พร้อมมติจำหน่ายคำร้องสมาชิกภาพ ส.ส. 'อภิสิทธิ์'หลังกระทรวงกลาโหมมีคำสั่งปลดจากราชการทหาร ชี้ยุบสภาแล้วทำให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงจึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาต่อไป
5 ก.พ.2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่า ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมากไม่รับคำร้องที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ และคำร้องที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ขอให้วินิจฉัยว่าการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร จ.นนทบุรี อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี และ อ.บางพลี จ.สุมทรปราการ ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ขณะที่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 ก.พ. มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าตามคำร้องอ้างว่า นายกฯ และ ครม. ได้กระทำการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ออกคำสั่งแต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงานฯ อันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมายและระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น กรณีตามคำร้องยังไม่มีมูลที่จะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่ง
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติสั่งจำหน่ายคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ขอให้วินิจฉัยให้สมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 (5) ประกอบมาตรา 102(6) เนื่องจากกระทรวงกลาโหมมีคำสั่งปลดออกจากราชการทหาร เนื่องจากเห็นว่ามีพระราชกฤษฎีกายุบสภาตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. ทำให้สมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106(1) แล้วจึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาคดีนี้ต่อไป
และที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับคำร้องที่นายสิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย ยื่นขอให้สั่งให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. และกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ยุติการชุมนุม ยุติบุกยึดสถานที่ราชการ เพราะเข้าข่ายเป็นการกระทำล้มล้างการปกครองและกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศไทย ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 โดยศาลเห็นว่าการชุมนุมเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ มีเหตุผลสืบเนื่องมาจากการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และมาจากความไม่ไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ส่วนการกระทำของ กปปส. และ คปท. จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่น ๆ ก็เป็นเรื่องที่ผู้รับผิดชอบในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย จึงไม่มีมูลกรณีที่จะเป็นการล้มล้างการปกครอง หรือเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ