เหตุการณ์ที่รัสเซียส่งกองทัพเข้าไปในเขตอธิปไตยของยูเครน กลายเป็นความขัดแย้งระดับนานาชาติที่ทั่วโลกจับตามองในขณะนี้ รานงานชิ้นนี้มุ่งให้ความรู้ความเข้าใจด้านประวัติศาสตร์และบริบทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ไครเมีย ที่กลายเป็นปัญหาระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตก
4 มี.ค. 2557 สถานการณ์ในไครเมีย ประเทศยูเครน มีการเคลื่อนไหวอย่างฉับพลันทันด่วนในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา โดยหลังจากเกิดการโค่นล้มประธานาธิบดีวิคเตอร์ ยานูโควิช ของยูเครน จนกระทั่งกองทัพรัสเซียได้เข้าไปยึดอาคารสำคัญเขตปกครองตนเองไครเมีย ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลรักษาการของยูเครนบอกว่าการกระทำของรัสเซียถือเป็นการรุกราน
ในขณะที่เหตุการณ์กำลังดำเนินอยู่ในตอนนี้ก็กลายเป็นที่จับตาของทั่วโลก มีการวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่างๆ เช่น ดิมิทรี เทรนิน จากศูนย์คาร์เนกี้มอสโกว ผู้เขียนบทความให้กับเดอะการ์เดียน ประเมินว่า วิกฤตการณ์ในไครเมียรอบล่าสุดอาจทำให้เกิดสงครามเย็นรอบใหม่ได้
บริบททางประวัติศาสตร์ของไครเมีย
อย่างไรก็ตามมีสำนักข่าวบางแห่งได้ให้ความรู้เกี่ยวกับไครเมียและบริบทพื้นฐานของเหตุการณ์ เช่น สำนักข่าวโกลบอลโพสต์ได้กล่าวถึงสาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมีย ว่าเป็นดินแดนที่มีส่วนผูกโยงกับรัสเซียในเชิงประวัติศาสตร์และการเมือง
ทางด้านประชากรศาสตร์ ไครเมียมีประชากรอยู่ราว 2 ล้านคน ร้อยละ 58 เป็นผู้มีเชื้อสายรัสเซียซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของพื้นที่ ร้อยละ 24 เป็นผู้มีเชื้อสายยูเครนอาศัยอยู่ทางตอนเหนือ และร้อยละ 12 เป็นชาวมุสลิมเชื้อสายตาตาร์อยู่ในแถบตอนกลาง
ทางด้านบีบีซีระบุว่า รัสเซียมีอิทธิพลเหนือพื้นที่ไครเมียเป็นส่วนใหญ่ตลอดช่วง 200 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการผนวกรวมดินแดนโดยจักรวรรดิรัสเซียในปี 2336 จนกระทั่งในปี 2507 ไครเมียก็ถูกโอนให้เป็นของยูเครนซึ่งในตอนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ซึ่งเหตุการณ์นี้ผู้มีเชื้อสายรัสเซียบางคนมองว่าเป็น "ความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์"คนในพื้นที่นี้ลงคะแนนเสียงให้กับวิคเตอร์ ยานูโควิช จำนวนมากในการเลือกตั้งปี 2553 และหลายคนคิดว่ายานูโควิชเป็นเหยื่อของการรัฐประหารอย่างผิดกฎหมายในเหตุการณ์ล่าสุดนี้
การประท้วงที่ถูกเรียกว่ายูโรไมดาน (Euromaidan) เกิดขึ้นจากความไม่พอใจหลังจากรัฐบาลยูเครนเลิกการเตรียมการเซ็นสัญญาความร่วมมือกับสหภาพยุโรป ซึ่งถูกมองว่าเป็นเพราะเกรงอิทธิพลของรัสเซีย
การประท้วงดำเนินมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วจนถึงช่วงวันที่ 18-22 ก.พ. 2557 ก็เกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นตั้งแต่การปะทะกันอย่างหนักระหว่างผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่จนมีผู้เสียชีวิต 82 คน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างก็มีอาวุธ และหลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์แปรพักตร์หรือหลบหนีของสมาชิกพรรคการเมืองของยานูโควิชจนทำให้ฝ่ายค้านสามารถเปิดประชุมสภาและสั่งถอดถอนยานูโควิชด้วยคะแนนเสียง 328 ต่อ 0 และให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 25 พ.ค. ส่วนตัวยานูโควิชเองหลบหนีไป
สถานะทางกฎหมายของไครเมีย
สภานะทางกฎหมายของไครเมียในปัจจุบันอยู่ในสถานะกึ่งปกครองตนเองซึ่งหมายความว่าไครเมียสามารถเลือกตั้งสภาภูมิภาคของตนและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในเมืองหลวงซิมเฟอโรปอล
โดยในวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา สภาของไครเมียก็ได้แต่งตั้งผู้นำฝ่ายสนับสนุนรัสเซียขึ้นมาอย่างไม่เป็นทางการคือเซอกี อักเซนอฟ ในช่วงประชุมสภา ขณะเดียวกับที่กลุ่มติดอาวุธยึดครองอาคารเอาไว้ ไครเมียไม่มีอำนาจในการดำเนินการด้านการต่างประเทศ แต่อักเซนอฟก็ประกาศว่าตัวเขาเป็นผู้นำเหล่าทัพและตำรวจทั้งหมดในไครเมีย รวมถึงเรียกร้องให้รัสเซียช่วยคืนความสงบเรียบร้อยให้กับภูมิภาค
ในวันที่ 1 มี.ค. สภารัสเซียก็สั่งการให้มีปฏิบัติการแทรกแซงโดยทหารในยูเครนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของรัสเซีย ทำให้ประชาคมโลกพากันประณามการกระทำในครั้งนี้ ส่วนรักษาการประธานาธิบดียูเครน โอเลกซานเดอร์ เทอชินอฟ กล่าวอ้างว่าการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีประจำไครเมียเป็นเรื่องผิดหลักรัฐธรรมนูญ
โกลบอลโพสต์ระบุว่าวิกฤติยูโรไมดานทำให้มีการพูดถึงการแยกตัวของไครเมียจากยูเครน แต่การแยกตัวของไครเมียอาจจะเป็นการโดดเดี่ยวตัวเองทางเศรษฐกิจ ขณะที่ทำให้ฝ่ายต่อต้านรัสเซียในยูเครนกล้าแข็งขึ้น ไมเคิล ฮิคาริ เซซิเร เขียนไว้ในยูราเซียเน็ทว่า "เมื่อมองในภาพใหญ่แล้ว การเล่นเกมในเชิงภูมิศาสตร์การเมืองของรัสเซียไม่ใช่เพื่อต้องการแยกไครเมียออกมา แต่เพื่อต้องการให้ยูเครนทั้งหมดกลับไปอยู่ในระบอบเครือข่ายของรัสเซียทั้งหมด
เมืองซิมเฟอโรปอล และเซวาสโทปอล
สถานการณ์ในซิมเฟอโรปอล เมืองหลวงของไครเมียถูกยกระดับอย่างรวดเร็วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจากการยึดครองสถานที่ต่างๆ ของกลุ่มติดอาวุธ เช่น อาคารรัฐสภา อาคารหน่วยราชการ และสนามบิน รวมถึงมีการปิดถนนไปสู่เมืองหลวง โดยก่อนหน้านี้ซิมเฟอโรปอลเป็นสถานที่ซึ่งมักจะมีการประท้วงของกลุ่มสนับสนุนรัสเซียและกลุ่มสนับสนุนยูเครน
ในวันที่ 2 มี.ค. รัสเซียก็ส่งกองทัพจากเซวาสโทปอลไปยังซิมเฟอโรปอล มีการเข้าล้อมฐานทัพทหารอย่างน้อย 2 แห่งในไครเมีย โดยเมืองเซวาสโทปอลเป็นเมืองท่าของไครเมียที่มีฐานทัพเรือสำคัญของรัสเซียตั้งอยู่ เป็นที่ตั้งของกองเรือรบทะเลดำ (Black Sea Fleet) ที่มีบทบาททำให้รัสเซียมีอิทธิพลต่อแถบทะเลดำ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนฝั่งตะวันออก คาบสมุทรบอลข่าน และตะวันออกกลาง ขณะเดียวกันเซวาสโทปอลก็ยังเป็นที่ตั้งฐานทัพเรือของยูเครนที่มีกองกำลังเรือรบ 10 ลำ
เมื่อไม่นานมานี้ เดนิส เบเรซอฟสกี ผู้นำกองทัพเรือของยูเครนที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งถูกตั้งข้อหากบฏต่อชาติหลังจากยอมให้กองกำลังสนับสนุนรัสเซียเข้ายึดศูนย์บัญชาการกองทัพเรือ ส่วนสภาเมืองเซวาสโทปอลก็เพิ่งแต่งตั้งนายกเทศมนตรีใหม่เป็นคนชาวรัสเซียชื่อเลกซี ชาลีย์ และหัวหน้าหน่วยงานตำรวจในเมืองก็บอกว่าเขาจะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจากรัฐบาลกลางในกรุงเคียฟ
บีบีซีระบุว่าตามหลักการแล้วการเคลื่อนไหวของกองทัพทางการรัสเซียภายนอกฐานทัพของเมืองเซวาสโทปอลต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลยูเครนก่อน อย่างไรก็ตามทางฝ่ายรัสเซียอ้างว่าพวกเขาต้องคุ้มกันความปลอดภัยของคนเชื้อสายรัสเซียในพื้นที่ของยูเครน ในกฎหมายของรัสเซียระบุว่าพวกเขาสามารถปฏิบัติการทางทหารนอกประเทศได้หากเป็นการ "คุ้มครองพลเมืองชาวรัสเซีย"
วิกฤติไครเมียจะทำให้เกิดสงครามหรือไม่
ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียได้รับอนุมัติจากสภาให้สามารถวางกำลังทหารไม่เพียงแต่ในไครเมีย แต่กับยูเครนทั้งหมดได้ เรื่องนี้ยากจะหลีกเลี่ยงการนองเลือดเนื่องจากจะทำให้กลุ่มชาตินิยมทางตะวันตกของยูเครนไม่พอใจ และอาจจะมีการตอบโต้จากต่างชาติ
บีบีซีระบุว่าแม้องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้อาจจะไม่ได้โต้ตอบด้วยกำลังทหาร แต่สมาชิกประเทศยุโรปกลางอาจส่งกองกำลังเข้าไปประจำการที่ชายแดนระหว่างโปแลนด์กับยูเครน ส่วนชาติตะวันตกอาจจะใช้วิธีการคว่ำบาตร แต่ปูตินก็คงเชื่อว่าพวกเขาคงทำเช่นนี้ไม่ได้นานเช่นเดียวกับกรณีที่เกิดในสงครามจอร์เจียปี 2551
สงครามจอร์เจียเกิดขึ้นจากการที่รัสเซียส่งกองทัพเข้าไปในภูมิภาคออสเซเตียใต้อ้างว่าเพื่อต้องการคุ้มครองคนพูดภาษารัสเซียในพื้นที่ ซึ่งทางนาโต้ก็ไม่ได้เข้าแทรกแซง แต่บีบีซีก็ระบุว่าไครเมียใหญ่กว่าออสเซเตียใต้และประชากรก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันมากกว่าออสเซเตียใต้ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนรัสเซีย
ก่อนหน้านี้ไครเมียก็เคยมีประวัติศาสตร์สงครามสู้รบสับเปลี่ยนแย่งชิงดินแดนอยู่หลายครั้ง สงครามที่คนมักจะรู้จักคือช่วงปี 2396 - 2399 ที่มาจากความทะเยอทะยานของลัทธิจักรวรรดินิยม ในตอนนั้นอังกฤษและฝรั่งเศสสงสัยว่ารัสเซียอาจจะมีความอยากครอบครองคาบสมุทรบอลข่านหลังจากที่จักรวรรดิออตโตมันเสื่อมถอยลง พวกเขาจึงส่งกองทัพไปยังไครเมียเพื่อแย่งคืนมาจากรัสเซีย ในครั้งนั้นรัสเซียเป็นฝ่ายพ่ายแพ้
ทางด้านโกลบอลโพสต์กล่าวถึงกรณีของนาโต้ว่า แม้ว่าจะมีการประชุมหารือเร่งด่วนและกล่าววิพากษ์วิจารณ์ถึงสถานการณ์ในยูเครนและมีการประณามว่ารัสเซียทำลายสันติภาพและละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ แต่ยูเครนก็ไม่ได้เป็นประเทศสมาชิกของนาโต้ทำให้สหรัฐฯ และยุโรปไม่มีพันธะในการแทรกแซงด้วยกองทัพ ทำให้นาโต้กล่าวเน้นย้ำถึงวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีทางการเมือง โดยสนับสนุนให้ทั้งสองฝ่ายใช้วิธีการเจรจา
นอกจากนี้รัสเซีย ยูเครน อังกฤษ และสหรัฐฯ ยังได้เคยทำบันทึกข้อตกลงด้านการประกันความมั่นคงบูดาเปส (Budapest Memorandum on Security Assurances) ในปี 2537 ซึ่งมีการให้ยูเครนยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ภายใต้สัญญาว่าจะเคารพในอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน นิตยสารฟอร์บส์ระบุว่า การบุกไครเมียของรัสเซียในครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณว่าข้อตกลงที่มีการลงนามในช่วงที่รัสเซียกำลังอ่อนแอในคริสต์ทศวรรษ 90 ถือเป็นโมฆะ
หรือจะเป็นสงครามเย็นครั้งที่ 2
ดิมิทรี เทรนิน จากองค์กรที่ศึกษาวิจัยทางสังคมหลังยุคสหภาพโซเวียตมองว่า วิกฤติไครเมียจะไม่จบลงง่ายๆ และจะไม่เหมือนกับสงคราม 5 วันในจอร์เจียปี 2551 ความขัดแย้งจะยาวนานและอาจจะรุนแรงกว่าเนื่องจากเรื่องความมั่นคงของยุโรปอยู่ในสภาวะเสี่ยงด้วย
เทรนินกล่าวอีกว่า วิกฤติในครั้งนี้จะทำให้ดุลอำนาจของโลกเปลี่ยนไปเนื่องจากรัสเซียเปิดฉากต่อสู้แย่งชิงอิทธิพลกับสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปอย่างเปิดเผยในพื้นที่ยุโรปตะวันออกใหม่ เรื่องนี้อาจจะทำให้เกิดสงครามเย็นครั้งที่สองจากการที่หลายๆ ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น ปัญหาการประสานงานภายในของยูเครน สภาพพิเศษของไครเมีย สภาพของคนชนชาติรัสเซียในรัฐที่เกิดใหม่หลังยุคสหภาพโซเวียต และปัญหาการรวมรัสเซียเข้ากับประชาคมยูโร-แอตแลนติก
"รัสเซียมีราคาที่ต้องจ่ายสูงมากในการตัดสินใจ 'ปกป้องของตนเอง'และ 'ทำให้เข้าที่เข้าทาง'เช่นนี้ แต่ประเทศอื่นก็คงมีส่วนที่ต้องสูญเสียด้วย"เทรนินกล่าว
เรียบเรียงจาก
The crisis in Crimea could lead the world into a second cold war, The Guardian, 02-03-2014
http://www.theguardian.com/commentisfree/2014/mar/02/crimea-crisis-russia-ukraine-cold-war
Why Crimea is so dangerous, BBC, 02-03-2014
http://www.bbc.com/news/world-europe-26367786
Your starter kit for understanding the chaos unfolding in Crimea, Globalpost, 03-03-2014
http://www.globalpost.com/dispatch/news/regions/europe/140303/starter-kit-guide-explainer-understand-crimea-ukraine-russia
http://en.wikipedia.org/wiki/Crimea
http://en.wikipedia.org/wiki/2014_Crimean_crisis