Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษาไทย จัด 9 เวที ระดมข้อเสนอปฏิรูป

$
0
0

 

5 มี.ค.2557  สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา แถลงเตรียมจัดเวทีสมัชชาพื่อการขับเคลื่อนการศึกษา โดยมีกำหนดจัด 9 เวที ระดมความเห็น 9 เครือข่าย เพื่อให้เกิดเวทีพูดคุยของเครือข่ายผู้จัดการศึกษาและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษา โดย 9 เครือข่ายประกอบด้วย กลุ่มโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองท้องถิ่น กลุ่มโรงเรียน/วิทยาลัย ที่จัดโดยภาคธุรกิจเอกชน กลุ่มครอบครัว/เครือข่ายผู้ปกครอง กลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัด สพฐ. กลุ่มเครือข่ายการศึกษาทางเลือก กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มนักบริหารและนักวิชาการด้านการศึกษา กลุ่มเครือข่ายโรงเรียนเอกชน และกลุ่มสื่อที่สนใจด้านการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน

รายละเอียดแถลงการณ์มีดังนี้

 

แถลงการณ์ เวทีสมัชชาเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา : การศึกษาทางเลือก

 

การศึกษาไทยเป็นระบบเผด็จการทางการศึกษา เป็นการศึกษาที่ผูกขาดจากส่วนกลาง ด้วยการบังคับให้เรียนตามมาตรฐานเดียว/ หลักสูตรเดียวจากกรุงเทพฯ ที่ส่งผลทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ทั้งปัญหาการจัดสรรงบประมาณการศึกษา ทั้งๆ ที่ประเทศไทยใช้งบประมาณด้านการศึกษามากที่สุดของงบประมาณแผ่นดิน แต่กลับมีงบพัฒนาเด็กเพียง ๑๐% เท่านั้น และงบประมาณดังกล่าวก็ไม่อาจเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม เพราะการจัดสรรงบประมาณรายหัวเด็กนั้นไม่สมดุลกับสภาพความเป็นจริง ซึ่งต้นทุนของเด็กแต่ละคนต่างกันตามสภาพพื้นที่ แต่ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนขนาดใด (โรงเรียนด้อยโอกาส เล็ก กลาง ใหญ่) กลับได้รับงบประมาณอุดหนุนรายหัวเด็กเท่ากัน ดังนั้นโรงเรียนที่ด้อยโอกาสอยู่แล้วจึงไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะพัฒนาโรงเรียน ไหนจะขาดครู ขาดอุปกรณ์การเรียนการสอน จนนำไปสู่การเกิดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพและศักยภาพทางการศึกษาตามมา

ขณะเดียวกัน ระบบการศึกษายังเป็นการศึกษาที่ผูกอยู่กับระบบโรงเรียน ผูกติดอยู่กับมาตรฐานกลาง หลักสูตรแกนกลางเป็นหลักจนไม่สามารถสร้างการเรียนรู้เพื่อให้เด็กค้นเจอศักยภาพ ค้นเจอตนเอง อีกทั้งยังละเลย/เพิกเฉยไม่ให้ความสำคัญกับองค์ความรู้ท้องถิ่นที่มีความแตกต่างหลากหลาย ไม่เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นและรากเหง้า อัตลักษณ์ของชุมชน ขาดการเปิดรับการมีส่วนร่วมของสังคมทำให้ชีวิตวัยเรียนเป็นชีวิตในห้องเรียนเป็นหลัก พรากเด็กออกจากวิถีของถิ่นฐานและรากเหง้าจนไม่สามารถเชื่อมโยงตนเองสู่ชีวิตจริงที่มีครอบครัว ชุมชนและสังคมแวดล้อมได้

การศึกษาเช่นนี้ ได้บีบให้เด็กเข้าสู่พื้นที่การแข่งขันที่ไม่มีทางเลือก จึงไม่แปลกที่เด็กและเยาวชนที่อยู่ในระบบการศึกษา หลายคนมีชีวิตอยู่กับการเรียนอย่างหนัก ทั้งเรียนในโรงเรียน เรียนพิเศษกวดวิชา หลายคนขาดทักษะในการใช้ชีวิต ขาดความมีชีวิตชีวาในการเรียนรู้ เบื่อโรงเรียน เบื่อห้องเรียน และหลายคนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา แขวนชีวิตไว้กับความเสี่ยง

ทั้งๆ ที่หัวใจของการศึกษาที่แท้นั้น คือ การเรียนรู้เพื่อค้นพบตนเอง เรียนในเรื่องที่อยากจะเรียน เรียนแล้วมีความสุข เรียนแล้วเอามาปรับใช้กับชีวิตและสังคมได้ โดยเป็นการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความหลากหลายทั้งอัตลักษณ์ ความเป็นชาติพันธุ์ และวิถีวัฒนธรรม เห็นคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น มีการสืบสานภูมิปัญญา/องค์ความรู้ เชื่อมร้อยความสัมพันธ์ของเด็กและชุมชน ลดต้นทุนการนำเข้าทรัพยากรการเรียนรู้จากภายนอกด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมให้ทุกภาคส่วนในท้องถิ่นเข้ามาร่วมกันจัดการศึกษา

การศึกษาทางเลือก จึงเป็นสิทธิในการเลือกการศึกษาที่เชื่อในความหลากหลายของผู้คน ทั้งความคิด ความเชื่อ ตัวตน และอัตลักษณ์ อันเป็นแนวทางการศึกษาที่นำไปสู่การพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่มีความพร้อมทั้งกาย ใจ จิต ปัญญา...เด็กจึงมีเสรีภาพ มีโอกาสในการเลือกการศึกษาที่แต่ละคนชอบ มีเสรีภาพ และอิสระในการเรียนรู้ อิสระในการงอกงามแตกต่างกันไป

ถึงเวลาแล้ว ที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ต้องทำให้การศึกษาเป็นของคนทั้งมวล อย่าปล่อยให้การศึกษาถูกผูกขาดอยู่ที่ใดที่หนึ่ง อย่าปล่อยให้การศึกษาเป็นเรื่องของกระทรวงศึกษาธิการฝ่ายเดียวอีกต่อไป

โดยกำหนดเป้าหมายใหม่ของการศึกษาให้มุ่งเน้นการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์และสมรรถนะสำคัญ คือ การคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น เรียนรู้ด้วยตนเองเป็น มีทักษะการเข้าใจตนเอง ทักษะการพึ่งตนเอง ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นบนฐานการเรียนรู้ร่วมกับครอบครัวและชุมชน มีความรักและเข้าใจในชุมชนท้องถิ่น และมีกระบวนการในการสืบสานองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น

มีการคืนสิทธิ กระจายอำนาจ หน้าที่ และงบประมาณอย่างเหมาะสม เพียงพอในการจัดการศึกษาให้กับชุมชน/ท้องถิ่น /ผู้จัดการศึกษาและองค์กรที่จัดการศึกษาโดยตรงอย่างต่อเนื่องบนฐานการจัดการเรียนรู้แบบเฉพาะกลุ่ม เฉพาะพื้นที่ โดยมีหลักเกณฑ์ในการจัดสรรงบประมาณที่ชัดเจนและมีผู้รับผิดชอบในการจัดการ

ภาครัฐปรับบทบาทเป็นผู้สนับสนุนทำหน้าที่กำกับด้านนโยบาย และการติดตามผล แทนที่การผูกขาดการกำกับการจัดการศึกษาเสียเองเป็นส่วนใหญ่ ลดการกำหนดโครงการจากส่วนกลางให้พื้นที่ทำตาม เป็นการเปิดโอกาสให้พื้นที่เป็นผู้จัดการศึกษาอย่างอิสระ สถานศึกษาเป็นนิติบุคคล มีการจัดสรรงบประมาณให้พื้นที่ดำเนินการตามบริบทและความต้องการที่แตกต่างกัน และควรมีคณะกรรมการการศึกษาเพื่อชุมชนท้องถิ่น/ สภาการศึกษาชุมชนขึ้นมาเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในระดับที่มีการจัดการศึกษา

รวมทั้งมีการสร้างความรู้ ความเข้าใจถึงสิทธิทางการศึกษาที่เป็นสิทธิธรรมชาติที่ทุกคนพึงมี พึงเลือกการศึกษาที่สอดคล้องกับความชอบ ศักยภาพ

และด้วยความเชื่อมั่นเช่นนี้ทำให้เกิดเวทีพูดคุยของเครือข่ายผู้จัดการศึกษาและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษา 9เครือข่าย อันประกอบด้วย กลุ่มโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองท้องถิ่น กลุ่มโรงเรียน/วิทยาลัย ที่จัดโดยภาคธุรกิจเอกชน กลุ่มครอบครัว/เครือข่ายผู้ปกครอง กลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัด สพฐ. กลุ่มเครือข่ายการศึกษาทางเลือก กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มนักบริหารและนักวิชาการด้านการศึกษา กลุ่มเครือข่ายโรงเรียนเอกชน และกลุ่มสื่อที่สนใจด้านการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน จนเกิดการเชื่อมร้อยถักทอเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ภายใต้ชื่อ สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา โดยจะมีการจัดเวทีระดมความเห็นเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ 9 เครือข่าย 9 เวทีเพื่อระดมข้อเสนอปฏิรูปการศึกษา ที่มีกำหนดการ ดังนี้

กำหนดการจัดเวทีสมัชชาเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา

 

กลุ่ม

วันที่จัด

สถานที่

๑.กลุ่มโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองท้องถิ่น/เครือข่ายอปท.

๒๙ มีนาคม

โรงแรมเอบีน่า เฮ้าส์ กรุงเทพฯ

๒.กลุ่มโรงเรียน/วิทยาลัย ที่จัดโดยภาคธุรกิจเอกชน

๒ เมษายน

โรงแรมเอบีน่า เฮ้าส์ กรุงเทพฯ

๓.กลุ่มเครือข่ายพ่อแม่ ผู้ปกครอง

๙ มีนาคม

โรงแรมอมารี ดอนเมือง

๔.โรงเรียนขนาดเล็กสังกัด สพฐ.

๑๔ มีนาคม

สันติบาตสหกรณ์ เขตดุสิต กรุงเทพฯ

๕. เครือข่ายการศึกษาทางเลือก

๔ มีนาคม

โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ

๖. กลุ่มเด็กและเยาวชน

๓ เมษายน

โรงแรมแก้วเจ้าจอม มหาวิทยาลัย
ราชภัฎสวนสุนันทา กรุงเทพฯ

๗. ที่ประชุมคณบดีคณะศึกษาศาสตร์

๒๕ มีนาคม

มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก

๘.กลุ่มเครือข่ายโรงเรียนเอกชน

 

อยู่ระหว่างกำหนดวัน

๙.กลุ่มสื่อมวลชนที่สนใจงานด้านเด็กและเยาวชน

 

อยู่ระหว่างประสานงาน

๑๐. เวทีสมัชชาใหญ่นำเสนอข้อเสนอทั้ง ๙ เวที

๒๔ เมษายน

โรงแรมเอบีน่า เฮ้าส์ กรุงเทพฯ

 

สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนอย่างมีส่วนร่วมนี้จะนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา สร้างการศึกษา การเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เกิดขึ้นและเป็นจริง

“คืนการศึกษาให้ประชาชน ให้สังคมปฏิรูปการศึกษา”

 

  สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษาไทย

https://www.facebook.com/EducationReformAssemblyTH

 

๑.กลุ่มโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองท้องถิ่น

๒.กลุ่มโรงเรียน/วิทยาลัย ที่จัดโดยภาคธุรกิจเอกชน

๓.กลุ่มครอบครัว/เครือข่ายผู้ปกครอง

๔.กลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัด สพฐ.

๕.กลุ่มเครือข่ายการศึกษาทางเลือก

๖.กลุ่มเด็กและเยาวชน

๗.กลุ่มนักบริหารและนักวิชาการด้านการศึกษา

๘.กลุ่มเครือข่ายโรงเรียนเอกชน

๙.กลุ่มสื่อที่สนใจด้านการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน

 

๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles