ประวิทย์ กสทช.ด้านผู้บริโภค เปิดวงคุยกับผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือและตัวแทนคนหูหนวก หวังเห็นแพ็กเกจพื้นฐานเอื้อคนหูหนวกแชตผ่าน 3G ได้มากขึ้น รวมทั้งลดค่าส่ง SMS
6 มี.ค.2557 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2557 ที่สำนักงาน กสทช. นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิเสรีภาพของประชาชน จัดประชุมหารือกับผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือในประเด็นอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายกับการมีโปรโมชั่นพิเศษสำหรับให้บริการคนหูหนวก โดยมีตัวแทนจากผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือค่ายต่างๆ และตัวแทนคนหูหนวกเข้าร่วมหารือ
วิทยุต บุนนาค ประธานชมรมคนหูหนวกจังหวัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า แต่เดิมการสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือของคนหูหนวกมีค่าใช้จ่ายสูง เพราะต้องสื่อสารด้วยการส่งข้อความผ่าน SMS หรือ MMS แม้ที่ผ่านมาบริษัทเอไอเอสจะมีแพ็กเกจสำหรับคนหูหนวกให้ส่ง SMS ได้ 3,000 ข้อความต่อเดือน MMS 1,500 ข้อความต่อเดือน ในราคา 99 บาท แต่การส่งข้ามเครือข่ายก็ยังเสียเงินในอัตราปกติ และถึงแม้ในปัจจุบันจะมีเทคโนโลยี 3G แล้ว ซึ่งสามารถสื่อสารผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ บนโทรศัพท์มือถือได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม เช่น ไลน์ วอทส์แอปป์ เฟซบุ๊ก วิดีโอคอล แต่ก็มีคนหูหนวกบางส่วนเท่านั้นที่เปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ 3G เนื่องจากสมาร์ทโฟนยังคงมีราคาแพง เพราะถ้าหากสมาร์ทโฟนที่มีราคาถูก คุณภาพของกล้องวิดีโอก็จะไม่ดี ซึ่งในกรณีของคนหูหนวกนั้น ต้องใช้ภาษามือในการสื่อสาร กล้องวิดีโอจึงต้องมีคุณภาพดีด้วย
ด้าน นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า เรื่องนี้มีปัญหาซ้อนกันอยู่หลายประเด็น โดยในเรื่องบริการ SMS ราคาแพงมีสาเหตุมาจากอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่าย ซึ่ง กสทช. มีแต่ประกาศกำหนดอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายบริการด้านเสียง ไม่มีการกำกับบริการ SMS และแม้ว่าจะมีประกาศคุมค่าบริการ เช่น 2G ต้องไม่เกินนาทีละ 99 สตางค์ หรือ 3G ต้องลดลง 15 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่รวมค่าบริการ SMS ทำให้ราคายังคงเกิน 1 บาท ทั้งที่สหภาพโทรคมนาคมนานาชาติ (ITU) ศึกษาพบว่า ต้นทุน SMS ต่ำกว่าบริการเสียงมากกว่า 10 เท่า ดังนั้นหากผู้ให้บริการจะร่วมกันกำหนดอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายของ SMS ให้สะท้อนต้นทุนจริง ราคาค่าบริการก็จะต่ำลงอย่างมาก ดังนั้นในกรณีของคนหูหนวก หากผู้ให้บริการจะร่วมกันลดอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่าย SMS ให้ต่ำกว่ากรณีทั่วไป ก็จะทำให้สามารถนำเสนอแพ็กเกจพิเศษให้ได้ ซึ่งกรณีเช่นนี้ไม่จำเป็นที่ กสทช. จะต้องกำกับดูแล แต่เกิดขึ้นได้หากผู้ให้บริการมีนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) ที่ชัดเจน เช่นเดียวกับเรื่องของสมาร์ทโฟน ก็มีความเป็นไปได้ทั้งในแนวทางที่ผู้ให้บริการจะอุดหนุนให้ หรือหากจะให้เป็นลักษณะที่มีการใช้เงินสนับสนุนจากกองทุน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือกองทุน USO ก็เป็นเรื่องที่สามารถประสานให้มีการพูดคุยกันต่อไปได้
นอกจากนี้ นพ.ประวิทย์ กล่าวถึงเรื่องการกำหนดแพ็กเกจพื้นฐาน ว่า ในระดับโลก มีความพยายามผลักดันให้มีแพ็กเกจพื้นฐานของบริการโทรศัพท์มือถือที่เปิดให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในส่วนของเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลพื้นฐานทั่วไปหรือแอปพลิเคชันพื้นฐานบางตัว ได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์วิกิพีเดีย เว็บไซต์พยากรณ์อากาศ เฟซบุ๊ก หรือไลน์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการทั่วไปได้ทดลองใช้และเข้าถึงโลกออนไลน์ ซึ่งเมื่อเกิดความคุ้นเคยและเล็งเห็นถึงประโยชน์แล้วก็จะเกิดแรงจูงใจในการเปิดใช้บริการอย่างจริงจังต่อไป อีกทั้งแนวทางนี้ก็จะช่วยนำพาผู้คนเข้าสู่บริการ 3G เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีของโลกปัจจุบัน ดังนั้นจึงอยากเห็นการริเริ่มลักษณะนี้จากวงการอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทย ในการนำเสนอบริการฟรีในการเข้าถึงแอปพลิเคชั่นสำหรับการสนทนา ซึ่งหากเป็นกรณีเช่นนี้ก็จะช่วยเรื่องการสื่อสารของคนหูหนวก-หูตึงได้โดยปริยาย ส่วนกรณีแพ็กเกจสำหรับคนหูหนวก-หูตึงนั้น เห็นด้วยว่าทิศทางหลักอยู่ที่ส่งเสริมการใช้ 3G มากขึ้น แต่ก็ต้องเข้าใจว่า SMS ยังเป็นบริการพื้นฐานที่จำเป็น ซึ่ง 3G ก็มี SMS ได้อยู่แล้ว นอกจากนั้นสำหรับคนหูตึงก็ยังคงต้องการบริการด้านเสียงด้วย
“อยากให้ผู้ประกอบการมองว่านี่เป็นบริการเพื่อสังคมแบบหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องของการทำธุรกิจ และมองว่าเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับคนด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงการสื่อสารได้มากขึ้น” นพ. ประวิทย์กล่าว
ส่วนทางด้านผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เข้าร่วมการประชุม ทั้งจากค่าย AIS DTAC TRUE ตลอดจน TOT ต่างก็รับหลักการในเบื้องต้นที่จะพิจารณานำเสนอแพ็กเกจที่เหมาะสมสำหรับคนหูหนวก-หูตึงต่อไป รวมทั้งพิจารณาถึงความเป็นไปได้เรื่องการสนับสนุนเครื่องอุปกรณ์และบริการเข้าถึงข้อมูลออนไลน์พื้นฐานฟรีด้วย