐมากกว่าบริการที่ข้อมูลการสื่อสารที่เป็นข้อความดิบๆ ต้องไปตกค้างอยู่บนเซิร์ฟเวอร์แน่นอนที่สุด

แน่นอนว่าการพยายามสร้างแอปป์แบบนี้มีอยู่เนืองๆ และก็เปิดตัวกันมามากมายหลัง Edward Snowden แฉ NSA หน่วยงานด้านความมั่นคงของสหรัฐและสร้างกระแสตื่นตัวด้านความเป็นส่วนตัว แต่ก็ดูจะไม่มีแอปป์ใดประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามอย่าง Telegram

ซึ่งแทนที่ Telegram จะใช้โอกาสอันดีนี้ทำกำไร ทาง Telegram กลับยืนยันว่าจะไม่มีการขายโฆษณาใดๆ ทั้งสิ้น แล้วถ้าเงินหมด พวกเขาก็จะขอบริจาคเอา

นี่ก็คงเป็นราคาของความ "อิสระ"ที่ไม่มีใครในโลกทุนนิยมแทรกแซงได้ไม่ต่างจาก Wikipedia ที่ต้องระดมทุนเป็นพักๆ ไป

อย่างไรก็ดี ถ้าความเป็นส่วนตัวยังจะพอมีความหวังและอนาคตอยู่ มันก็คงจะดำเนินต่อไปด้วยความพยายามของผู้คนเหล่านี้นั่นเอง

Source: http://www.theverge.com/2014/2/25/5445864/telegram-messenger-hottest-app-in-the-world

 

Unified Weapon Master: กีฬาชนิดใหม่ใส่เกราะสู้กันด้วยอาวุธ

ในโลกนี้มีศิลปะการต่อสู้กว่า 300 ชนิด และเกือบ 100 ชนิดเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ใช้อาวุธเป็นหลัก

ศิลปะการต่อสู้แบบใช้อาวุธแทบทั้งหมดไม่สามารถนำมาเล่นเป็นกีฬาหรือใช้ในการประลองกันจริงๆ จังๆ ได้ เพราะความเป็นไปได้ของความเสียหายที่จะเกิดกับร่างกายนั้นสูงมากๆ พูดง่ายๆ คือพลาดขึ้นมาก็พิการไม่ก็ตายกันได้ง่ายๆ นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ศิลปะการต่อสู้ด้วยอาวุธพวกนี้ล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ

Unified Weapon Master หรือ UWM เป็นบริษัทจากซิดนีย์ที่พยายามจะทำให้เกิดการแข่งขันข้ามศิลปะการต่อสู้แบบ MMA ภาคอาวุธขึ้น โดยที่ผู้แข่งใส่ชุดเกราะที่มีเซ็นเซอร์รอบตัวคอยจับความรุนแรงของการโจมตี ไปขึ้นเป็นคะแนน กล่าวคือในทางหลักการผู้เข้าแข่งขันก็จะใช้อาวุธสู้ทำคะแนนกันได้เต็มที่โดยไม่ต้องกลัวอีกฝ่ายบาดเจ็บ เพราะชุดเกราะจะซึมซับแรงโจมตีเอาไว้ทั้งหมดและแปรเป็นคะแนน

Justin Forsell หนึ่งในผู้ก่อตั้งเคยมาเรียนกระบี่กระบองที่สํานักดาบพุทไธสวรรค์ในไทย แล้วก็ตระหนักว่าศิลปะการต่อสู้ด้วยอาวุธจำนวนมากกำลังสูญหายไปจากโลก เขารู้สึกว่าผู้ฝึกฝนศิลปการต่อสู้ใช้อาวุธจำนวนมากมีทักษะที่สูงมากแต่ไม่มีเวทีให้แข่งขัน

เขาจึงเสนอ UWM ขึ้นมาเพื่อเป็นเวลาให้ผู้เชี่ยวชาญอาวุธเหล่านี้ใด้ใช้อาวุธแข่งกันกันเต็มที่โดยไม่ต้องประหัตประหารกัน

ทั้งนี้ แม้ตัวเสื้อเกราะจะออกแบบเรียบร้อยแล้ว UWM ก็ยังอยู่ในขั้นตั้งต้นเท่านั้น แต่ก็น่าจะมีการจัดแข่งขัน MMA แบบใส่เกราะติดอาวุธขึ้นมาในอนาคต พร้อมวางแผนขายแฟรนไชส์ให้ UWM กลายเป็นกีฬาชนิดใหม่ที่จะกระจายไปทั่วโลก

Source: http://www.wired.co.uk/news/archive/2014-02/26/smart-armour

 

uArm: แขนกลหุ่นยนต์เพื่อสาธารณชน

อันที่จริงแล้ว เทคโนโลยีแขนกลเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันในโรงงานอุตสาหกรรมมานานแล้ว อย่างไรก็ดีนี่ไม่ใช่อะไรที่คนทั่วไปจะซื้อมาเล่นได้เพราะสนนราคาต่อแขนกลมีราคาเป็นหลักล้านบาท

นี่เป็นสิ่งที่ทางทีม UFactory ซึ่งเป็นทีมนักประดิษฐ์หุ่นยนต์จากจีนไม่พอใจนัก เพราะทางทีมต้องการจะทำให้ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงและถือครองเทคโนโลยีหุ่นยนต์ได้

และในที่สุดทางทีมก็ได้ผลิต uArm ขึ้น

uArm คือแขนกลราคาถูกที่ผลิตในจีนที่สามารถบังคับควบคุมได้เช่นเดียวกับแขนกลขนาดใหญ่

และมันก็ผลิตมาได้ ณ ตอนนี้ก็เพราะ บรรดาชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกต่างๆ ราคาลดลงพรวดพราดจากเมื่อ 10 ปีก่อน (ซึ่งการผลิตชิ้นส่วนราคาถูกในจีนก็เป็นแรงผลักดันสำคัญ)

ราคาของ uArm ในแบบเต็มชุดอยู่เพียงแค่ 9,000 กว่าบาทเท่านั้นหากจะเปลี่ยนเป็นเงินไทย ซึ่งนี่คือราคาที่ต่ำกว่า 1 ใน 100 ของแขนกลที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมเสียอีก

คำถามคือ uArm ทำอะไรได้บ้าง?

มันทำได้สารพัดตามแต่ผู้ใช้จะจินตนาการ เพราะมันเอาไปติดล้อให้วิ่งไปมาก็ยังได้เลยเพราะมันสามารถควบคุมระยะไกลได้

มันก็คือ "แขน"ดีๆ นี่เองที่สามารถควบคุมได้ด้วยคอมพิวเตอร์ ทาง UFactory ได้พัฒนาโปรแกรมควบคุมมันมาด้วย

แม้ว่ามันจะเคลื่อนไหวระดับละเอียดมากๆ ไม่ได้เพราะบรรดาฮาร์ดแวร์ไม่เอื้ออำนวย แต่มันก็สามารถขยับทั่วไปจนถึงหยิบของ (ให้ตรงคือให้จุกสูญญากาศดูดของ หรือใช้คีมหนีบของ)

มันเป็นพัฒนาการที่ก้าวหน้ามากของเทคโนโลยีแขนกลในสนนราคาดังกล่าว

ซึ่งทาง UFactory ก็มีโครงการจะเผิดเผยแบบทั้งหมดไม่ว่าจะระดมทุนสำเร็จหรือไม่ เพราะเป้าหมายของทาง UFactory คือการทำให้คนทั่วไปเข้าถึงหุ่นยนต์ได้มากที่สุด และการเปิดเผยแบบทั้งหมดก็ดูจะเอื้อกับเป้าดังกล่าวมากกว่าจะปิดบังไว้หรือไปจดสิทธิบัตร

อย่างไรก็ดี โครงการนี้ก็ระดมทุนได้เกินเป้าไปถล่มทลาย เพราะระดมได้มากว่า 140,000 ดอลลาร์สหรัฐแล้ว ทั้งๆ ที่ตั้งเป้าไว้เพียงแค่ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ซึ่งหากชาวไทยสนใจก็ไปสนับสนุนได้ โดยราคาค่าส่งแขนกลนี้นอกสหรัฐที่ผู้สนับสนุนต้องเพิ่มมาอยู่ที่ราว 20 ดอลลาร์สหรัฐ

Source: https://www.kickstarter.com/projects/ufactory/uarm-put-a-miniature-industrial-robot-arm-on-your?ref=discovery
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles