28 ม.ค. 2557 กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่า ที่โรงแรมสุโกศล เครือข่ายผู้รับใช้การปฏิรูปประเทศโดยสันติของประชาชนไทย ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลที่มีชื่อเสียงทางสังคม ทั้งจากภาคธุรกิจ วิชาการ ประชาสังคม จำนวน 217 คน อาทิ นายธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์ ม.ธรรมศาสตร์, นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีต ส.ว. กทม., นายสมเกียรติ อ่อนวิมล อดีต ส.ว.สุพรรณบุรี ได้จัดแถลงข่าว "Restart ประเทศไทย"เพื่อสะท้อนความเห็นว่าประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤติรอบด้าน ทั้งการเมืองการปกครอง ความเหลื่อมล้ำของสังคม ระบบการศึกษาที่อ่อนแอ องค์กรสื่อใช้เสรีภาพโดยขาดความรับผิดชอบต่อสังคม จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ภาคประชาชนต้องร่วมกันปฏิรูป
โดยเฉพาะประเด็นสำคัญ 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.การปฏิรูปปรับปรุงโครงสร้าง ระบบและกฎหมายที่จำเป็น เพื่อขจัดการคอร์รัปชั่น โกงกินบ้านเมือง 2.ปฏิรูปโครงสร้างการเมือง การปกครองและระบบบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ 3.ปฏิรูปโครงสร้างและกระบวนการยุติธรรม 4.ปฏิรูปโครงสร้างเพื่อป้องกันการผูกขาด สร้างธรรมาภิบาลเศรษฐกิจ และ 5. ปฏิรูปสังคมเพื่อเสริมสร้างพลังพลเมืองที่เข้มเข็ง โดยมีวัตถุประสงค์ เชื่อมโยงกลุ่มบุคคลที่มีจุดยืนในการปฏิรูปเข้าด้วยกัน และประคับประคองประเทศในระยะเปลี่ยนฝ่ายให้เป็นไปด้วยสันติ และเป็นเพียงผู้รับใช้การปฏิรูปประเทศ และสร้างเสริมเครือข่ายให้มากขึ้นตามภูมิภาคต่างๆ โดยไม่รอว่าต้องเลือกตั้งก่อนหรือไม่ โดยในวันที่ 31 ม.ค. จะมีการประชุมเครือข่ายจาก 77 จังหวัด เพื่อหารือถึงการจัดเวทีการพูดคุย ที่ จ.นครราชสีมา เชียงใหม่ หาดใหญ่ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
โดยนายสมเกียรติ กล่าวถึงการ Restart ประเทศไทยในมุมมองของสื่อมวลชนว่า สื่อมวลชนถือเป็นตัวแปรสำคัญในการปฏิรูปประเทศ และสื่อต้องรักษาอิสรภาพเสรีภาพในการค้นหาความจริง และทำงานควบคู่ไปกับกลุ่มเครือข่ายปฏิรูปประเทศ โดยยึดมั่นหลักวิชาชีพ อิสระและเสรีภาพของสื่อมวลชน นำเสนอรายงานข้อเท็จจริง เน้นการรับใช้ประชาชนเป็นสิ่งสำคัญและต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างเปิดกว้างเพื่อสะท้อนความต้องการของประชาชนออกมา
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ตัวแทนภาคธุรกิจ กล่าวว่า สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำ คนที่รวยที่สุดในสังคมเป็นกลุ่มชนชั้นที่บั่นทอนระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสามารถผลักดันและชี้นำรัฐบาลให้ออกกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มของตนได้และกีดกันชนชั้นอื่นๆ ออกไปจากเส้นทางผลประโยชน์ และหากกระทำผิดก็จะไม่ถูกดำเนินคดี และมีการกระซิบให้หนีออกนอกประเทศ และภาคธุรกิจส่วนใหญ่ จะไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองเพราะมีข้อบังคับไว้อยู่ แต่ตอนนี้รู้สึกว่าคิดผิด เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้การเมืองเอื้อให้กับนายทุน และมีความเกี่ยวข้องกันอย่างชัดเจน หากจะเริ่มต้นต้องเริ่มจากการปฏิรูปตัวเอง และเชิญชวนให้ภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมเนื่องจากภาคการเมืองอ่อนแอ จากแต่ก็จะไม่โทษมีส่วนชี้นำและบั่นทอนระบอบประชาธิปไตย โดยสามารถผลักดันให้ในนามภาคธุรกิจ เมื่อภาคก่อนเมืองอ่อนแอเนื่องจากมีเถ้าแก่ในแต่ละพรรค ดังนั้นภาคประชาชนต้องช่วยกันในการปฏิรูปประเทศ
ด้านนายโสภณ สุภาพงษ์ อดีตส.ว.กทม. กล่าวว่า นักการเมืองมีการเอาเปรียบคนจน โกงกินบ้านเมือง โดยจะเห็นได้จากดัชนีที่ต่างชาติประเมินประเทศไทยที่เลวร้ายไปเรื่อยๆ ทั้งการคอร์รัปชั่น การไม่ไว้วางใจการทำงานของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจ และปัจจุบันนักการเมืองก็มีการคดโกง ดังนั้นกฎหมายต้องมีการปฏิรูป และสังคมก็ต้องช่วยกันปกป้องข้าราชการที่ทำดี
ขณะที่ นายปราโมทย์ ไม้กลัด กล่าวว่า ระบบข้าราชการของประเทศไทยถูกแทรกแซงโดยนักการเมืองเป็นอย่างมาก ทำให้ข้าราชการไม่กล้าใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ และก่อนหน้านี้ มีการปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานราชการ แต่ก็ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาอย่างถูกจุด และส่วนตัวในฐานะที่เป็นข้าราชการเก่า การแก้ปัญหาโครงสร้างราชการนั้น ต้องป้องกันการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองให้ได้
จากนั้น นายธีรยุทธ ได้กล่าวว่า นักการเมืองไทยมีความโลภ และใช้อำนาจตามอำเภอใจอย่างไม่มีขีดจำกัด ซึ่งจะทำให้ประเทศพังพินาจ และจากการสังเกตการเมือง ตั้งแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาสู่อำนาจ โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ใช่ทั้งหมดของปัญหา แต่เป็นยอดสุดของปัญหา มีส่วนสำคัญในการทำให้โครงสร้างต่างๆ มีการพังทลายลงไป เช่น โครงสร้างระบบพรรคการเมือง โครงสร้างของอำนาจ 3 ฝ่าย รวมไปถึงระบบตรวจสอบของสื่อเสียศูนย์ไปมาก เพราะสมัย 14 ต.ค. สื่อมวลชนมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากที่ทำให้การต่อสู้ของนักศึกษาประสบความสำเร็จ แต่ตอนนี้จิตวิญญาณการตรวจสอบพังทลายไป รวมถึงโครงสร้างข้าราชการ กลุ่มธุรกิจ ก็ได้พังทลายลงไป และสุดท้ายคือโครงสร้างคุณธรรมจริยธรรม ที่มองว่ามีความเสียหายไปแล้วกว่าครึ่ง โดยจะเห็นได้จากการขู่อาฆาตกันโดยปราศจากความรู้สึก ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่าการที่กปปส. ระบุว่าต่อสู้กับการโกงกินของนักการเมือง เพื่อลูกหลาน ถือว่าฟังขึ้น
นายธีรยุทธ กล่าวด้วยว่า ได้เห็นการต่อสู้ของเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ตั้งแต่สมัยที่อยู่แยกอุรุพงษ์ มองว่าเป็นการต่อสู้เพื่อปฏิรูปประเทศที่มั่นคง ซึ่งถือเป็นความหวังและเป็นประเด็นที่ถูกต้องคล้ายกับเมื่อปี 2540 ถือเป็นความหวังของคนกรุงเทพฯทุกสาขาอาชีพจนมีการสนับสนุนผ่านการบริจาคอย่างมากมาย สะท้อนให้เห็นถึงอาการทนไม่ไหวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ไม่มีขีดจำกัด ตกผลึกเป็นความคิดในการปฏิรูปประเทศของภาคประชาชนที่ชัดเจนขึ้น เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด และปัจจุบันคนไทยเกาะกลุ่มกันเป็นกลุ่มย่อยแสวงหาผลประโยชน์ให้กับกลุ่มตัวเอง ทำให้เห็นว่าโครงสร้างของประเทศมีปัญหา จึงเป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกัน และปรากฏการณ์การออกมาชุมนุมของกปปส. ไม่ใช่กระแสที่ฉาบฉวย เพราะในบางพื้นที่ที่ประชาชนอยู่อย่างกินดีมีสุข ก็ออกมาสนับสนุนการเดินขบวนของ กปปส. หากใครที่เห็นด้วยกับการวิเคราะห์ของตนก็ขอให้ออกมาแสดงความกล้าเพราะอาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่ทำให้บ้านเมืองกับมาดีได้
นายธีรยุทธ กล่าวอีกว่า การรับฟังข่าวสารอย่างรอบด้าน ทบทวนข้อมูลและสร้างความเข้าใจที่ดีให้กับประชาชนในสังคม จะช่วยลดความขัดแย้งที่รุนแรงให้กับกลุ่ม ผู้ที่มีความเห็นแตกต่างทางการเมืองได้ ซึ่งในการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ ส่วนตัวมองว่า เป็นความต่างทางความคิดในระดับประชาชน คือ กลุ่มคนที่ต้องการรักษาสิทธิการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง กับกลุ่มคนที่ต้องการปฏิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้ง โดยมุ่งการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น เนื่องจากจากปัญหากระทบต่อสิทธิและการดำเนินชีวิต
นายธีรยุทธ กล่าวต่อว่า ความขัดแย้งเรื่องการเลือกตั้งว่าจำเป็นต้องเลื่อนออกไปหรือไม่นั้น เป็นความขัดแย้งทางความคิดที่ไม่ควรต้องสูญเสียเลือดเนื้อ เพราะกลุ่มหนึ่งต้องการเรียกร้องใช้สิทธิของตัวเอง แต่อีกกลุ่มเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น ซึ่งต่างมีสิทธิของตัวเองทั้งคู่ ทั้งนี้ตนเคารพทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งพวกจุดเทียนตนก็ชอบ ที่แสดงความรักในประชาธิปไตย ส่วนผู้ที่ออกมาชุมนุมให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งก็เห็นใจเพราะต่อสู้มานาน ทั้งนี้ตนเห็นด้วยกับทุกกลุ่ม แต่ไม่เห็นด้วยกับระบอบทักษิณ พร้อมระบุว่า ถ้าเจอหน้ากัน ก็พร้อมทำผิดกฎหมายแรงๆ กับพ.ต.ท.ทักษิณ
นอกจากนี้ ธีรยุทธ กล่าวด้วยว่า และการดูหมิ่นดูแคลนระหว่างคนจนคนรวยและคนที่ต่างภูมิภาคกันนั้น ก็ไม่ควรเกิดขึ้น ขอเรียกร้องไม่ให้นำประเด็นดังกล่าวไปขยายความ และประเทศของเราเกิดกระแสการปฏิรูปมาหลายครั้ง แต่ก็ถูกมองข้ามไปเพราะหลายคนคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องง่าย แต่ที่จริงแล้วทุกคนในสังคมต้องช่วยกัน ก่อนหน้านี้ เคยใช้คำว่า “สังคมเข้มเข็ง” นั้นตอนนี้ขอเปลี่ยนเป็น “สังคมเอาจริง” เพื่อช่วยกันปฏิรูปประเทศ ตรวจสอบการคอร์รัปชั่น กดดันนักการเมืองที่โกงกินในรูปแบบต่าง แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ